Platform

แพลตฟอร์ม…

แพลตฟอร์มมาจากการเรียกทับศัพท์คำว่า Platform  ที่แปลตรงตัวจะหมายถึงเวที ชานชาลาหรือฐาน หรืออะไรประมาณนี้… แต่ปัจจุบันนิยามของคำว่าแพลตฟอร์ม จะติดกลิ่นดิจิตอลค่อนข้างเยอะ ที่หมายถึงแกนหรือโครงสร้างพื้นฐาน หรือศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางดิจิตอล ที่ดึงดูด Users จำนวนมาก ให้มาใช้ประโยชน์อะไรบางอย่างที่หาได้ในแพลตฟอร์ม

การสร้างแพลตฟอร์มดิจิตอลในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยาก แต่การ “เป็นแพลตฟอร์ม” ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย… ถ้าเปรียบเทียบแพลตฟอร์มดิจิตอล กับแพลตฟอร์มอย่างชานชาลาสถานีรถไฟ… ท่านคงนึกออกว่าชานชาลาที่มีคนใช้บริการ กับชานชาลาร้าง… ก็เรียกว่าชานชาลาได้หมด… แต่ชานชาลาที่ผู้คนสัญจรคึกคัก ย่อมแสดงศักยภาพการเป็นแพลตฟอร์มที่อำนวยประโยชน์ให้ผู้คนได้มากกว่า

ผมกำลังจะบอกว่า… แพลตฟอร์มดิจิตอลก็เช่นกัน ถ้าดิจิตอลแพลตฟอร์มไหนสร้างขึ้น แล้วผู้คนใช้ไลฟ์สไตล์ดิจิตอลบนแพลตฟอร์มนั้นอย่างคึกคัก… ย่อมหมายถึงการเป็นแพลตฟอร์มดิจิตอลไปแล้ว… แต่แพลตฟอร์มดิจิตอลที่ไม่มีผู้คนและร้าง จะแตกต่างจากชานชาลาร้าง ซึ่งไม่มีทางที่ใครจะรู้ว่ามีแพลตฟอร์มดิจิตอลร้างอยู่บนโลก

ดังนั้นดิจิตอลแพลตฟอร์มจึง “สร้างง่าย แต่เป็นไม่ง่าย”… 

ที่สำคัญกว่านั้น  ดิจิตอลแพลตฟอร์มมีความยืดยุ่นของการมีอยู่และเปลี่ยนแปลง สัมพันธ์กับโมเดลธุรกิจที่ดึงดูดผู้คนในโลกดิจิตอล… พูดง่ายๆ ชัดๆ ตรงๆ ก็คือ ท่านจะทำธุรกิจในโลกออนไลน์ทุกวันนี้… ท่านต้องรู้จักเลือกแพลตฟอร์ม เข้าใจเลือกแพลตฟอร์ม และใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เป็น

ในรายงานจากการวิจัยหัวข้อ The rise of the platform enterprise: a global survey โดย Peter C Evans และ Annabelle Gawer ได้ศึกษาแพลตฟอร์มจากธุรกิจชั้นนำ 176 บริษัททั่วโลก ได้แบ่งกลุ่มแพลตฟอร์มตามลักษณะการบริการได้ 4 แบบดังนี้คือ

  1. Innovation Platform 
    เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นระบบซึ่งวางขอบเขตไว้กว้าง ๆ และเปิดให้ผู้อื่นสามารถเข้ามาพัฒนาต่อยอดงานหรือธุรกิจของตนเองได้… และยังสามารถนำมาวางบนแพลตฟอร์มตั้งต้นที่ Innovation Platform ให้บริการได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น Apple iOS หรือ Google Android ที่พัฒนาระบบขึ้นและยินยอมให้ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น iOS และ Android สามารถนำแอพพลิเคชั่นมาวางเพื่อให้บริการผู้ใช้งานรวมถึงจำหน่ายแอพพลิเคชั่นผ่านแพลตฟอร์มของตนเองได้

  2. Transaction Platform 
    แพลตฟอร์มนี้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยทำตัวเหมือนเป็นตลาด ที่ให้ผู้ค้าเข้ามาวางสินค้าของตนเองและเปิดให้ผู้ซื้อสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่แต่ละคนสนใจได้… ยกตัวอย่างเช่น Grab ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ผู้ขับรถแท็กซี่กับผู้โดยสารโดยผู้โดยสารสามารถกำหนดเส้นทางที่ต้องการไปและรับข้อมูลค่าโดยสารโดยประมาณซึ่งทางฝั่งผู้ขับรถแท็กซี่เองก็จะรับทราบจุดหมายรวมถึงค่าโดยสารโดยประมาณที่จะได้ และมีสิทธิ์เลือกว่าจะรับผู้โดยสารที่กำลังเรียกผ่านแอพลลิเคชั่นหรือไม่รับได้ด้วย

  3. Integration Platform
    ให้บริการคล้ายกับ Innovation platform และ Transaction Platform ผสมผสานกันโดยมีลักษณะเป็นตลาดกลางให้ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมซึ่งเป็นบริษัทที่มีสเกลการทำงานใหญ่ขึ้นได้มีโอกาสมาพบกันและร่วมมือกันทำงาน

  4. Investment Platform
    เน้นให้บริการกับเหล่านักลงทุน โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลและเลือกลงทุนผ่านแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นซึ่งรวดเร็วและอำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งสองฝ่าย 

ประเด็นก็คือว่า… ผู้คนซึ่งส่วนใหญ่พาตัวเองไปมีไลฟ์สไตล์แบบดิจิตอล ต่างต้องเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่พวกเขาเห็นประโยชน์… ในจำนวนผู้คนทั้งหมดในแพลตฟอร์มที่มีอยู่ จะมีท่านและลูกค้าของท่านอยู่ด้วยอย่างแน่นอน

คำถามคือ… ท่านใช้แพลตฟอร์มทำธุรกิจเป็นแค่ไหน? และท่านทำธุรกิจเกาะไปกับแพลตฟอร์มไหน?… และทั้งคู่แข่งและคู่ค้าของท่านอยู่บนแพลตฟอร์มไหนบ้าง?

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts