Failure Success

Plan For Failures… วางแผนล้มเหลวด้วยกันมั๊ย?

มีคำพูดที่คนเรียน MBA ในวิชาเกี่ยวกับการวางแผนจะได้ยินเหมือนๆ กันเป็นส่วนใหญ่ก็คือ… Hope For The Best But Prepare For The Worst หรือ จงหวังสิ่งดีสุด แต่จงเผื่อสิ่งที่แย่สุด… ซึ่งมีนัยยะมากมายให้ตีความและนำไปปรับให้เข้ากับบริบทที่ธุรกิจในความดูแล “ต้องถูกใส่ใจล่วงหน้า” ด้วยฉากทัศน์หรือ Scenario ที่ครอบคลุมทุกๆ โอกาสที่เป็นไปได้… โดยเฉพาะความล้มเหลว

ประเด็นก็คือ คนส่วนใหญ่บอกเล่าอวดอ้างความสำเร็จขั้นสมบูรณ์แบบ โดยข้ามผ่านข้อเท็จจริงระหว่าง “พยายามจะสำเร็จจนถึงขั้นสมบูรณ์แบบ” ไปเป็นส่วนใหญ่… เหมือนมันไม่เคยเกิดขึ้นและมีอยู่ เหมือนนั่งร้านที่ใช้ค้ำยันระหว่างสร้างปราสาทจนเสร็จ

Elizabeth Day เจ้าของสถิติ Podcast ดังเปรี้ยงใน 8 ตอน กับเนื้อหาชุด How to Fail With Elizabeth Day และยังเป็นผู้เขียนหนังสือ How to Fail ที่เนื้อหาทั้งหมดของเธอสรุปได้สั้นๆ ว่า… ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยง และการเปิดรับความล้มเหลวก็คือการเห็นภาพจริงๆ ของเส้นทางชีวิต… หลายท่านคงเคยมีเรื่องผิดพลาดเกิดกับตัวเองมาบ้าง… เมื่อเวลาผ่านไป หลายเรื่องที่เคยพลาดมานั้น ก็จะกลายเป็นเรื่องน่าขัน ทั้งๆ ที่ช่วงเวลาเกิดเรื่องเหล่านั้น ช่างเครียดขึงเจ็บปวด… ด้วยแนวคิดการเปลี่ยนมุมมองกับความล้มเหลว เหมือนที่ Elizabeth Day เปลี่ยนมุมมองความล้มเหลวผิดพลาดใหม่ เพื่อจะได้หาทางออกหรือวิธีการจัดการใหม่… และข้ามผ่านไปเพื่อเรียนรู้จากล้มเหลวเหมือนอ้าแขนยอมรับความเสี่ยงไปสู่สำเร็จ

แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น… ก็ควรวางแผนล้มเหลวล่วงหน้าเป็นฉากๆ ไว้เลย ซึ่ง Tiffany Delmore ในฐานะ Co-founder ของ SchoolSafe.com  ได้เสนอแนวทางการวางแผนล้มเหลวเอาไว้อย่างน่าสนใจสำหรับธุรกิจ… รายละเอียดคร่าวๆ เธอเสนอเอาไว้แบบนี้ครับ

  1. Have A Savings Safety Net หรือ ควรมีเงินสดสำรอง… เผื่อกรณีฉุกเฉินเกี่ยวกับสภาพคล่อง ซึ่งปัญหาเงินขาดมือแม้ในระยะสั้นๆ ของธุรกิจขนาดใดก็ตามแต่… มักจะส่งผลกระทบระยะยาวจนถึงขั้นล้มได้ไม่ยาก… ถ้าหลายท่านจำได้ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดใหม่ๆ จะมีคำแนะนำเรื่องเงินสดสำรองที่ทุกธุรกิจต้องเผื่อให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ต้องกู้เอาเงินสดมากองไว้ก่อนก็ต้องทำ
  2. Insure Everything หรือ ทำประกันทุกอย่างที่ทำได้… วิธีบรรเทาความเสียหายในธุรกิจ เมื่อเกิดเหตุที่สร้างความเสียหายได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการซื้อประกันล่วงหน้าเผื่อเกิดเรื่องแย่สุดขึ้น อย่างน้อยก็ยังมีหนทางบรรเทาให้เบาลงได้
  3. Use Benchmarks To Cut Your Losses หรือ ใช้เกณฑ์มาตรฐานเพื่อลดการสูญเสีย… ในโลกที่การตรวจสอบและเทียบเคียงเป็นเรื่องง่ายที่จะหาข้อมูลมาเทียบสิ่งที่ธุรกิจของเรา “เคยทำอะไรหรือเคยทำไว้กับใครอย่างไร” ซึ่งการจัดการใดๆ โดยไร้มาตรฐานด้วยความประมาท จนไปทำลายความเชื่อมั่นจากภายนอก โดยเฉพาะลูกค้าคู่ค้า ในยุคที่การสื่อสารบอกต่อเป็นเรื่องแค่ปลายนิ้วคลิก… เรื่องแย่ที่สุดเกิดแล้วตั้งแต่เราไร้มาตรฐานเอง
  4. Build Trust With Financial Projections หรือ สร้างความเชื่อมั่นผ่านมุมมองด้านงบการเงิน… ซึ่งในการทำธุรกิจทุกอย่างนั้น ก่อนที่จะได้รับการเชื่อถือจากลูกค้าหรือคนอื่นภายนอก ธุรกิจต้องการความเชื่อมั่นภายใน ทั้งหุ้นส่วน พนักงานและคู่ค้า โดยความเชื่อมั่นจนถึงขั้นช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างราบรื่นนั้น ทุกฝ่ายต้องการความมั่นคงทางรายได้ที่มั่นใจเพียงพอที่จะทุ่มเทเวลาและทรัพยากรให้… การสื่อสารให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เกิดความมั่นคงทางจิตใจว่าทำงานได้เงินเดือน หรือส่งของแล้วเก็บเงินได้ หรือแม้แต่เชื่อได้ว่าใส่ทุนเข้าไปกำไรแน่นอน… สำคัญกับธุรกิจเข้าขั้นเติบโตหรือไม่ก็ต้องตายทีเดียว
  5. Keep Tabs On Trends หรือ ติดตามแนวโน้มเป็นระยะ… เราโชคดีที่อยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารหาง่ายและแม่นยำกว่าในอดีตมาก การติดตามแนวโน้มผ่านข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ทั้งที่เกี่ยวกับการอยู่รอดและการเติบโตของกิจการ เพื่อปกป้องอนาคตของธุรกิจว่าจะไม่ “ถึงวันหมดอายุ” แบบไม่มีใครกินใครใช้และอยากพูดถึง เหมือนกรณีกล้องถ่ายรูปโกดักที่หลายคนลืมไปแล้วว่าเคยมีใช้บนโลกใบนี้

ประมาณนี้ครับสำหรับพื้นฐานทั่วไป ส่วนท่านที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากก็คงหัวเราะว่าประเด็นช่างฉาบฉวยและผิวเผินยิ่งนัก… เพราะเลยจากประเด็นคร่าวๆ เหล่านี้ไป จะเป็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงที่ต้องใช้เครื่องมือให้สอดคล้องกับบริบท… ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องทักษะและประสบการณ์ของคนบริหารธุรกิจ และส่วนใหญ่ก็ได้เครื่องมือและแนวทางบริหารความเสี่ยงมาจาก “ความล้มเหลว” ในอดีตเป็นส่วนใหญ่

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts