เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา… Greenpeace Thailand ได้แปลและเรียบเรียงบทความเผยแพร่ จากต้นฉบับบทความเรื่อง New research shows the plastic industry is exploiting COVID-19 to attack reusable bags โดย Perry Wheeler ว่าด้วยการฉวยโอกาสของอุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ท่ามกลางวิกฤต COVID19 ที่พยายามชี้นำสังคมให้กลัวการใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ซ้ำ
ตัวบทความอ้างอิงแถลงการณ์จากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอื่น รวมทั้งรวบรวมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือมากมาย เพื่อแสดงให้เห็นว่า “พลาสติกใช้แล้วทิ้งไม่ได้ปลอดภัยไปกว่าภาชนะและบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ” และด้วยหลักสุขอนามัย เราสามารถใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัย ในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรน่า
Dr. Mark Miller อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยจากศูนย์นานาชาติแห่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติโฟการ์ตี หรือ Fogarty International Center/National Institutes of Health ในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า… “การส่งเสริมการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง เพื่อลดการสัมผัสในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID19 นั้น ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารมากกว่า เมื่อเทียบกับการใช้ภาชนะบรรจุและของใช้ซ้ำอย่างปลอดภัย”
Graham Forbes หัวหน้าโครงการพลาสติกกรีนพีซ หรือ Greenpeace’s Plastics Global Project Leader กล่าวว่า… “น่าตกใจที่อุตสาหกรรมพลาสติก ใช้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดมาส่งเสริมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทำให้คนเลิกใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำเพราะกลัวการติดเชื้อ”
ในขณะที่… สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติก หรือ PLASTICS หรือ Plastics Industry Association ซึ่งสนับสนุนการห้ามแบนพลาสติกทั่วสหรัฐ ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้สามารถ “เผยแพร่โฆษณาต่อสาธารณชนเกี่ยวกับประโยชน์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยจากการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง” โดยอ้างงานวิจัยมากมายเช่น งานวิจัยจาก Princeton University หัวข้อ Aerosol and Surface Stability of SARS-CoV-2 as Compared with SARS-CoV-1 ที่แสดงให้เห็นว่า COVID19 สามารถอยู่บนพื้นผิวพลาสติกได้นานกว่าวัสดุชนิดอื่น ทำให้การใช้ซ้ำเพิ่มความเสี่ยงขึ้นอีกมาก… ซึ่งหนังสือจากสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกสหรัฐอเมริกา ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ส่งผลไปทั่วสหรัฐอเมริกาและนานาชาติ
ประเด็นก็คือ… ปัญหาเรื่องโรคระบาดกับปัญหาขยะพลาสติกน่ากลัวทั้งคู่ ในห้วงที่คู่ขัดแย้งปกป้องแนวคิดและผลประโยชน์ฝ่ายตน ต่างก็เสนอข้อมูลขัดแย้งกันจนไม่รู้จะเชื่อใครและต้องทำอย่างไร เพื่อให้ความน่ากลัวที่ทั้งสองฝ่ายบอกคนอื่นขัดแย้งกันคนละขั้ว… แถมยังไม่ได้มีทางเลือกที่ดีกว่า การเลือกอย่างหนึ่งเสียอย่างหนึ่งแบบนี้
ประเทศไทยบ้านเราเองมีความเคลื่อนไหวจาก PTTGC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด ภายใต้โครงการ PPP Plastic ความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastic… ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย… องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ TBCSD… หน่วยงานภาครัฐ… หน่วยงานภาคเอกชนและหน่วยงานภาคประชาสังคม มาตั้งแต่ปี 2018 โดยเคลื่อนไหวผลักดันตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy และ หลักการ 3Rs ซึ่งประกอบด้วย Reduce หรือ ใช้น้อยๆ… Reuse หรือ ใช้ซ้ำ และ Recycle หรือ นำกลับมาใช้ใหม่
ในช่วงนี้จึงได้เห็นความเคลื่อนไหวของ โครงการ PPP Plastic และ โครงการวน หรือ WON ของ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด ร่วมมือกันในโครงการชื่อสุดเก๋ไก๋ว่า… โครงการ “มือวิเศษXวน” หรือ ปฏิบัติการหมุนเวียนพลาสติกด้วยจุดดรอปพ้อยท์ หรือ Circular in Action – Drop Point of Used Plastic… โดยนำถังรับคืนไปตั้งในสถานที่ต่างๆ เพื่อเก็บถุงพลาสติกที่ใช้แล้ว จำนวน 12 ชนิด ได้แก่ ถุงหูหิ้ว… ถุงช้อปปิ้ง… ฟิล์มหุ้มแพ็คขวดน้ำ… ฟิล์มหุ้มแพ็ค UHT… ซองไปรษณีย์พลาสติก… พลาสติกกันกระแทก… ถุงซิปล็อคซองยา… ฟิล์มห่อสินค้า… ถุงขนมปัง… ถุงน้ำตาลทราย… ถุงน้ำแข็ง… และถุงผักผลไม้ เพื่อนำมารีไซเคิลอีกครั้ง
ระยะแรก ได้วางจุดรับพลาสติกไปแล้ว 300 จุดทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจ.ระยอง อาทิ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 500 จุดภายใน ปี 2563 รวมทั้งขยายผลไปสู่พลาสติกชนิดอื่นๆ พัฒนาโมเดลทางธุรกิจระยะยาว เพื่อตอบรับโรดแมปของทางภาครัฐที่ตั้งเป้านำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ 100% ภายในปี 2570
ช่วยกันดีกว่าต่อว่ากัน เพราะพลาสติกจะยังอยู่กับมนุษย์ไปอีกนาน… แค่ใช้อย่างรับผิดชอบ จะวนใช้ซ้ำหรือวนรีไซเคิลก็ดีทั้งนั้น… และผมคิดว่า บรรยากาศเรื่องพลาสติกส่วนเกินในบ้านเรา เริ่มต้นได้ไม่เลวทีเดียวแม้หนทางยังยาวไกล
#FridaysForFuture ครับ!
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/885965
https://www.nejm.org/doi/10.1056/NEJMc2004973
https://gccircularliving.pttgcgroup.com/th/collaborative-projects