เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ในรัสเซีย กลายเป็นภัยพิบัติที่กำลังสร้างความหายนะด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ธรรมดา จนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากน้ำมันดีเซลปริมาณ 20,000 ตัน รั่วไหลจากถังเก็บเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าลงสู่แม่น้ำ Ambarnaya River เขตเมืองนอริลสก์ หรือ Norilsk ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม ทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 2,900 กิโลเมตรจากกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2020


น้ำมันดีเซลที่รั่วไหล… ปนเปื้อนแม่น้ำหลายสายในแถบนั้นและซึมลงใต้ดินอีกมากจากประมาณน้ำมันที่รั่วไหลกว่า 20,000 ตัน เจ้าหน้าที่รัสเซียและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศระบุว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยาวนานหลายสิบปี และเป็นไปได้ที่น้ำมันจะไหลไปถึงมหาสมุทรอาร์กติกในแถบขั้วโลกเหนือด้วย
หายนะวันที่ 29 พฤษภาคม 2020… เกิดจากถังเก็บเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ของโรงไฟฟ้าในเครือ Norilsk Nickel หนึ่งในผู้ผลิตนิกเกิลและพาลาเดียมรายใหญ่ของโลก ใกล้กับเมืองนอริลสก์เขตไซบีเรีย… ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าถล่มลงเพราะเสารองรับโครงสร้างถังทรุดตัว เนื่องจากโครงสร้างตั้งอยู่บน “ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว หรือ Permafrost ที่ยุบตัวลงจากน้ำแข็งที่ละลาย อันเนื่องมาจากปัญหาโลกร้อน
Permafrost หรือพื้นดินที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสตลอดเวลาจนความชื้นในดินกลายเป็นน้ำแข็งมาชั่วนาตาปี ซึ่งพบได้จากพื้นดินบริเวณขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็น ซึ่งบนผิวดินอาจไม่จำเป็นต้องมีน้ำแข็งปกคลุมให้เห็นก็ได้ และเมื่อโลกร้อนขึ้น ชั้นดินที่เคยเป็นน้ำแข็งก็ย่อมละลายและเกิดการทรุดตัวเป็นธรรมดา
ว่ากันว่า… ปัญหาใหญ่จริงๆ ของ Permafrost ละลายและถูกรบกวนจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นก็คือ… เชื้อโรคมากมายที่ถูกแช่แข็งมาจากยุคดึกดำบรรพ์ที่มนุษย์รู้จักและยังไม่รู้จัก มีท่าทีจะหวนคืนมาเป็นปัญหาใหม่ของมนุษยชาติค่อนข้างแน่
Dr. Jean-Michel Claverie นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จาก Aix-Marseille University ในฝรั่งเศษชี้แจงว่า… ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวนั้นเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับการจำศีลเป็นเวลานานของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เนื่องจากเป็นที่มืดมิดแสงส่องไม่ถึง มีความเย็นยะเยือกและไม่มีอ็อกซิเจน ทำให้เชื้อร้ายที่อยู่ในซากศพของมนุษย์และสัตว์ซึ่งกลบฝังไว้ตื้นๆ ในอดีต สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานนับร้อยนับพันปี หรือในบางครั้งอาจเป็นหลายล้านปี… ไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์พบเชื้อไข้หวัดสเปนที่มีการระบาดครั้งใหญ่ในปี 1918 ในหลุมฝังศพหมู่ในเขตทุนดราของอลาสกา และคาดว่ามีเชื้อกาฬโรค รวมทั้งเชื้อโรคที่แพร่ระบาดในศตวรรษที่ 18-19 อยู่ใต้ชั้นดินเยือกแข็งของไซบีเรียหลายชนิดด้วย
ปี 2005 นักวิทยาศาสตร์ของนาซาพบว่า เชื้อแบคทีเรีย Carnobacterium Pleistocenium ในบ่อน้ำแข็งของอลาสกา ซึ่งอยู่มานานกว่า 32,000 ปี หรือตั้งแต่ยุคช้างแมมมอธยังมีชีวิตอยู่ สามารถกระดิกตัวและว่ายไปมาได้หลังก้อนน้ำแข็งที่ห่อหุ้มอยู่ละลาย และสองปีต่อมาสามารถทำให้แบคทีเรียที่มีอายุ 8 ล้านปี ซึ่งจำศีลอยู่ใต้ธารน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา กลับมาเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวาอีกครั้ง เชื้อเหล่านี้จำศีลอยู่ได้นานเพราะบางชนิดมีการสร้างสปอร์ห่อหุ้มตัว เช่นเชื้อแอนแทร็กซ์ หรือบ้างก็เป็นไวรัสสายพันธุ์ขนาดใหญ่จนสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา ซึ่งไวรัสกลุ่มนี้จะมีความแข็งแกร่งและสามารถรักษาดีเอ็นเอของตนไว้ได้ดีกว่าไวรัสทั่วไป…

ฟังเหมือนตำนานปีศาจใต้โลกถูกปลดปล่อย… ถึงตอนนั้นค่อยว่ากันอีกทีละกัน!
#FridaysForFuture ครับ!
อ้างอิง