Self Directed Learning

Perspectives on Andragogy… ภาพรวมและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผู้ใหญ่

มิติของการจัดการศึกษาแบบผู้ใหญ่ ซึ่งให้ความสำคัญกับผู้เรียนก่อนอื่น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมากมายทุกมิติที่กระทบ “พฤติกรรมผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป” ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลกับความรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมผู้เรียนยุคใหม่ พึ่งพาคนกลางอย่างครูหรือผู้สอนที่เคยถือความรู้เอาไว้กับตัว “คอยผู้เรียนมาให้สอน” เหลือหน้าที่ไว้เท่าที่ความจำเป็นเฉพาะอย่างและในบางกรณีเท่านั้น… เพราะพฤติกรรมการอยากรู้หรือสงสัยใคร่รู้ สามารถหาคำตอบได้บนอินเตอร์เน็ตมากมายด้วยตัวเองจากความรู้ที่อยู่ในรูปของข้อมูล

นั่นแปลว่า องค์ความรู้ไม่จำเป็นต้องมีอยู่กับผู้รู้ ครูหรือใครได้อีก นอกจากจะฝากเอาไว้กับ Cloud ให้ผู้เรียนหาเจอเมื่ออยากเจอและสะดวกเจอ… ซึ่งหน้าที่ผู้สอนจบลงตั้งแต่เตรียมองค์ความรู้ให้อยู่ในรูปข้อมูลใส่ Cloud เอาไว้แล้ว… และ Insight ของผู้เรียนจะบอกเองว่า “องค์ความรู้ที่อยู่ในรูปของข้อมูลบน Cloud” ทำให้ผู้เรียนอยากเจอครูหรือผู้รู้เพิ่มเติมหรือไม่ หรือแค่ “หาข้อมูลความรู้” จากแหล่งอื่นทดแทน

แนวคิดการจัดการศึกษาแบบผู้ใหญ่ ทั้งเพื่อผู้ใหญ่โดยตรงและเพื่อวัยอื่นๆ ที่มีผู้ใหญ่ดูแลรับผิดชอบอยู่ จึงต้องเปิดมุมมองใหม่เพื่อ “ตามการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียน” ให้ทันเป็นอย่างน้อย… ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ต้อง “นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ผู้เรียน” ตั้งแต่ผู้เรียนยังไม่รู้ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรียนรู้แบบไหนอย่างไร

สิ่งที่ยากที่สุดของการจัดการศึกษาในแนวทางผู้ใหญ่ หรือ Andragogy ก็คือ ผู้เรียนมีอำนาจเหนือตัวแปรอื่นในระบบนิเวศน์การเรียนรู้เกือบทุกกรณี… และส่วนที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็คือ ผู้เรียนรับผิดชอบทุกตัวแปรในระบบนิเวศน์การเรียนรู้ทั้งหมดด้วยตัวเองทุกกรณีเช่นกัน

แวดวงการจัดการศึกษาในแนวทางผู้ใหญ่ จึงมีโมเดลมากมายผุดขึ้นเพื่อให้นักการศึกษาครูอาจารย์ หรือแม้แต่ธุรกิจการศึกษา ได้นำกรอบทฤษฎีและแนวคิดบนพื้นฐานแนวทาง Andragogy ไปปรับใช้เพื่อให้เหมาะกับการ “เตรียมหลักสูตรเพื่อผู้เรียน…” โดยแนวทางหรือทฤษฎีที่มีการปรับใช้ที่แนะนำและรู้จักกันดีได้แก่

1. The Learner’s Need to Know หรือ เรียนทำไม

แกนหลักสำคัญของหลักการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่คือการรู้เหตุผลว่าทำไมต้องเรียน ก่อนอะไรทั้งหมดในกระบวนการเรียนรู้… ความยากของหลักการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่จึงอยู่ที่ การช่วยให้ผู้เรียนรู้เหตุผลที่ต้องเรียนรู้เรื่องนั้นๆ โดยพาผู้เรียนให้เข้าใจมิติของ วิธีดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียน ประกอบเหตุผลในวิธีเหล่านั้นโดยชัดเจน… การสนับสนุนความต้องการรู้เหตุผลที่ต้องเรียนก่อนการเรียน จึงมีรายละเอียดย่อยอยู่สองสามประเด็นที่สำคัญคือ ตอบคำถามว่า… How learning Is conducted หรือ จะเรียนกันอย่างไร กับตอบคำถามว่า… Why learning is important หรือ สำคัญยังไงจึงต้องเรียน… อีกคำถามหนึ่งที่สำคัญคือ… What learning will occur หรือ เรียนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น… ซึ่งทุกคำถามล้วนมี Theories รองรับที่มีรายละเอียดเฉพาะ โดยตัวอย่างที่เด่นชัดคือโปรแกรมฝึกอบรมพนักงานใหม่ขององค์กรต่างๆ ที่ผู้เรียนล้วนตระหนักถึงเหตุผลที่ต้องเรียนอย่างชัดเจน

2. Self-directed Learning หรือ SDL หรือ การเรียนรู้ด้วยตนเอง

ความสับสนเรื่อง Adult Learning กับ SDL หรือ Self Directed Learning เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากมาย ในขณะที่นักการศึกษาส่วนหนึ่ง มีการตีความให้ Adult Learning กับ SDL เป็นเรื่องเดียวกัน… ประเด็นคือ SDL เป็นคุณลักษณะของผู้เรียนวัยผู้ใหญ่ และเป็นเป้าหมายของนักการศึกษาที่อยากให้ผู้เรียนมีทักษะ SDL

ในหนังสือชื่อ Understanding and Facilitating Adult Learning ของ Stephen Brookfield ให้มุมมองเกี่ยวกับ SDL ว่า… เป็นดั่งการสอนตัวเอง หรือมองว่า Self-directed Learning เท่ากับ Self-teaching เพราะผู้เรียนสามารถควบคุมเนื้อหาที่จะเรียนและเทคนิคการเรียน แบบเดียวกับที่ผู้สอนใช้

ในหนังสือชื่อ Self-Direction for Lifelong Learning: A Comprehensive Guide to Theory and Practice ของ Philip C. Candy ก็มีมุมมองไม่ต่างกัน โดยอธิบายว่า… SDL เป็นดั่งเสรีภาพของผู้เรียนที่สามารถควบคุมเป้าประสงค์และวัตถุประสงค์ของการเรียน เสมือนผู้เรียนเป็นเจ้าของหลักสูตรและบทเรียน ซึ่งผู้เรียนได้เห็นชัดทั้งองค์ความรู้และบริบท

SDL เป็นหัวข้อใหญ่มากในมุมมองของผม ความสำคัญและพัฒนาการของ SDL ตลอดหลายปีที่ผมคลุกคลีอยู่กับการวิพากษ์ Crouseware มากมายในทุกบทบาท หลายครั้งก็อธิบาย Andragogy ในมุมของ SDL บ่อยๆ ในขณะที่บางครั้งก็ผสม SDL กับ Pedagogy นำเสนอนายจ้างก็มี… ซึ่งผมเชื่อสนิทใจว่า SDL จะยังพัฒนาต่อไปเพื่อเติบโตเป็นเสาหลักของทฤษฎีทางการศึกษา ที่มาไกลได้กว่า Pedagogy และ Andragogy ซึ่งเทคโนโลยีในวันหน้าอาจเป็นบางส่วนของคำตอบ… รายละเอียดที่จะพูดถึง จึงมีมากเกินกว่าจะเขียนลงบทความรายวันแบบนี้ได้ครบถ้วน… เอาเป็นว่าผมขอติดค้างรายละเอียดไว้ก่อน

3. Prior Experiences of The Learner หรือ ประสบการณ์ก่อนเรียนของผู้เรียน

ประสบการณ์ในอดีตของผู้เรียนมักเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และพฤติกรรมการเรียนอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งการวิเคราะห์ผู้เรียนผ่านมุมมองประสบการณ์ในตัวผู้เรียน คือประตูบานแรกของ Personalized Learning 

เพราะประสบการณ์ของคนไม่มีทางเหมือนกัน คนจึงแตกต่างหลากหลาย… เพราะทรัพยากรมีต่างกัน จึงมีประสบการณ์บนทรัพยากรที่มีและใช้ทรัพยากรที่มีนั้น ให้เป็นประโยชน์กับทุกอย่างรวมทั้งการเรียนรู้ด้วย… และประสบการณ์ที่ผู้เรียนคิดและเชื่อว่าตนไม่รู้ไม่เข้าใจ ทำให้คนๆ หนึ่งเข้าใจรากเหง้าตัวตนของตัวเองอย่างแท้จริงว่า “ไม่รู้แต่อยากรู้จึงยอมเรียนรู้…” และยังตระหนักรู้อีกด้วยว่า ความรู้จะลด Biases หรือความเอนเอียงจากประสบการณ์เดิมและความรู้ความเข้าใจเดิมๆ เมื่อต้อง “ตัดสินใจด้วยองค์ความรู้ใหม่ท่ามกลางบริบทที่ต่างไปจากเดิม…”  การจัดการศึกษาเพื่อผู้ใหญ่ในระยะหลังจึงสนใจประสบการณ์เดิมของผู้เรียนอย่างมาก

โดยส่วนตัวมองว่า… การเข้าใจประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นเรื่องเดียวกันกับการเข้าใจ Persona ของลูกค้า และเป็นเรื่องเดียวกันกับ Personalized Learning ที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ปนคลุกรวมกันท้าทายนักการศึกษารุ่นใหม่อยู่…

4. Readiness to Learn หรือ พร้อมเรียนรู้

ข้อเท็จจริงที่ว่า… ผู้ใหญ่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้โดยอัตโนมัติ “เมื่อชีวิตของตนมาถึงจุดที่ต้องการเรียนรู้” ซึ่งจุดนี้จะสร้างความต้องการ 2 อย่างขึ้นได้แก่ Direction หรือแนวทาง กับ Support หรือ การประคับประครอง 

ประเด็นแนวทาง หรือ Direction… ผู้เรียนมักจะต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการปกติของมนุษย์ ที่ต้องการพึ่งพาคนอื่น “เพื่อเข้าใจแนวทางที่อยากรู้อยากเข้าใจ” โดยเฉพาะการพึ่งพาความช่วยเหลือในแนวทางสำหรับการเริ่มต้น… ส่วนประเด็นการประคับประครอง หรือ Support จากผู้อื่นจะเป็นเรื่องของจิตใจ วนเวียนอยู่กับ “ความเชื่อมั่นกับความมุ่งมั่น” เป็นสำคัญ

นั่นแปลว่า… ผู้เรียนที่มีความเชื่อมั่นในแนวทางและเชื่อมั่นในความสามารถจนกล้ามุ่งมั่น จะพร้อมมากสำหรับการเรียนรู้เข้าขั้นเป็น True Self-directed Learner หรือผู้เรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ซึ่ง Pratt’s Model of Readiness to Learn ได้ทำแผนภาพความสัมพันธ์ของแนวทางกับการสนับสนุนความเชื่อมั่นให้ผู้เรียนเอาไว้… ผู้เรียนที่ต้องการแนวทางและการประคับประคองความเชื่อมั่นในระดับต่ำ จะมีศักยภาพและความพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองที่สูง 

5. Orientation  to Learning and Problem Solving หรือ นิเทศน์การเรียนรู้จากประสบการณ์

การเรียนรู้ที่อิงประสบการณ์ก่อนหน้า จะระบุความต้องการการเรียนรู้อ้างอิง “แนวทางช่วยแก้ปัญหา” ที่เคยประสบ ซึ่งพฤติกรรมทั่วไปของการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ มักชอบการเรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง… ประสบการณ์กับปัญหา จึงถูกมองเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันและเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการศึกษาในกรอบ Andragogy

ประเด็นการเรียนรู้จากประสบการณ์…  David A. Kolb เจ้าของทฤษฎี Kolb’s Experiential Learning Theory ซึ่งเป็น Andragogy สายประสบการณ์ที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางอธิบายว่า ขณะที่ผู้ใหญ่เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตามรูปแบบการเรียนรู้ที่ตนถนัด การเรียนรู้ก็จะเริ่มจากจุดนั้น แม้ผู้ใหญ่จะใช้รูปแบบการเรียนรู้หลากหลาย แต่ผลลัพธ์การเรียนรู้ก็จะไม่ดีเท่าเรียนรผ่านประสบการณ์ที่ตรงกับประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่ง David A. Kolb สร้างโมเดลการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เอาไว้ 4 ขั้นได้แก่

ขั้นที่ 1. Concrete Experience หรือ ประสบการณ์เป็นรูปธรรม เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนมีประสบการณ์ต่างๆ เน้นการใช้ความรู้สึก และยึดถือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเอง

ขั้นที่ 2. Observation and Reflection หรือ การไตร่ตรองและสะท้อนคิด เป็นขั้นที่ผู้เรียนมุ่งทำความเข้าใจความหมายของประสบการณ์ โดยการสังเกตอย่างรอบคอบและไตร่ตรอง

ขั้นที่ 3. Formation of Abstract Concepts and Generalization หรือ สร้างหลักการเชิงนามธรรมและหลักการทั่วไป เป็นขั้นที่ผู้เรียนสร้างคำอธิบายอิงหลักการ เหตุผลและทฤษฎีขึ้นใหม่บนความเข้าใจของตนเองในขณะนั้น

ขั้นที่ 4. Testing Implications of New Concepts in New Situations หรือ การทดลองหลักการใหม่บนบริบทใหม่ เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนนำหลักการทั้งเชิงนามธรรมและหลักการพื้นฐานทั่วไปที่พัฒนาขึ้นใหม่ และที่เรียนรู้ไตร่ตรองมาจากประสบการณ์… ไปทดลองใช้

ซึ่งทฤษฎี Kolb’s Experiential Learning Theory จะวนกลับจากขั้นที่ 4 กลับไปเริ่มขั้นที่ 1 เมื่อการทดลองใช้หลักการใหม่… สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้เรียน จนเป็นรูปแบบวน หรือ Loop ที่มีการใช้ในหลายหลักทฤษฎีในระยะหลัง เช่น หลักการ Design Thinking และ หลักการ Agile… โดยส่วนตัวจึงทิ้งหลักการ Kolb’s Experiential Learning ไปใช้ Design Thinking และ Agile ซึ่งเป็นหลักเรียนรู้จากล้มเหลวที่เป็นรูปธรรมมากกว่า และหากมองผ่านมุมมองทางการศึกษา… ทั้ง Design Thinking และ Agile ล้วนเป็นขบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการแก้ปัญหาไม่ต่างกัน

6. Motivation to Learn หรือ แรงจูงใจต่อการเรียน

แรงจูงใจสำคัญที่โน้มน้าวการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ มาจากแรงจูงใจต่อการจัดการปัญหาเป็นพื้นฐาน แรงจูงใจนี้จะเกิดขึ้นจากภายในเป็นสำคัญ แม้ว่าผลหรือการกระทำใดๆ จะเกิดภายนอกก็ตาม… โมเดลสำคัญจากหนังสือ Enhancing Adult Motivation to Learn ของ Dr. Raymond J. Wlodkowski ชี้ให้เห็นว่า แรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่คือผลรวมของปัจจัย 4 ประการได้แก่

     6.1 Success หรือความสำเร็จ ซึ่งผู้ใหญ่ต้องการเป็นผู้เรียนที่ประสบความสำเร็จและเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ

     6.2 Volition หรือความตั้งใจ ผู้ใหญ่ต้องการรู้สึกว่ามีทางเลือกในการเรียนรู้ และจดจ่อตั้งใจกับทางเลือกของตัวเอง

     6.3 Value หรือคุณค่า ผู้ใหญ่ต้องการเรียนรู้สิ่งที่ตัวเองเชื่อว่ามีคุณค่า และหรือสามารถสร้างคุณค่าให้ตนเองได้

     6.4 Enjoyment หรือความเพลิดเพลิน ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่สนุกเพลิดเพลินทั้งในการเรียนและชีวิตเหมือนวัยอื่นๆ

ประเด็นทั้งหมดเป็นแบบนี้ครับ… ภาพรวมที่นำเสนอตั้งแต่ต้น ล้วนครอบคลุมแนวทางการเข้าถึง Insight ของผู้เรียนเพื่อกระตุ้นผู้เรียนให้ “สนใจใฝ่รู้” จนเกิดการเรียนรู้โดยพึ่งพาตัวเองและมีตนเองเป็นศูนย์กลาง ที่แปลว่า… หลักสูตรการเรียนอันเป็นที่ต้องการที่เกิดโดย “ผู้เรียนอยากเรียน” สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้เรียนในระดับประสบการณ์และการจัดการปัญหาด้วยตัวผู้เรียนเองทีเดียว… สิ่งที่ยากของการจัดการศึกษาแบบ Andragogy ในมุมมองใหม่จึงไม่ใช่บทบาทครูอาจารย์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างเดียว แต่ยังมี Learners’ Insight หรือข้อมูลเชิงลึกของผู้เรียนท้าทายอยู่ด้วย

ตอนหน้าผมจะเอาขอบเขตวิทยาการ Neuroscience ที่เกี่ยวกับ Adult Learner หรือ Andragogy อ้างอิงหนังสือ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development มาเล่าต่อครับ… ขออภัยสำหรับท่านที่ไม่ปลื้ม Theory และหลักการโน่นนี่ที่แซวเข้ามาทางไลน์ทั้งส่วนตัวและ @reder ครับ… โดยเฉพาะสาย Business และ Digital Marketing ครึ่งปีหลังน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตอบรับคำชี้แนะให้เห็น

ขอบคุณที่ติดตาม…

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *