ปูพื้นทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่แบบเน้นๆ มา 2 สัปดาห์กับ 8 บทความก่อนหน้า และขอบคุณสำหรับความเห็นทุกคำติติงที่ส่งถึงด้วยมิตรไมตรี… เกือบทั้งหมดติเตือนเรื่องการใช้คำทับศัพท์ ซึ่งผมไม่อยากแปลหรือตีความเป็นภาษาไทย เพราะยังอยู่ในโหมดการให้ข้อมูลทฤษฎีอยู่… และยืนยันว่า ผมคงจะเขียนแบบเดิมที่เกี่ยวกับทฤษฎีทั้งหมด และขออภัยกับความบกพร่องทุกประการไว้เองทั้งหมดด้วย
และไหนๆ ก็เดินตามหนังสือชื่อ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development ของ Malcolm S. Knowles และคณะ… มาไกลจนทะลุถึงส่วนที่จะบอกแนวทางการประยุกต์ทฤษฎีไปปรับใช้ หรือนำไปปฏิบัติกันแล้ว
บทความตอนต่อจากนี้จึงจะพาท่าน เจาะลึกไปถึง แนวคิดและเครื่องมือ สำหรับเอาทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ หรือ Adult Learning หรือ Andragogy ไปใช้… โดยอ้างอิงหลักการและแนวทางที่เคยมีการสร้างโมเดล และการใช้ ที่พิสูจน์มาแล้ว 6 แนวทางที่น่าสนใจ ได้แก่
1. Whole–Part–Whole Learning Model
2. Facilitating Learning
3. Guidelines for Using Learning Contracts
4. Core Competency Diagnostic and Planning guide
5. Personal Adult Learning Style Inventory
6. Effective Technology Based Adult Learning
ในบทนี้ยังไม่ต้องสนใจรายละเอียดว่าอะไรเป็นอะไรตอนนี้… และขอไม่แปลหรือนิยามเป็นภาษาไทยโดยไม่จำเป็นน๊ะครับ เพราะผมเชื่อว่า เรามาถึงยุคที่คำส่วนหนึ่งควรใช้ทับศัพท์ต้นฉบับไปดีกว่ามานั่งนิยามประดิษฐ์คำภาษาไทยใหม่ เหมือนที่ราชบัณฑิตบัญญัติคำว่า “ข้อมูลมหัต” เรียก Big Data… ซึ่งผมคนหนึ่งหล่ะที่จะไม่ใช้คำที่ราชบัณฑิตสร้างขึ้นให้สับสนและเสียเวลาสลับแป้นพิมพ์สองภาษาเปล่าๆ…
กลับมาที่ประเด็นแนวทางการนำใช้ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งผมยังอ้างอิงหนังสือชื่อ The Adult Learner ของ Malcolm S. Knowles และคณะ เช่นเดิม… และจะพยายามอธิบายเป็นภาษาไทยบนรากศัพท์ที่ต้นฉบับใช้คำสำคัญ… และมาเริ่มกันที่ Whole–Part–Whole Learning Model กันต่อเลย
Whole–Part–Whole Learning Model
Whole–Part–Whole หรือ WPW Learning Model เป็นรูปแบบหนึ่งการเรียนรู้แบบผสมระหว่าง Part Instruction หรือการแยกฝึกแยกสอนเป็นส่วนๆ กับ Whole Learning Model ซึ่งเป็น Grounded Theory หรือทฤษฎีฐานของ Holistic Education หรือ การศึกษาแบบองค์รวม
WPW Learning Model จึงเป็นการสอนแบบรวมศูนย์แยกส่วน ซึ่งนิยมใช้กันอย่างมากในโปรแกรมการฝึกนักกีฬาอาชีพ โดยเฉพาะกีฬาที่เล่นเป็นทีมและใช้วิทยาการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ต่อยอดพรสวรรค์ของนักกีฬาให้กลายเป็นสมาชิกทีม หรือ Team Member ที่ให้คุณค่าสูงสุดกับผลงานของทีม… ซึ่งโค้ชทีมกีฬาที่ใช้โปรแกรม WPW กับนักกีฬาและทีม… หลายกรณีมีการประยุกต์ใช้ซ้อนกันอย่างน่าสนใจ
ส่วนของ Part Instruction หรือการแยกส่วนสอน หรือการแยกตัวประกอบมาสอนให้สอนง่ายเรียนง่าย ซึ่งเป็น “วิธีการ” มากกว่าจะเป็น “หลักการ”
ส่วนองค์รวม หรือ Whole ในโมเดลนี้ที่เป็นรากฐานของการศึกษาแบบองค์รวม หรือ Holistic Education จะอ้างอิงพฤติกรรมบูรณาการ หรือ Integrated Behavior ตามหลักจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ หรือ Gestalt Psychology ที่ระมัดระวังเรื่องแบ่งแยก และให้ความสำคัญกับ “คุณค่าการรวมกัน”
ความย้อนแย้งของ WPW Learning Model จึงเป็นเรื่องแนวทาง “การให้คุณค่าการรวมกัน ด้วยวิธีแยกรายละเอียดไปจัดการ เพื่อนำคุณค่ามารวมกันใช้ประโยชน์” และที่น่าสนใจสุดๆ คือ Whole Model มีความเป็น Adult Learning สุดลิ่ม… ในขณะที่ Part Model ใช้ใน Pedagogy หรือการศึกษาแบบสอนสั่งในเด็กระดับต้น ที่หมายถึงอนุบาลหรือประถมศึกษาด้วยซ้ำ…
ถึงตรงนี้อยากให้ท่านนึกถึงทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง มีสมาชิกทีมเป็นผู้เล่น 11 คนทำหน้าที่ต่างๆ กันในทีม… ซึ่งโปรแกรมการฝึกจริงๆ ที่ทีมโค้ชจะจัดตาราง “ฝึกร่วมทั้งทีม 11 คน” และ “ฝึกแยกรายบุคคล” เพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะที่แต่ละคนในทีมมีไม่เหมือนกัน… ซึ่งการฝึกร่วมและแยกฝึกเพื่อรวมทีมเป็นหนึ่งไปแข่ง คือรูปแบบเดียวกับ WPW Learning Model ที่ใช้ออกแบบการเรียนรู้ท้าทายผู้เรียนผ่าน Learning Segments หรือ เส้นทางการสะสมความรู้และทักษะแต่ละส่วน
บทที่ 13 ของหนังสือ The Adult Learner อธิบายพื้นฐานการนำชุดความรู้หนึ่งวัตถุประสงค์ ไปเตรียมความพร้อมแบบองค์รวมให้เห็นโครงสร้างและรายละเอียดทั้งหมดให้ผู้เรียน “เห็นและเข้าใจ” ภาพรวมทั้งหมด รวมทั้งแผนที่แนวทาง ชี้ไปหา “รายละเอียด” ทุกกิ่งก้านสาขาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบทเรียนที่จำเป็นต่อวัตถุประสงค์
Professor Dr. Richard A. Swanson หนึ่งในทีมผู้แต่งหนังสือ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development ร่วมกับ Malcolm S. Knowles และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Human Resource Development ที่นักวิชาการสาย HR ต่างยกให้ตำราหลายเล่มของ Richard A. Swanson เป็นคำภีร์สำคัญแทบทุกมิติ… และ Richard A. Swanson อธิบายเกี่ยวกับ WPW ไว้ว่า…
ประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนแบบ Whole–Part–Whole Learning ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาสาระที่ต้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงขั้นเข้าใจลึกซึ้ง บรรลุต่อยอดพัฒนาและสร้างสรรค์ใหม่ได้เลย
สิ่งที่น่าสนใจของ The WPW Learning Model อีกอย่างหนึ่งก็คือ สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลย่อยในแต่ละ Part ของ Segment โดยสร้าง WPW Model ให้ทุกๆ Part Segment ได้ด้วย… WPW จึงเป็นที่นิยมใช้ในแวดวงกีฬา และ Human Resource Development กันอย่างกว้างขวาง… ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าที่บ้านเรามีการประยุกต์และเคร่งครัดใช้กรอบ WPW ในการโค้ชกันที่ไหนอย่างไรบ้าง… เอาเฉพาะโค้ชกีฬาบ้านเรา ส่วนใหญ่ก็ดูจาก “บารมี” มากกว่าอย่างอื่น และโค้ชกับแบบ “ธรรมชาติสุดๆ” เป็นส่วนใหญ่… เวลาเปลี่ยนโค้ชหรือเกิดปัญหาขึ้น หลายครั้งจึงต้องสร้างกันใหม่ เริ่มกันใหม่บ่อยๆ ขาดความต่อเนื่องและแบ่งปันต่อยอด… ส่วนโค้ชในแวดวง HR… ผมเห็นหลายองค์กรใช้ Net Idol ที่ตั้งชื่อตัวเองใช้คำว่าโค้ชนำหน้าและตามล่าค่าตัวด้วยเทคนิคปั่นกระแสก็เยอะ… แต่ที่เห็นมีหลักและมีวิชาจริงแท้ ก็พอมีอยู่บ้าง
ส่วนในสถาบันการศึกษา… WPW ถือว่าเป็นหลักย่อยของ Adult Learning ที่ผมยังไม่ค่อยได้ยินใครเอามาใช้ค่อนข้างแน่… แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับสถาบันการศึกษาที่มีงานและหลักสูตรหลากหลายให้พิจารณาร่วมกับทุกตัวแปรที่ต้องคำนึงถึง เอาเป็นว่า… ให้ทราบไว้ว่ามี WPW Model อยู่ในโลกการศึกษาไว้ก่อน
ตอนหน้ามาเจาะรายละเอียดดู “องค์รวมแรก หรือ First Whole และชิ้นส่วนองค์ประกอบ หรือ Part” กันต่อครับ!