Wartime Leader

Peacetime CEO และ Wartime CEO… ยามศึกต้องนำรบ ยามสงบต้องนำเป็น #ExtremeLeader

ในหนังสือ The Hard Thing about Hard Things ของ Ben Horowitz ซึ่งถือเป็นหนึ่งในศาสดาของวงการ Startup ที่หมายถึง… ทุกอย่างที่เกี่ยว Ben Horowitz จะสามารถเอ่ยถึง และ ฟังเข้าใจกันทุกประเด็นเหมือนชาวคริสเตียนพูดถึงประเด็นบนคัมภีร์ไบเบิล หรือ ชาวพุทธพูดถึงตำนานต่างๆ ในพระไตรปิฎก… เพราะ Ben Horowitz เป็นนักลงทุนคนสำคัญในวงการ Startup ที่โลดแล่นอยู่ใน Silicon Valley กับกองทุน Andreessen Horowitz ที่หมายถึงการได้คุย และ ลงทุนกับ Startup มาแล้วจนจำไม่ไหว… ทั้งที่สำเร็จใหญ่โต และ ล้มหายตายไปมากมาย

ประเด็นหนึ่งที่ Ben Horowitz ใส่ไว้ในหนังสือ The Hard Thing About Hard Things ซึ่งรวบรวมเรื่องยากๆ หนักๆ เรื่องอีหลักอีเหลื่อ ที่ผู้นำองค์กร และ เจ้าของธุรกิจ… จะต้องตัดสินใจและดำเนินการ ในขณะที่ความคิดและจิตวิญญาณเจ็บปวดร่ำไห้กับสิ่งที่ได้ตัดสินใจ และ ต้องทำ… โดยเฉพาะคำแนะนำเรื่อง Peacetime CEO หรือ ผู้นำยามสงบ และ Wartime CEO หรือ ผู้นำยามสงคราม ที่บอกให้ผู้นำได้ตื่นรู้ และ ตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเหมาะสม… สวมหมวกให้ถูกใบ และ ต้องส่งสัญญาณถึงทีมอย่างเหมาะสม และ สอดคล้องกับสถานการณ์

คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ในฐานะ Founder and Group CEO ของ Bitkub Group ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักบริหารชั้นเซียน ซึ่งเป็นผู้นำด้าน Blockchain Technology และ Cryptocurrencies ที่คนในวงการคริปโต และ Startup เชื่อถือ… เมื่อครั้งที่แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตบิทคับถูกคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ก.ล.ต. มีมติสั่งการให้บริษัทดำเนินการแก้ไขการดำเนินงานจากเหตุการณ์ระบบล่มช่วงปลายเดือนมกราคมปี 2021 และ ลงโทษโดยให้หยุดรับนักลงทุนรายใหม่เพิ่มเติม จนกว่าจะแก้ไขรายการตามมติ ก.ล.ต. ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 2021… คุณท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา และ ทีมผู้บริหารได้ตอบรับคำสั่ง ก.ล.ต. และ เปลี่ยนหมวกไปเป็น Wartime CEO เพื่อใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มี ขับเคลื่อนกลยุทธ์ทุกรูปแบบที่สามารถตรงเข้าแก้ปัญหาเร่งด่วนได้… 

ทีมซีของบิทคับใช้เงินฉุกเฉินให้รางวัลพนักงานเก่าหลักหมื่นบาท เพียงแนะนำคนที่มีคุณสมบัติอย่างที่ต้องการ มาสมัครงานกับบิทคับเพิ่ม และ กล้าบรรจุให้ทำงานทันทีโดยไม่ต้องผ่านวัฒนธรรมการบรรจุพนักงานใหม่แต่อย่างใด… ว่ากันว่า การประชุมทีมซีในช่วงหนักๆ จะอยู่คุยกันไม่หลับไม่นอน โดยสื่อสาร สั่งการ และ ดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อคำสั่ง เทียบเท่าการสั่งการในภาวะสงครามของผู้นำกองทัพทีเดียว… นอกจากนั้น BitKub ยังเร่งลงทุนกับ Infrastructure ที่จำเป็นต่อการรองรับลูกค้าจำนวนมาก และ ขับเคลื่อนทุกการดำเนินการต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง… ในขณะที่ภาพลักษณ์และข่าวสารภายนอกก็กำลังบั่นทอนโอกาสของบิทคับลงเรื่อยๆ หากการแก้ไขสถานการณ์ยังไม่จบ… 

Ben Horowitz สรุปไว้ว่า… Peacetime CEO จะมองภาพรวมและให้อำนาจแก่ทีมในการตัดสินใจ และ ดำเนินการ ในขณะที่ Wartime CEO จะเอาเป็นเอาตายกับทุกอย่างจากทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งสำคัญ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยจุกจิก… 

Peacetime CEO จะขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อสร้างความสำเร็จล้ำเลิศ ในขณะที่ Wartime CEO จะเฝ้าระวัง และ หวาดระแวงสารพัด… 

และ Peacetime CEO มักจะทำทุกทางเพื่อลดความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอก ในขณะที่ Wartime CEO จะไม่ลังเลที่จะเพิ่มความขัดแย้งหากสิ่งนั้นแก้ปัญหาเร่งด่วนได้

ประเด็นก็คือ… คนส่วนใหญ่เป็น Peacetime CEO และ Wartime CEO สลับไปมาได้ยาก… กรณีของบิทคับ และ คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภาจึงค่อนข้างพิเศษในทัศนะของผม ถึงแม้ผมจะไม่มีรายละเอียดภายในบิทคับในช่วงวิกฤตนั้นมากพอที่จะเล่าได้มากกว่านี้ก็ตาม… การที่คนๆ หนึ่งสลับหมวกก็เปลี่ยนสไตล์การบริหารได้เหมือนที่คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภาทำจึงไม่ธรรมดา… 

เพราะแม้แต่กรณี Google ที่บริหารโดย Peacetime CEO อย่าง Eric Schmidt ผู้สามารถสร้างฐาน ขยายตลาดและเสริมความแข็งแกร่งให้ Google ซึ่ง Eric Schmidt จะเป็นคนเข้าสังคมเก่ง พูดเป็น ใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการสร้างเสริมทีมและองค์กร… แต่เมื่อ Google จะต้องเข้าสู่การแข่งขันทางเทคโนโลยีด้วยการสร้าง Products และ Services เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นมากกว่า Search Engine กับแพลตฟอร์มโฆษณาท่ามกลางการแข่งขันอย่างหนัก… บอร์ดบริหารของ Google ก็ดัน Larry Page ผู้มุ่งมั่น จริงจัง ทำงานหนัก และ ไม่ใส่ใจกับการเข้าสังคมเข้ามารับตำแหน่งแทน Eric Schmidt และ ทำงานแบบ Wartime CEO โดยเข้มงวดกับเป้าหมาย และ รายละเอียดจนสามารถผลักดันให้ Google สร้าง Android ชนกับ iOS ได้ถึงขั้น Steve Jobs ตายจากไปพร้อมความหวังว่าจะทำลาย Android ทั้งๆ ที่จำนวนคนใช้มือถือ Android ทั่วโลกเติบโตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน… ซึ่งผลงานจาก Waretime CEO อย่าง Larry Page ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ Google อีกมากมายทั้งที่อยู่ในชุด Google Apps และ เทคโนโลยีอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนอินเตอร์เน็ตอยู่เบื้องหลัง… โดยเฉพาะ Web Browser ทรงพลังอย่าง Google Chrome ที่ยืนยงและเติบโตจนเบียด Internet Explorer จาก MicroSoft ให้ต่ำต้อยและตายจากในที่สุด… ถึงแม้ Internet Explorer และ MicroSoft จะโบกมือลาตอนที่ Google ส่งมอบตำแหน่ง CEO ให้ Peacetime CEO ชื่อ Sundar Pichai ไปแล้วก็ตาม

ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… การนำองค์กร กับ การตัดสินใจขับเคลื่อนองค์กรในสภาวะต่างๆ มีความจำเป็นจะต้อง “ปรับท่าที และ บทบาท” ให้เข้ากับสถานการณ์ หรือไม่ ก็ต้องเปลี่ยนคนนำไปเป็นผู้มีท่าทีและบทบาทที่เหมาะสมต่อสถานการณ์… 

ซึ่งการเป็นคนดีคนเดิมในยามที่องค์กรจะต้องแข่งขัน ไม่ว่าจะแข่งขันเพื่อชนะ หรือ แข่งขันเพื่ออยู่รอด… ท่าทีและบทบาทของผู้นำต้องพร้อมที่จะชนะ หรือ อย่างน้อยต้องเชื่อมั่นได้ว่าจะรอด… 

แต่ถ้าสถานการณ์อยู่ในภาวะขับเคลื่อนเข้าหาเป้าหมายได้สุดกำลัง “โดยชัดเจนแล้วว่าไม่มีปัจจัยภายนอกเสียดทานขัดขวางการพุ่งเข้าใส่เป้าหมายได้แล้ว” ท่าทีและบทบาทของผู้นำก็ไม่จำเป็นจะต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเฝ้าระวัง และ ตื่นตัวด้วยความหวาดระแวง ซึ่งท้ายที่สุดจะกลายเป็น “คำสั่งใส่รายละเอียด” ไปสร้างความขัดแย้ง และ ลดทอนพลังสูงสุดในการขับเคลื่อนเข้าหาเป้าหมายมากกว่า

ประมาณนั้นครับ!!!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts