แต่ไหนแต่ไรมา ตำราการสอนหรือวิชาครู จะอ้างอิงแนวคิดและทฤษฎีการศึกษาที่เรียกว่า Pedagogy ซึ่งก็คือรูปแบบการสอนโดยมีครูเป็นศูนย์กลาง ถ่ายทอดความรู้ทักษะและประสบการณ์ที่ครูมี ให้กับผู้เรียนหรือนักเรียน… หลักสูตรการพัฒนาครูทั่วโลก รวมทั้งหลักสูตรการพัฒนาครูในประเทศไทย มักจะเรียกวิชา Pedagogy ในอีกชื่อหนึ่งว่า วิชาครู หรือ หลักการสอน
Pedagogy ถือเป็นปรัชญาการศึกษาสุดยิ่งใหญ่ ที่สามารถสร้างมนุษยชาติขึ้นมาจากสิ่งมีชิวิตในระนาบเดียวกับสัตว์โลก ให้กลายเป็นเผ่าพันธ์ผู้ครอบครองดวงดาว ด้วยการถ่ายทอดความรู้จากหนึ่งเป็นอนันต์… ซึ่งครูและผู้สำเร็จวิชาครู รวมทั้งผู้ที่ทำหน้าที่ครูมาทุกยุคทุกสมัยจึงสำคัญและยิ่งใหญ่ แม้ในวันที่โลกมีทางเลือกการเรียนรู้และส่งเสริมทักษะสติปัญญามากมายหลายช่องทางและรูปแบบ… แต่ทั้งหมดไม่ได้ทำให้ “คุณค่าของครู” ถูกลดค่าและความสำคัญลงเลย และดูเหมือนจะ “สำคัญมากขึ้นอย่างมาก” ด้วยซ้ำ ในวันที่ประชากรโลกต้องใช้ชีวิตอยู่ไปเรียนรู้ไปอย่างยาวนาน หรือ Lifelong Learning อย่างในปัจุบัน
ปัญหาเดียวที่ปรัชญาการศึกษาแบบ Pedagogy อันมีครูเป็นศูนย์กลางถูกท้าทายมาทุกยุคทุกสมัยก็คือ… องค์ความรู้ที่ครูหนึ่งคนถือไว้เพื่อสอนให้ลูกศิษย์และผู้เรียนจำนวนมาก ซึ่งมีจำกัดจนไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทำให้รูปแบบการสอนโดยครูเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเคยสำคัญจนได้เวลาและโอกาสในการพัฒนาตนของผู้เรียนไปเกือบทั้งหมด… จำเป็นต้องคืน “เวลาและโอกาส” กลับไปให้ผู้เรียนได้เหลือทางเลือกอื่นๆ ในการเรียนรู้และพัฒนาตน… ซึ่งก็คือครูคนอื่นๆ ที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์อื่นๆ แตกต่างออกไป
เมื่อ 400 ร้อยปีก่อนคริสตกาล… Socrates หรือ โสเครติส ได้ท้าทายแนวทางการศึกษาแบบ Pedagogy ซึ่งมีตำแหน่งราชครูเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนให้ยุวกษัตริย์และบุตรหลานขุนนาง ด้วยการนำ Socratic Method มาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาความรู้ให้ตนเอง มิตรสหายและผู้ติดตามหรือศิษย์
Socratic Method เป็นการเรียนการสอนแบบถามตอบและสนทนา ซึ่งก็เป็นแนวทางที่มีการใช้อย่างหลากหลาย แม้แต่พุทธมหาศาสดาหรือปรมาจารย์ขงจื๊อ หรือ Confucius… ก็นิยมการสอนโดยใช้บทสนทนาหรือการสนทนาธรรม โดยตอบคำถามผู้ไม่รู้และอยากรู้ให้ได้รู้
การสนทนาธรรม และ Socratic Method ไม่มีพิธีการก่อนหรือหลังเรียนให้ยุ่งยาก… แต่การเรียนรู้เกิดขึ้นจาก “ความสงสัย” และแสวงหาคำตอบจากคนหรือแหล่งที่ผู้อยากรู้เชื่อว่า “มีคำตอบให้ความสงสัยใคร่รู้ของตน”
บรรยากาศการเรียนรู้แบบ Socratic Method จึงไม่ต่างจากการพูดคุยถกเถียงในร้านกาแฟ ที่เปิดกว้างให้คนในที่นั้น… ได้ถาม ได้ตอบและได้เสนอความคิดเห็นไปจนถึงนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเปิดกว้าง ซึ่งเป็นแนวทางการถ่ายทอด “สิ่งที่รู้” ให้คนอื่น “จำและเข้าใจ” โดยไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดสิ่งที่รู้ผ่านรูปแบบการสั่งสอนเรียนรู้ในรูปแบบอื่นใดอีก
การจำและเข้าใจข้อมูลความรู้และข้อเท็จจริงจากคนรู้จัก จึงเป็นรูปแบบการเรียนรู้โดยธรรมชาติของมนุษย์ ที่สามารถซึมซับเอาจากคนรอบข้าง หรือ Peer บนความสัมพันธ์ใกล้ชิดระดับสายเลือด หรือ Blood Ties ไปจนถึงความสัมพันธ์ห่างไกล หรือ Weak Ties ที่เราอาจจะเพียงรู้จักเขาอยู่ฝ่ายเดียวเลยก็ได้
ปี 2012… Howard Rheingold นวัตกร นักเขียนและครูผู้มีประสบการณ์หลากหลาย พร้อมผลงานมากมายอันเป็นที่ประจักษ์ ทั้งเขียนหนังสือ ค้นคว้าวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการเป็นอาจารย์สมทบสอนมหาวิทยาลัยอย่าง Berkeley และ Stanford… ได้พัฒนาและเผยแพร่แนวคิดชื่อ Peeragogy จากประสบการณ์การสอนในมหาวิทยาลัยที่ Howard Rheingold พบเทคนิคการเรียนการสอนโดยไม่ต้องพิธีรีตองเหมือนกับการบรรยายในชั้นเรียน
Howard Rheingold ใช้การวิจัยในชั้นเรียนที่ UC Berkeley โดยยกชั้นเรียนไปใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวมทั้ง WikiPedia.org… WikiVersity.org และ Blackboard Collaborate Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม eLearning พร้อม Web Based Video Conference เก่าแก่ล้ำหน้าก่อนใครในโลกการศึกษาออนไลน์… เป็นทั้งเครื่องมือ หรือ Tools และทรัพยากร หรือ Resources ในการจัดการเรียนรู้
ประเด็นก็คือ เครื่องมือและทรัพยากรการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นแล้ว รวมทั้งข้อมูลความรู้ที่เกิดขึ้นแล้วบนแพลตฟอร์มเปิด และถูกบันทึกไว้ในรูปแบบใดก็ตาม ทั้งหมดได้กลายเป็น “ทรัพยากรทางการศึกษาโดยปริยาย” ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการคำตอบอย่างชัดเจน… เมื่อมีคนสนใจประเด็นหรือหัวข้อ และพบหรือเข้าถึงองค์ความรู้ที่เคยถูกถ่ายทอดไว้… การถ่ายทอดความรู้ซ้ำก็จะเกิดขึ้นอีกครั้งและอีกครั้งวนไป
สมมุติว่าผมแนะนำเพื่อนท่านหนึ่งเขียน BMC หรือ Business Model Canvas บนพันทิปดอทคอม… คนอื่นๆ ที่ผมไม่รู้จักที่อยากเข้าใจวิธีเขียน BMC ก็สามารถเข้ามาอ่านหรือดูคลิปที่ผมแนะนำ จนถือว่าได้เรียนไปด้วยแล้ว… แถมคนที่เข้ามาเรียนส่วนหนึ่งเห็นว่าดีงามและเป็นประโยชน์กับเพื่อนคนอื่นๆ ที่สนใจเหมือนกัน ก็เลยแชร์ลิงค์ไปให้เพื่อน… จนอาจจะมีการส่งต่อกันออกไปเป็นวงกว้างขึ้นได้อีก
Howard Rheingold เองก็พบการแชร์และถกเถียงถามไถ่เพิ่มเติมจากนักศึกษาหลากหลาย ในประเด็นที่เคยสอนหรือแนะนำนักศึกษาไว้แบบตัวต่อตัวเพียงคนเดียวตอนเริ่มต้น… และหลายกรณีมีการนำองค์ความรู้และข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ มาแชร์และแบ่งปันกลับ อ้างอิงถกเถียงจนบางกรณีสามารถแตกประเด็นออกไปเกินกว่าคำว่า Integrate หรือบูรณาการความรู้ไปได้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม… แนวคิด Peeragogy ยังถือว่าใหม่และสับสนกับกรอบและแนวทางอยู่ แม้ว่าแนวคิดนี้จะมีคนกระตือรือล้นสนใจอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมีการพัฒนาคู่มือด้วยเป้าหมายที่จะประกาศเป็นปรัชญาการศึกษาอีกหนึ่งกระบวนทัศน์ หรือ Paradigm ด้านการศึกษาทีเดียว… ปัจจุบัน Peeragogy เผยแพร่กรอบแนวคิดรุ่นที่ 3 หรือ Version 3 ไปแล้ว… ท่านที่สนใจคลิกที่นี่เลยครับ
ในทางปฏิบัติ… Peeragogy มุ่งเป้าไปที่การจัดการศึกษาแบบให้ “คนรู้จัก หรือ เพื่อน หรือ Peer สามารถแบ่งปันองค์ความรู้และทรัพยากรการเรียนรู้ รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการศึกษา ทั้งในบริบทที่เป็นบรรยากาศการเรียนรู้อย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ทั้งการเรียนรู้ในบริบทส่วนตัว… กลุ่มเล็กๆ หรือออนไลน์
ในทางเทคนิค… Peeragogy ยังต้องการเวลาในการค้นคว้าวิจัย และยืนยันแนวคิดจากหลักฐานเชิงประจักษ์อีกมากเพื่อปกป้องแนวคิด Peeragogy… ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบการประยุกต์ใช้แนวคิด Peeragogy ที่เป็น Peer-to-Peer Learning ในบริบทการถ่ายทอดองค์ความรู้ในระดับหลักสูตรหรือแผนการศึกษา… เอกสารที่ผมค้นคว้าได้ทั้งหมดในปัจจุบันเกี่ยวกับ Peeragogy แม้จะน่าสนใจอย่างมากในเชิงวิสัยทัศน์ แต่หลายบริบทในแนวคิดและหลักการยังถือว่ามีการบ้านให้ซ่อมช่องว่างอีกมาก…
ข้อมูลขาดตกบกพร่องอย่างไร กรุณาชี้แนะด้วยครับ… ตอนหน้ามาเจาะดูรูปแบบ Peeragogy ในบริบทการเรียนรู้ถ่ายทอดแบบต่างๆ ด้วยกันครับ… ขอบคุณที่ติดตาม!
References…
2 replies on “Peeragogy… เมื่อระบบการศึกษาต่อตรงแบบ Peer–To–Peer ในยุคดิจิทัล #ReEducation”
ติดตามค่่ะ น่าสนใจมาก
ขอบคุณครับ ฝากแชร์ด้วยครับ