Personel Branding

Personal Branding…

เป็นข้อเท็จจริงนานมาแล้วว่า บุคคลที่ประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน มักจะเป็นคนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก ได้รับการยอมรับ และมีเรื่องราวของเขา ที่คนอื่นสามารถพูดถึงและเล่าต่อได้

ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลที่คนอื่นใช้พิจารณาโดยธรรมชาติ ที่จะให้การยอมรับ เชื่อถือ รักใคร่ เกลียดกลัวหรือชิงชัง… ซึ่งวันนี้เราจะพูดถึงชื่อเสียงภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาคนอื่น รวมทั้งหลักและแนวคิดในการพัฒนาชื่อเสียงภาพลักษณ์ ที่ปัจจุบันเรียกโดยรวมว่า Personal Branding

Personal Branding ในที่นี้หมายถึง การสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้ใครสักคน ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ด้วยภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่คนในวงกว้าง รู้จักตัวตนของเขาก่อนจะเจอตัวจริงของเขาเสียอีก

การสร้างแบรนด์ให้คนๆ หนึ่ง โดยหลักการและจุดมุ่งหมายแล้ว จะไม่ได้ต่างจากการสร้างแบรนด์ให้สินค้าหรือองค์กรเท่าใดนัก… แต่ในรายละเอียดส่วนสำคัญอาจจะมีแตกต่างกันไปบ้างพอสมควร

ในปัจจุบัน Personal Branding มีความสำคัญต่อทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร พนักงานบริษัท ฟรีแลนซ์ ผู้ประกอบการ หมอ ทนาย หรือคนขายข้าวแกง… เพราะ Personal Branding ทำให้คนอื่นๆ รู้จักเขาก่อนจะ Connected หรือติดต่อด้วย… เหมือนเราอยากไปเจอหมอที่มีคนบอกว่าเก่งใจดี… หรือเราอยากแวะร้านข้าวแกงเจ้าประจำเพราะคุ้นเคยกับเจ้าของร้านที่อัธยาศัยเป็นมิตร

แต่ที่พูดยกตัวอย่างมานั้น… ก็ยังเป็นเพียงชื่อเสียงภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่… แต่เมื่อเราพูดถึง Personal Branding ในปัจจุบัน เราจะหมายถึงการสร้างชื่อเสียงภาพลักษณ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะในโลกดิจิตอล ที่จำเป็นจะต้องพึ่งพา Digital Branding Process เพื่อสร้าง Impact Factor เชิงบวกในวงกว้างอันเป็นหนทางที่จะนำโอกาสและความสำเร็จมาสู่คนๆ นั้นอีกมาก

ปัจจุบัน Personal Branding เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการจำนวนมาก เทียบกับเมื่อก่อนที่ Corporate Branding มีความสำคัญต่อธุรกิจ หลายธุรกิจต้องสร้าง Brand ที่แข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ… แต่ในปัจจุบันนอกจาก Corporate Branding แล้ว นักธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มลงทุนกับ Personal Branding กันเป็นกิจจะลักษณะกันแล้ว

กรณีของคุณตัน ภาสกรนที ที่เคยเดินสายออกสื่อทำการกุศลจนเป็นที่รู้จัก… หรือกรณีของ Richard Branson ซึ่งเป็น Founder ของเครือข่ายธุรกิจ Virgin ก็เดินสายออกสื่อเยอะมาก และยังเคยทำแคมเปญเล่นสกีน้ำโดยมีนางแบบเปลือยเกาะหลัง สร้าง Viral ให้คนจดจำกระทั่งทุกวันนี้ รวมไปถึงการเขียนหนังสือสร้าง Values เติมชื่อเสียงที่มีอยู่เดิมเข้าไปอีก… กรณีคุณรวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์สหโอสถ ที่รับบรรยาย เขียนหนังสือ ทำ Podcast แบ่งปันความรู้และประสบการณ์… กรณีของศาสตราจารย์ ดร.นพดล ร่มโพธิ์ ที่ลุกมาเขียนหนังสือ How to เผยแพร่เรื่อง OKRs แถมยังทำ Podcast เขียน Blogs โดยงานหลักที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้ขาดตกบกพร่องแถมยังยอดเยี่ยมด้วย… หรือกรณีของคุณหมู ณัฐวุฒิ ในภาพลักษณ์ CEO มาดโอปป้า ที่ออกสื่อ เขียนหนังสือและนั่งฟังแผนธุรกิจจากปากคนหลายร้อยต่อปี… โดยที่คุณหมูยังยิ้มได้ตลอดเวลา

ประเด็นก็คือ… ในวันที่อินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากันผ่าน Social Media และช่องทางการสื่อสารมากมาย…ทำให้ปรากฏการณ์แฟนคลับใกล้ชิดกับดาราที่ชื่นชอบแม้ไม่ได้เจอหน้ากันโดยตรงเกิดขึ้นได้… การใกล้ชิด เข้าถึง และสร้างความผูกพันธ์ได้ง่ายจึงเกิดได้กับทุกคนที่พร้อมจะมีแฟนคลับ

และที่สำคัญกว่านั้นคือ… สินค้าหรือบริการคุณภาพดีในปัจจุบันสามารถเลียนแบบได้ง่าย การทำ Corporate Branding และ Products Branding จึงสร้างความแตกต่างได้น้อยลง จนความสำคัญของ Personal Branding มีความจำเป็นในการสร้างความแตกต่าง รวมทั้งการเข้าถึงอารมณ์ความเชื่อมั่น ที่คนมีต่อคน… ยังไงๆ ก็ดีกว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนที่มีกับสินค้าหรือ Branding

การทำ Branding เป็นกลไกการตลาดล้วนๆ และการทำ Personal Branding ก็อยู่ในกฎเกณฑ์นี้ด้วย… ซึ่งหลักในการทำ Personal Branding ให้ประสบความสำเร็จที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเรียกว่า Model TAR ประกอบด้วย

  1. Trust หรือความเชื่อใจ… หาให้เจอครับว่าท่าน อยากให้คนอื่นเชื่อมั่นท่านประเด็นอะไรบ้าง และจงทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นบุคลิกหรืออุปนิสัยของท่าน
  2. Authority หรือสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ… สิทธิ์ความเป็นเจ้าของในที่นี้หมายถึง สิทธิในคุณค่าหรือ Values จากท่านและโดยท่าน ที่แบ่งปันผู้คน
  3. Relationship หรือความสัมพันธ์… อันเป็นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนและยังต้องสานสัมพันธ์ต่อเนื่องกับผู้คน… บนความสัมพันธ์ที่ดีและยืนยาว

ประเด็นทั้ง 3 ยังมีรายละเอียดและกรณีศึกษาอีกมากให้เรียนรู้ ทดลองทำและปรับเปลี่ยนให้เป็นท่านที่สุด… ข่าวดีคือ Trust, Authority และ Relationship ของแต่ละคนไม่มีทางจะเหมือนกัน การสร้างและพัฒนาจนเป็นภาพลักษณ์ระดับแบรนด์จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการเลียนแบบจากใคร

ส่วนข่าวร้ายก็คือ… ท่านก็ลอกแบบใครไม่ได้เช่นกัน!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts