Pivoting Strategies

Pivoting Strategies… กลยุทธ์การปรับทิศให้ธุรกิจไปต่อ

ต้องยอมรับกันแล้วว่า ธุรกิจส่วนใหญ่กำลังย่ำแย่ตีบตันกับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 อยู่ในปัจจุบัน ทุกอย่างในโลกธุรกิจล้วนถูกกระทบกันถ้วนหน้าไม่ต่างกันทั่วโลก ส่วนที่ปรับตัวไวและไปต่อได้ในภาวะที่การประกอบธุรกิจไม่เหมือนเดิม อันเนื่องมาจากลูกค้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากผลกระทบของวิกฤตโควิด และหลายธุรกิจลูกค้าหายไปสิ้นเชิงตั้งแต่ตรุษจีนปี 2020 จนชนตรุษจีนปี 2021 โดยไม่มีวี่แววว่าบรรยากาศการทำธุรกิจแบบเดิมๆ จะเหลืออยู่เป็นความหวังอีกสักเท่าไหร่?

การปรับเปลี่ยนธุรกิจในมือจึงอยู่ในหัวเป็นความเครียดของเจ้าของธุรกิจไม่ต่างกัน ทั้งรายเล็กรายใหญ่ไปจนถึงนักบริหารอาชีพ ซึ่งหลายท่านที่ผมรู้จักถึงขั้นเปรยให้ได้ยินว่า… ใช้ปลายขากุมศรีษะคิดร้อยตลบ ก็ต้องเตรียมคิดตลบที่หนึ่งร้อยหนึ่งต่อว่าจะอยู่รอดท่าไหนได้อีก?

ทุกคนรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนกันแล้ว… แต่จะเปลี่ยนแบบไหนอย่างไรและเมื่อไหร่จังหวะไหน ยังเป็นคำถามตอบยากที่งอกตามการตัดสินใจเปลี่ยนมาอีกเป็นแพต่อแพและต่ออีกหลายแพให้อ่อนใจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนอีกหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับบริบท

ทิ้งแพปัญหาพวกนั้นออกจากหัวก่อนดีมั๊ยครับ… หลายอย่างแม้ว่าจะมองเห็นและรับรู้ได้ว่า ประเด็นปัญหาโน่นนี่ที่รับรู้โดยประสบการณ์และสัญชาตญาณว่าเดี๋ยวก็จะถึงตัวเหล่านั้น… มันยังมาไม่ถึงหรอกครับ โดยเฉพาะปัญหาที่น่ากลัวทั้งหลาย เว้นแต่จะยอมจำนนตอนนี้และรอให้มันมาถึง… แต่ไม่ว่าท่านจะรอโดยพร้อมใจจะจำนนต่อปัญหา ท่านก็คงต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งตอนนี้และตอนนั้น หรือไม่ก็จัดให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้” ซะตอนนี้เลย

ในหนังสือ Lean Startup ได้แนะนำแนวคิดการปรับเปลี่ยนให้ Startup ที่ทำผลิตภัณฑ์และบริการออกมาแล้วแป๊กหรือล้มเหลว… ซึ่งเป็นเรื่องปกติของ Startup ที่เจอแป็กก็ต้องเปลี่ยน… เปลี่ยนแล้วแป๊กก็ต้องเปลี่ยนอีก ซึ่งผมกำลังพูดถึงการ “ปรับทิศทางของผลิตภัณฑ์และบริการ หรือแม้แต่โมเดลธุรกิจ” ให้หาตลาดเจอและเหมาะสมพอจะสร้างธุรกิจบนตลาดนั้น… ซึ่งในกระบวนการหรือกลยุทธ์นี้จะเรียกว่า Pivoting

Pivoting ในวงการสตาร์ทอัพถือเป็นเครื่องมือสามัญ ที่คนทำสตาร์ทอัพต้องยอมรับและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงแบบหมุนหาทางไปรอบทิศ จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบบริบทของธุรกิจที่กำลังก่อร่างและพัฒนาอยู่… แต่ปัญหามีอยู่ว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรจะเปลี่ยนไปทางไหนและเปลี่ยนเมื่อไหร่?… 

ด่านแรกเลยที่ต้องเข้าใจก่อนคือ เราไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนไปทางไหนหรอกและไม่ต้องใส่ใจคิดมากว่าจะไปทางไหน “ให้รู้ว่าไม่ควรไปทางไหนในตอนนี้” ก็เพียงพอแล้วในเบื้องต้น… และประเด็นต่อไปนี้คือข้อพิจารณาว่าต้อง Pivot เพื่อออกจากทางที่ไม่ควรไปกันเดี๋ยวนี้แล้ว ได้แก่

  1. ทุ่มเทโดยไม่คุ้มค่า… ถ้าธุรกิจที่พยายามปลุกปั้นและผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพที่เริ่มลุยมาไม่ถึงสัปดาห์ หรือธุรกิจเก่าแก่ของครอบครัวที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นอากง ถ้าต้องพยายามอย่างยิ่งในแนวทางปัจจุบันแล้วเห็นภาพในอนาคตมีแต่ทรงกับทรุด… นั่นแหละครับสัญญาณ
  2. พบการแข่งขันรุนแรงและเราสู้ไม่ไหว… ประมาณว่าคู่แข่งกินรวบไปเรียบหมดแล้ว อันนี้ก็สัญญาณ
  3. ทางตันและอุปสรรคใหญ่เกินไป… เมื่อประเมินกำลังตัวเองแล้วว่าไม่ไหว ก็ต้องไม่ไหวตามบริบทที่เป็น ตันแล้วคือตัน… หาทางใหม่
  4. พบบริบทหรือตัวแปรในกิจการหลายอย่าง หน่วงการเติบโตส่วนที่ทำได้ดี… สัญญาณนี้ต้องวิเคราะห์หาประสิทธิภาพของทุกบริบทและตัวแปรในธุรกิจ ซึ่งถ้าธุรกิจมีและใช้เครื่องมือประเมินอยู่เดิมเป็นปกติ… ส่วนใหญ่สัญญาณนี้จะเป็นประเด็นน้อยมาก รายละเอียดจึงอยู่ที่การประเมินภายในให้ยุติธรรมที่ถูกต้องแม่นยำ
  5. ตลาดไม่ตอบสนองธุรกิจเรา… หมายความรวมได้ตั้งแต่ลูกค้าเลิกกินเลิกใช้กันหมด หรือเปลี่ยนใจไปกินไปใช้ของคู่แข่งกันหมด… ก็ใช่เวลาที่ต้องหมุนหาทางไปกันแล้ว
  6. มุมมองและวิสัยทัศน์เปลี่ยนแปลง… การทำธุรกิจเป็นความเชื่อมั่นที่เกิดจากข้อมูลและประสบการณ์ที่คนๆ หนึ่งเชื่อว่า สามารถสร้างงานสร้างรายได้ด้วยรูปแบบธุรกิจใดๆ ที่คิดออกและทำได้ในช่วงเวลาหนึ่ง… ซึ่งหลายครั้งเมื่อผ่านไปซักระยะ หลายกรณีมักได้เจอ “ความเชื่อมั่นใหม่ ที่เชื่อมั่นยิ่งกว่าเดิม” ไม่ว่าจะจากประสบการณ์ทำนองไหนก็แล้วแต่… สัญญาณปรับเปลี่ยนนี้ถือว่าแรงมาก

ถึงตรงนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญคือ… จะเริ่มยังไง?

  1. เริ่มทันที… อย่ารอและไม่ควรรอให้มีอะไรพร้อมก่อน เพราะมันยากมากที่จะพร้อมในภาวะที่ สถานะปัจจุบันของธุรกิจก็รับรู้แล้วว่าต้องขยับออกจากทิศทางนี้ให้เร็วก่อนจะหมดโอกาส… ซึ่งการเริ่มทดสอบทิศทางใหม่ที่ “เชื่อว่า” จะเป็นทางออกทันทีจะแปลว่าท่านเจอทางออกแล้ว… เพราะนั่นคือทางออกจากทางที่ไม่ควรไปและ Comfort Zone ที่ข่มขู่เหยียบย่ำท่านด้วยความกลัวสารพัด
  2. เลือกตัวเลือกสนองวิสัยทัศน์ก่อน… ไม่ว่าท่านจะประเมินเห็นอะไร หรือเชื่อว่าเห็นอะไรในทิศทางที่จะเลือก แม้เป็นเพียงลางสังหรณ์ที่ท่านเชื่อว่าใช้ได้ ก็เลือกตัวเลือกหรือทางเลือกที่สัมผัสได้ด้วยวิสัยทัศน์จากมิติใดมิติหนึ่งนั่นแหละ
  3. อย่าทิ้ง Comfort Zone… การเลือกใช้กลยุทธ์ปรับทิศทางเป็นการเปลี่ยนแปลงบางส่วน ไม่ใช่การเปลี่ยนถ่ายทดแทนในทันที จนกว่าการ Pivoting จะให้คำตอบชัดเจนแล้วว่า… ใช่ทิศนี้และพุ่งไปด้วยพลังเท่านี้ ซึ่งจะทำให้การออกจาก Comfort Zone เกิดขึ้นโดยบริบทความสำเร็จของเป้าหมายและผลลัพธ์จากการปรับทิศทางธุรกิจใหม่ มากกว่าจะเกิดจากการตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า…
  4. ให้ลูกค้านำทาง… ซึ่งไม่ว่าท่านเลือกทางไหนด้วยความเชื่อและวิสัยทัศน์อย่างไร สิ่งที่ต้องทำเพื่อยืนยันเส้นทางอย่างสม่ำเสมอคือความเห็นของลูกค้า… ฟังให้มากและทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้ฟังมาจากลูกค้ามากๆ จนมั่นใจได้ว่าเข้าใจไม่ผิด… โดยเฉพาะข้อมูลที่ลูกค้าไม่ได้บอกออกมาตรงๆ
  5. วางแผนใช้ทิศทางใหม่ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน… การปรับทิศทางธุรกิจใหม่ทุกครั้งต้องอ้างอิง “เป้าหมาย” ภายใต้กรอบเวลา หรือ Time Frame หนึ่ง โดยไม่ลืมตรวจสอบตัวแปรต่างๆ ที่จะทำให้ถึงเป้าหมายได้อย่างครบถ้วน รวมทั้งตัวแปรที่จะทำให้ “ไปไม่ถึงเป้าหมาย” ด้วย…  อย่างน้อยต้องชัดเจนว่าไม่มีอุปสรรคใหญ่ หรือมีเหตุให้แผนพังเพราะเรื่องง่ายๆ ที่เกิดได้ง่ายๆ แบบ “ตายน้ำตื้น” 

ประมาณนี้เป็นอย่างน้อย… ความจริงยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากที่เป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งจะต้องปรับไปตามบริบทและทรัพยากรในสถานะปัจจุบัน… 

หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts