Relationship

Please Driving Your Self Esteem Carefully… โปรดระมัดระวังแรงขับเคลื่อนคุณค่าส่วนตน

การเห็นคุณค่าในตนเองเป็นหนึ่งในแรงจูงใจพื้นฐานสำคัญ ในจำนวนแรงขับมากมายจากภายในของมนุษย์ ที่ขับเคลื่อนตัวตนความคิดและจิตวิญญาณ ให้ไปในทิศทางที่แรงขับทั้งหมด เคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและพัฒนาตนเองต่อเนื่อง ทั้งโดยสัญชาตญาณและโดยวิจารณญาณ

การประเมินคุณค่าตนเองนั้น จะเป็นทั้งการตัดสินตัวเองและทัศนคติที่มีต่อตนเอง อันประกอบด้วยทั้งด้านที่เป็นความภูมิใจในตน และด้านที่อับอายรังเกียจ โดยท้ายที่สุดจะกลายเป็นความเชื่อส่วนตน สะท้อนผ่านอารมณ์ความรู้สึกที่เก็บอยู่กับตัวและสะท้อนออกมาภายนอก

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การศึกษาของนักจิตวิทยามากมายบอกชัดเจนว่า ความเชื่อหรือทัศนคติต่อตนเอง สามารถใช้เป็นเครื่องมือพยากรณ์อนาคตบางอย่างของคนได้ไกลกว่าพฤติกรรมทั่วไประดับ คิดแบบนี้ก็จะทำแบบนั้น… ซึ่งความเชื่อจากการประเมินคุณค่าตนเอง จนเห็นคุณค่าหนึ่งๆ ในตัวเอง จะส่งผลต่อความสุข ความทุกข์ การเรียนรู้ฝึกตนและพัฒนาตัวเอง ไปจนถึงความพึงพอใจในชีวิตและความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมทั้งพฤติกรรมอาชญากรรมด้วย

การเห็นคุณค่าในตนเองที่ประกอบขึ้นบนแกน ความภาคภูมิใจในตน ถือเป็นบุคลิกภาพคงยืน หรือคุณลักษณ์ตัวตน หรือ Trait ในทางจิตวิทยา โดยเฉพาะส่วนที่สะท้อนแง่มุมของ Self Worth หรือ การเห็นคุณค่าของตน… Self Regards ความนับถือต่อตน และ Self Respect หรือการยอมรับต่อตน… ซึ่งความเชื่อในคุณค่าแห่งตน หรือ Self Esteem ที่รวมกันจากทุกแง่มุมตัวตนแล้วเป็นบวก ก็ย่อมจะทำให้คนๆ นั้น มองเห็นค่าของตนเป็นบวกได้ด้วย… 

นั่นแปลว่า… Self Esteem ที่รวมกันทุกแง่มุมตัวตนแล้วเป็นลบต่อตนเอง ทั้งไม่ยอมรับนับถือตน และ เห็นคุณค่าของตนต่ำต้อยด้อยกว่า การเปรียบเทียบใดๆ ที่กะเกณฑ์ขึ้น… จะส่งให้ Self Esteem ของคนๆ นั้นต่ำลงจนอาจถึงขั้นขาดพลังในการผลักดันตนเองไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางบวกได้… หรือแย่กว่านั้นก็ถึงขึ้นปล่อยปละตัวตนเข้าสู่ด้านลบด้วยเห็นตัวเองด้อยค่าติดลบจนเชื่อฝังจำ

ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… มนุษย์ให้คุณค่าต่อตนเองและคนรอบข้างไม่เหมือนกัน แถมยังมีลักษณะเป็นปัจเจกหรือลักษณะเฉพาะของตนเองหลากหลายอย่างยิ่ง… แรงขับจาก Self Esteem ของแต่ละคนจึงแตกต่าง ซึ่งความแตกต่างนี้เองที่หลายครั้ง Self Esteem ของคนๆ หนึ่งที่ประกอบขึ้นจนเป็นความเชื่อเชิงบวก จะเกิดแรงเกินตัวไปขับดัน Self Esteem ของคนใกล้ตัวให้โน้มไปในทางของตน… หรือไม่ก็ปะทะกับแรงขับตัวตนของคนรอบข้าง ที่ไม่ได้อยู่ในทิศทางเดียวกับแรงขับดันตัวตนของเราจนกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์

โดยความเห็นส่วนตัวผมเชื่อตามแนวคิด Sociometric หรือ Sociometer Theory ที่อธิบายความสำคัญและการมีอยู่ของ Self Esteem ว่า… ถูกวิวัฒน์ขึ้นเพื่อวัดหรือตรวจสอบสถานะทางสังคมและการยอมรับจากกลุ่ม… ซึ่งแนวคิดคล้ายกันนี้จะพบในทฤษฎี TMT หรือ Terror Management Theory ที่อธิบาย Self Esteem ระดับภาคภูมิใจตัวเองว่า… มีหน้าที่ปกป้องและลดระดับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความอยู่รอดของชีวิตและความตาย…

ในชีวิตจริง… เราจะพบเห็นคนคุยโตอวดตนต่อคนอื่น ซึ่งเป็นการผลักความเชื่อระดับความภาคภูมิใจออกมาให้คนใกล้ตัวยอมรับ โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการประกาศความภาคภูมิใจกับตนเองไปด้วยพร้อมๆ กันนั่นเอง… ซึ่งการอวดตนก็เพื่อบอกเล่าความเชื่อและทัศนคติของตนที่มีต่อตนเอง เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ซึ่งเป็นธรรมชาติของสัตว์สังคมอย่างมนุษย์ ที่พัฒนามาจากการรวมกลุ่มและการได้รับการยอมรับจากกลุ่มของมนุษย์ ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ที่การยอมรับจากกลุ่มหมายถึงความอยู่รอดมั่นคงต่อชีวิต ตั้งแต่การแบ่งปันอาหาร ช่วยเหลือปกป้องกันและกันจากศัตรูหรือภัยคุกคามอื่นๆ ไปจนถึงการเจริญเผ่าพันธ์ออกลูกออกหลานสืบทอด

ความภูมิใจในตนจึงสำคัญและมีติดตัวมากับมนุษย์ทุกคน… ซึ่งในทางกลับกัน ความภูมิใจในตนที่ได้จากคุณค่าของตน จะสะท้อนมุมมองที่มนุษย์คนหนึ่งมองตัวเองและประพฤติเป็นค่านิยมอุปนิสัยให้คนอื่นเห็นได้ด้วย… ซึ่งหลายกรณีที่ความภูมิใจในตนที่ประพฤติหรือโอ้อวดออกไป กลับได้รับผลสะท้อน หรือ Feedback ด้านลบซ้ำๆ จนทำลายความเชื่อมั่น “คุณค่าของตน” ให้ติดลบ

Professor Carl Ransom Rogers นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้โปรโหมต “จิตวิทยามนุษยนิยม” เคยตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า… รากฐานปัญหาหลายอย่างของมนุษย์ มาจากการเกลียดตัวเองและการมองตัวเองว่าไม่มีคุณค่า และไม่เป็นที่ยอมรับรักใคร่ของใครๆ 

ดังนั้น…ความสำคัญของความภูมิใจในตน จึงเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า การไม่มีความภูมิใจในตน ไม่ใช่เป็นการเสียความเคารพนับถือจากคนอื่น แต่เป็นเพราะการมองตัวเองว่าไม่มีคุณค่า โดยอ้างอิงความเชื่อส่วนตนว่า คนอื่นไม่ยอมรับนับถือตน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าอย่างชัดเจน… Sigmund Freud หรือ ซิกมุนด์ ฟรอยด์เองก็เคยกล่าวไว้ว่า… คนซึมเศร้ามีปัญหาการลดลงของความนับถือตนเองอย่างผิดธรรมดา เป็นการสูญเสียอัตตา หรือ Ego จนหมดความเคารพในตน

ผมพยายามอธิบายเรื่องที่ตัวเองก็เข้าใจความซับซ้อนในประเด็นได้ยากอย่าง Self Esteem และจิตวิทยามนุษย์ มาเรียบเรียงตามความเข้าใจของตัวเองก็เพราะว่า… ผมรู้จักบางคนที่ Self Esteem และความเชื่อส่วนตน ได้ปะทะและเบียดบัง Self Esteem ของคนใกล้ตัว จนก่อผลกระทบกับความสัมพันธ์อย่างน่าเสียดาย ซึ่งบางกรณีเป็นการทำลาย Self Esteem คนใกล้ตัวโดยไม่ใส่ใจเพราะเห็นแต่ตัวตนของตัวเอง จนบางกรณีมีร่องรอยความเครียดและภาวะซึมเศร้าของคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อนร่วมงานและคนใกล้ชิดให้เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่สุขสบาย หรือ Healthy Relationship ระหว่างกัน

ประเด็นจึงมีว่า… คุณค่าในตนเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของคนๆ หนึ่ง การเห็นคุณค่าของตนเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญสำหรับตนเองทุกคน ในขณะที่การทำลายคุณค่าในตนของคนอื่น ก็ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางจิตวิญญาณได้เช่นกัน… ใส่ใจคนรอบตัวด้วยครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts