Self Confident

Perceived Self และ Ideal Self… กับความภูมิใจในตน #SelfInsight

Self-Esteem หรือ ความภูมิใจในตน หรือ ความภูมิใจแห่งตน หรือ การเคารพตนเอง หรือ การเห็นคุณค่าในตัวเอง… ในทางจิตวิทยาจะเป็นการประเมินคุณค่าตนเองอันเป็นอัตวิสัยและรับรู้โดยสมบูรณ์อยู่ภายในใจตน ซึ่งเป็นทั้งการตัดสินและทัศนคติต่อตน โดยมีความเชื่อและอารมณ์ความรู้สึกเป็นองค์ประกอบ… ความเชื่อว่าตนเก่งและด้อย… ความรู้สึกอับอายและภาคภูมิ หรือ ความรู้สึกโศกเศร้าและสนุกสนาน ซึ่งเกิดขึ้น สะสมและเฉลี่ยเป็นคุณค่าที่ตนเองมองตนเองในแต่ละวันเวลา หรือ ทั้งหมดของช่วงชีวิตเลยก็ได้

นักจิตวิทยาและศาสตร์ด้านจิตวิทยาอธิบายว่า… Self-Esteem ทรงอิทธิพลต่อพฤติกรรมต่างๆ ของเจ้าตัวอย่างสำคัญ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

William James จิตแพทย์ชาวอเมริกันได้แจกแจงด้านต่างๆ ของตัวตน หรือ อัตตา หรือ Self เอาไว้ 2 วรรณะ คือ… I-Self ซึ่งเป็น Processes of Knowing หรือ กระบวนการรับรู้… กับ Me-Self ซึ่งเป็น Resulting Knowledge About The Self หรือ ผลแห่งการรับรู้เกี่ยวกับตน… ซึ่ง I-Self หรือ กระบวนการรับรู้ทั้งทางกาย ทางสังคมและทางจิตวิญญาณ จะสะท้อนเป็น Me-Self หรือ ผลจากการรับรู้ตัวตนสอดคล้องกันทั้งทางกาย ทางสังคมและจิตวิญญาณ… หรือ ตนรับรู้มาอย่างไร ก็ส่งผลให้ตนเป็นอย่างนั้น

นั่นแปลว่า… ปัญหาทางจิตอันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจาก “รู้มาอย่างไรก็ส่งผลอย่างนั้น” มีช่องว่างระหว่าง I-Self กับ Me-Self… กว้างพอที่จะเติมบางสิ่งเพื่อ “ปรับแต่งควบคุมผลลัพธ์” ในขั้น Me-Self ให้ออกมาเป็นประโยชน์กับเจ้าตัว หรือ Self ได้ดีกว่าการใช้ Knowing หรือ การรับรู้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหลายกรณีไม่ได้เป็นประโยชน์กับเจ้าตัว หรือ Self ใดๆ เลยก็มี มิหนำซ้ำ หลายกรณียังเป็นโทษกับเจ้าตัวสุดลิ่มก็เป็นได้

เครื่องมือในการ “ปรับแต่งควบคุมผลลัพธ์” ที่สร้างคุณประโยชน์ให้ตัวเองผ่าน Me-Self ได้ดีที่สุดก็คือ… Self-Esteem นั่นเอง

Perceived Self และ Ideal Self

พญ. สุวรรณี พุทธิศรี จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุไว้ในผลงานวิจัยเครื่องมือทางจิตเวชเด็กและตีพิมพ์ในวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยว่า… ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง หรือ Self-Esteem เป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญในการป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรงของปัญหาทางจิตใจที่เกิดขึ้น ในทางปฏิบัติพบว่า… ความเดือดร้อนที่บุคคลได้รับนั้น บ่อยครั้งจะมาจากความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองที่น้อยเกินไป ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองต้องอาศัยความสมดุลกันระหว่างความชำนาญ ความสามารถที่แต่ละบุคคลประเมินว่า “ตนเองเป็นอย่างไร หรือ Perceived Self” กับจินตนาการของบุคคลนั้นว่า “ต้องการที่จะเป็นอย่างไร หรือ Ideal Self” 

หากทั้ง Perceived Self และ Ideal Self ใกล้เคียงกัน… ก็จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง มองตนเองในแง่ดีตามความเป็นจริง ชื่นชมกับความสามารถที่มี และพร้อมที่จะพัฒนาให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป… ในทางกลับกันถ้า Perceived Self และ Ideal Self แตกต่างกัน ก็จะทำให้คนๆ นั้นไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง กลัวการปฏิเสธ ท้อแท้ หรืออยู่เฉยไม่กระตือรือล้น

การอธิบายเรื่องความภาคภูมิใจในตนนั้น… โดยทั่วไปมักจะอ้างถึง Maslow’s Hierarchy of Needs หรือ ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ซึ่งเผยแพร่โดย ศาสตราจารย์อับราฮัม มาสโลว์ ในรายงานเรื่อง A Theory of Human Motivation ปี 1943… ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ก็ไม่ได้พูดถึง Self-Esteem หรือ ความภูมิใจในตนโดยตรง เพียงแต่อธิบายว่า “มนุษย์โดยธรรมชาติต้องการอะไรจากแค่ไหนถึงแค่ไหน” แม้จะเป็นทฤษฎีที่อธิบายการเกิดความภูมิใจในตน แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่าจะได้ความภูมิใจในตนมาได้อย่างไรตามขั้นต่างๆ ของทฤษฎี

การจะพัฒนา Self-Esteem จึงต้องถอยกลับมาดูตัวตน หรือ อัตตา หรือ Self ทั้งสองระดับคือ I-Self และ Me-Self… โดยทำความเข้าใจว่า Perceived Self หรือ ตนเองเป็นอย่างไร เทียบกับ Ideal Self หรือ ความต้องการส่วนตนตามความคิดและจินตนาการรวมถึงทัศนคติของตนเป็นอย่างไร… และหาทางให้ “ความจริงกับความต้องการมีช่องว่างระหว่างกันน้อยที่สุด… นั่นเอง 

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts