คีย์เวิร์ดอย่างคำว่า Personalized Learning, Individualized Instruction, Personal Learning Environment และ Direct Instruction ทั้งหมดล้วนหมายถึง การจัดการเรียนการสอนเฉพาะคน หรือรายบุคคลให้ผู้เรียน แบบที่สำนวนฝรั่งเรียกว่า Tailor Education
ในทางปฏิบัติ… Personalized Learning คือภาพการสอนติวให้นักเรียนทั้งแบบกลุ่มเล็กและส่วนตัว ที่เป็นทางออกสำคัญของการแข่งขันด้านการศึกษา ที่ผู้เรียน นักเรียนและผู้ปกครองพึ่งพาเป็นทางออกมานานแสนนาน ซึ่งสะท้อนภาพรวมระบบการศึกษาที่ล้มเหลว และพยายามหาทางออกด้วยแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาตลกๆ มากมายจากปากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่คำตอบอยู่ที่ Personalized Learning แค่นั้นเอง
ปัญหาเดียวของ Personalized Learning ก็คือ… แพง!
การลงทุนเพื่อการศึกษาหรือแม้แต่เพื่อปฏิรูปการศึกษา ยังคงตรงไปการหาทางลดต้นทุนการจัดการศึกษา ด้วยการสร้างโรงเรียนแบบที่สำนวนฝรั่งเรียกว่า Brick and Mortar School ที่แปลว่าให้มีอาคารสถานที่ ห้องเรียน ห้องน้ำ โรงอาหาร ห้องพักครู รั้ว และป้ายโรงเรียนใหญ่ๆ มาหลายสิบปี แต่ทุกท่านที่เกี่ยวข้องก็น่าจะเคยได้ยินเสียงบ่นเดิมๆ จากครูอาจารย์และผู้บริหารกิจการด้านการศึกษา บ่นกล่าวเรื่องห้องเรียนเล็ก ครูไม่พอ สื่อและอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้เก่า ไม่ทันสมัย ล้าหลัง และอีกร้อยแปดประเด็นที่ยังไปไม่ถึง “ความรู้ หรือ Knowledge” ที่เด็กกับผู้ปกครอง “ขอตัวไปหาครูติว” มาช่วยสอนระหว่างท่านๆ แก้ปัญหาไปพลางก่อน
ประเด็นก็คือ เด็กและผู้ปกครองใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดจากระบบการศึกษา ไปกับการเรียนเสริมที่มั่นใจได้มากกว่า ซึ่งเด็กและผู้ปกครองรู้ดีว่า จะต้องหาเรียนอะไร กับครูคนไหน เพื่อเสริมอะไร ซึ่งรู้ดีกว่าครูแนะแนวเยอะมาก


ที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งก็คือ โรงเรียนติวและครูสอนพิเศษที่โฆษณาว่า “แก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” ยังมีอยู่เกลื่อนเมืองทุกที่ตั้งแต่เมืองหลวงถึงอำเภอชายแดนทุกทิศ ท่านลองใช้คีย์เวิร์ดคำว่า “ลูกอ่านไม่ออก” ค้นใน Google ดูก็ได้ครับ ผมลองแล้ว Google หาเจอราว 118 ล้านผลลัพธ์เท่านั้นเอง… การไปเรียนเสริมเพื่อช่วยบุตรหลานให้อ่านออกเขียนได้กับครูติว ครูที่รับสอน “จะทำทุกทางให้เด็กคนนั้นอ่านออกเขียนได้” ซึ่งก็คือ Personalized Learning สมบูรณ์แบบนั่นเอง
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าผมตีความเรื่อง Personalized Learning เป็นโรงเรียนติวน๊ะครับ… ผมเพียงแต่ยกตัวอย่างชัดๆ ให้เห็นส่วนหนึ่งของภาพรวม Personalized Learning เทียบเคียงให้เห็นว่า ตัวนักเรียนหรือผู้เรียนเองมีความหลากหลายเฉพาะ ที่เราน่าจะหาทางทำ Tailor Education กันอย่างจริงจังได้แล้ว
สาระสำคัญจริงๆ ในการปรับ “ระบบการจัดการ” การเรียนการสอนไปใช้ Personalized Learning อยู่ที่การเอาผลลัพธ์คือ ผลการเรียนของนักเรียนรายคนเป็นตัวตั้ง มากกว่าจะเอาระบบการจัดการเป็นตัวตั้ง แล้วให้ค่าเด็กเก่งเพียงไม่กี่คน มาเป็นตัวแทนความสำเร็จทางการศึกษา ที่ยังวนอยู่กับ Brick and Mortar หรือหาสารพัดสีมาทาห้องเรียน
คำถามสำคัญจึงมีว่า… Personalized Learning ที่ไม่โฟกัส Brick and Mortar จะจัดการอย่างไร?
คำตอบจะกลับไปที่ Blended Learning ซึ่งสัดส่วนการลงทุนด้านการศึกษา จำเป็นต้องตรงไปที่ทรัพยากรทางการเรียนรู้ หรือ Knowledge Resources หรือ Knowledge Asset พร้อม Communication Infrastructure ที่ยืดยุ่นสูงสุด… และคืนสิทธิ์การตัดสินใจเรียนอะไรกับครูคนไหนเมื่อไหร่ กลับไปให้นักเรียนและผู้ปกครองทั้งหมด
ใช่ครับ! Personalized Learning คือ Learner Self Blended ซึ่งส่วนใหญ่ทำกันมาตามฐานานุรูปและบริบทกันอยู่แล้วในบางรูปแบบอย่างกรณีของการติวส่วนตัวนั่นเอง
อ้างอิง