Perfectionist หรือ คนที่ชื่นชอบพึงพอใจในความสมบูรณ์แบบของผลลัพธ์ที่ต้องเป็นไปตามที่ตนคาดหวัง ซึ่งนักจิตวิทยายืนยันว่า การเป็นคนสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist เป็นวิธีการใช้ชีวิตที่ยุ่งยาก และ สร้างความลำบากให้ตัวเองรวมทั้งคนใกล้ชิดอย่างมาก แถมยังเกี่ยวพันถึงภาวะวิตกกังวลเกินปกติ… ซึมเศร้า… วิพากษ์วิจารณ์ตนเองและผู้อื่นในทางทางลบ… ตัดสินใจช้า และ ทำงานสำเร็จได้น้อย
งานวิจัยเรื่อง Perfectionism Is Increasing Over Time โดย Ass. Prof. Dr.Thomas Curran จาก London School of Economics and Political Science ชี้ว่า… สิ่งที่ตามมาจากการยึดติดในความสมบูรณ์แบบจนกลายเป็นคน Perfectionist ก็คือปัญหาด้านสุขภาพจิต ทั้งความกังวล ความกดดัน ความเครียด ที่ส่งผลให้เหล่า Perfectionist มีโอกาสซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง หรือ ถึงกับฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไป… ซึ่งงานวิจัยในหัวข้อ Perfectionism Is Increasing Over Time: A Meta-Analysis Of Birth Cohort Differences From 1989 To 2016 ได้เก็บข้อมูลจากนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า 40,000 ตัวอย่างที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และ แคนาดา ตั้งแต่ปี 1989 จนถึงปี 2016 พบว่า… ช่วงวัยรุ่นมีอัตราการเป็น Perfectionism ของกลุ่มตัวอย่างถึง 33% โดยจะแสดงอาการให้สังเกตุได้ดังนี้คือ
- คาดหวังสูงกับตัวเอง
- รู้สึกแย่ถึงแย่ที่สุด ถ้าหากทำอะไรผิดพลาดต่อหน้าคนอื่น และ คิดแต่ว่าคนอื่นจะมองตัวเองอย่างไร
- หวั่นไหวง่าย เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์
- ถ้าต้องทำอะไรที่คิดแล้วว่าทำได้ไม่ดี จะพยายามหลีกเลี่ยง
- พยายามปกปิดความรู้สึกของตัวเอง และ ไม่ค่อยอยากสุงสิงกับคนอื่น
- จัดลำดับความสำคัญไม่ค่อยเป็น ลังเลไปมา ตัดสินใจไม่ได้เสียที ไม่เลือกทางไหนไปสักทาง
- ถ้าทำอะไรแล้วผลลัพธ์ออกมาแย่กว่าที่คาดหวังไว้ อาจมีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เป็นต้น
นักจิตวิทยาแบ่งลักษณะของคน Perfectionist ออกเป็น 3 แบบคือ…
- Self Oriented Perfectionism หรือ ผู้ที่ตั้งมาตรฐานความสมบูรณ์แบบกับตัวเอง
- Other Oriented Perfectionism หรือ ผู้ที่ตั้งมาตรฐานความสมบูรณ์แบบกับคนรอบข้าง… อย่างเพื่อนร่วมงาน หรือ คนในครอบครัว
- Socially Prescribed Perfectionism หรือ ผู้ที่คิด หรือ เชื่อว่าตนควรต้องสมบูรณ์แบบตามความคาดหวังให้ถึงขั้นเป็นที่ยอมรับของสังคม
อย่างไรก็ตาม… การเป็นคน Perfectionist ยังถือว่าเป็นบุคลิกและหรือจิตวิทยาส่วนบุคคลที่มีทั้งข้อดีข้อเสียอยู่ในตัว โดยข้อดีของการเป็นคน Perfectionist ก็จะเป็นคนละเอียดรอบคอบ พยายามทำให้งานทุกชิ้นออกมามีคุณภาพ เป็นคนมีเป้าหมายชัดเจน มักประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานด้วยตัวเอง… ส่วนข้อเสียก็จะเห็นการกดดันตัวเองสูง เครียดง่าย ทำงานกับผู้อื่นยาก ยึดติดความคิดของตัวเองเป็นหลัก… ซึ่งหลายกรณีอาจจะถูกมองว่าเห็นแก่ตัว หรือ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้ตัว
ประเด็นก็คือ… การเป็นคน Perfectionist ในวัยเด็ก และ วัยรุ่นอาจจะเห็นผลกระทบไม่มาก เว้นแต่จะเป็นกลุ่มอาการ Other Oriented Perfectionism ที่ไปวุ่นวายเอาความสมบูร์แบบจากคนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นปัญหาความสัมพันธ์ และ เจอผลกระทบด้านลบจากความสัมพันธ์เป็นหลัก แต่ก็พบได้ไม่มากในเด็กและวัยรุ่น…
แต่การเป็น Perfectionist ในผู้ใหญ่ซึ่งเป็นวัยทำงาน และ มีภาระรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด กระทบสายสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้มากมาย… นอกจากนั้น ผู้ใหญ่ที่เป็น Perfectionist ยังปรับตัวได้ช้า ตัดสินใจช้า ซึ่งเป็นผลให้เกิดทำงานล่าช้าอย่างชัดเจน โดยหลายกรณีจะกลายเป็นสาเหตุของความล้มเหลวต่อเนื่อง ถึงขั้นกลายเป็นวงจรความเสียหายได้ด้วย
ส่วนแนวทางการแก้ไขภาวะ Perfectionist ในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งโดยรวมจะเกิดจากครอบครัว และ การเลี้ยงดู และ ถือว่าเป็นปัญหาจิตวิทยาครอบครัวที่ต้องรับมือกันเอง และ ช่วยเหลือกันแก้ไขกันภายในครอบครัว โดยหาทาง “ลดคำชมเหลือเฟือเกินจริง รวมทั้งการกดดันเด็กๆ ด้วยความคาดหวังที่ไม่เป็นธรรมกับเด็ก และ สอนให้เด็กยอมรับและเรียนรู้จากความผิดพลาด” ให้มาก
ส่วนการแก้ไขภาวะ Perfectionist ในผู้ใหญ่วัยทำงานนั้น… ในเบื้องต้นคงต้องพิจารณาบริบทที่เกิดขึ้นจริงว่าตนเองสะท้อนความเป็นคน Perfectionist แบบไหน และ แก้ไขให้ตรงจุด เช่น…
- Perfectionist แบบปฏิเสธความช่วยเหลือ หรือ อายที่จะขอความช่วยเหลือ… นอกจากจะต้องพัฒนาทักษะให้ทำอะไรได้ดีกว่าเดิมโดยไม่ต้องขอใครช่วยแล้ว ยังควรพิจารณาข้อเสนอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน หรือ คนที่ช่วยเหลือเราได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งถ้าเป็นงาน หรือ ภาระยากๆ ที่ถูกมอบหมาย โดยทั่วไปก็มักจะมาพร้อมความเอื้อเฟื้อการช่วยเหลืออยู่แล้ว
- Perfectionist แบบวิจารณ์ตัวเองและคนอื่นมากเกินไป… จำเป็นจะต้องพัฒนา Soft-Skills เพื่อให้สามารถทำงาน และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ “โดยไม่ใส่ใจ” บริบทของคนอื่นโดยไร้มารยาท
- Perfectionist แบบงานช้า หรือ ใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ… ควรฝึกการตัดสินใจทำงานให้ดีที่สุดด้วยข้อเท็จจริงเท่าทีมีตรงหน้า และ พยายามทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นเรื่องง่าย รวมทั้งฝึกขอความช่วยเหลือให้เป็น
- Perfectionist แบบลังเล หรือ มีปัญหาในการตัดสินใจ… การตัดสินใจคือการเลือกหนึ่งตัวเลือกจากหลายๆ ทางเลือก… ซึ่งต้องฝึกที่จะเลือกอะไรสักอย่างเพื่อจะได้ทำอะไรต่อจากนั้นได้เร็วขึ้น
- Perfectionist แบบหมกมุ่น ย้ำคิดย้ำทำ และ ไม่พอใจเรื่องไม่เป็นเรื่องอย่างต่อเนื่อง… ซึ่งเป็นความเครียดจากการเป็น “นักอุดมคตินิยม” ที่ไม่ยอมให้เกิดอะไรขัดตาขัดใจผ่านไปได้เลย แม้จะเป็นเรื่องงี่เง่าที่ไม่มีใคร หรือ อะไรเสียหายและได้รับผลกระทบ… ปกติจะเป็นกับคนมีเวลาเยอะ หรือ ว่างมาก ซึ่งควรไปหาอะไรที่มีคุณค่ากว่านั้นทำ
ประมาณนั้นครับ!
References…
- https://www.psychologytoday.com
- https://www.pobpad.com
- https://baby.kapook.com
- https://www.krungsri.com
- https://shortrecap.co
- A Test Of Perfectionistic Vulnerability Following Competitive Failure Among College Athletes
- Multidimensional Perfectionism and Burnout: A Meta-Analysis
- Perfectionism is increasing over time: A meta-analysis of birth cohort differences from 1989 to 2016