ก่อนที่โลกจะมีแต่เรื่อง COVID19 ให้ปวดหัว… กระแสระดับโลกเรื่องหนึ่งที่หนาหูขึ้นทุกวันคือ Gross Domestic Happiness หรือ GDH ถึงขั้นถูกเสนอให้เป็นตัวชี้วัดระดับการพัฒนาของสังคม แทนผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP หรือ Gross Domestic Product มาแล้ว
ประเด็นก็คือ… คนส่วนใหญ่จินตนาการถึงความสุขต่างกัน แถมประสบการณ์ความสุขยังไม่เหมือนกันได้ด้วย แม้ว่าเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมจะเหมือนกันทุกอย่าง… แถมบางเรื่อง บางกรณี เหตุการณ์เงื่อนไขเดียวกัน ยังกระทบสุขทุกข์ต่างกันได้เพราะประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่กระทบจิตใจ ความรู้สึกและทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน
Dr.Daniel Todd Gilbert นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เจ้าของผลงาน Stumbling on Happiness: Why the Future Won’t Feel the Way You Think It Will… และ ผลงานเผยแพร่ประเด็นความสุขในชีวิตคนมากมายที่ศึกษาค้นคว้าผ่านงานวิจัยหลากหลายประเด็นคำถาม โดยเฉพาะงานวิจัยเรื่อง Decisions and Revisions: The Affective Forecasting of Changeable Outcomes ที่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับ “ความสุขว่าด้วย… เปลี่ยนใจได้ กับ หมดสิทธิ์เปลี่ยนใจ”
งานวิจัยได้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาชมรมถ่ายภาพ โดยผู้วิจัยได้ให้นักศึกษาได้ชมนิทัศน์การผลงานของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่างโมเนต์ หรือ Monet ชาวฝรั่งเศส… และนักศึกษาสามารถเลือกพิมพ์ภาพโมเน่ที่ชอบเป็นของตัวเองและเอากลับบ้านได้… กลุ่มหนึ่งได้สิทธิ์เปลี่ยนใจเอาภาพที่สั่งพิมพ์มาคืนเพื่อเลือกพิมพ์ภาพใหม่ได้… อีกกลุ่มหนึ่งเลือกพิมพ์ภาพไหนไป ก็ได้สิทธิ์แค่ชิ้นนั้น ไม่มีสิทธิ์เปลี่ยน
งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า… กลุ่มที่พิมพ์ภาพกลับบ้านโดยไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนใจ มีความพอใจหรือมีความสุขกับภาพที่เลือกมากกว่า กลุ่มที่ได้สิทธิ์เอากลับมาคืนเพื่อพิมพ์ภาพชุดใหม่
อีกประเด็นหนึ่งที่ Elizabeth W. Dunn และ Daniel T. Gilbert กับ Timothy D. Wilson ได้ร่วมกันศึกษาไว้เกี่ยวกับความพึงพอใจผ่านความสัมพันธ์ของ “เงินกับความสุข” หัวข้อ If Money Doesn’t Make You Happy Then You Probably Aren’t Spending It Right พบว่า… 57% พึงพอใจการซื้อประสบการณ์แบบท่องเที่ยวผจญภัย หรือไปต่างถิ่น และอีก 34% พอใจจากการได้ซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุ ประเภท ช้อป ช้อป ช้อป… อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การใช้เงินให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หรือ การช่วยเหลือผู้อื่น หรือ การให้ ที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และปรับปรุงสัมพันธภาพกับผู้อื่น… ถือเป็นหัวใจสำคัญของความสุขอย่างมีนัยยะสำคัญ
นอกจากนั้น งานค้นคว้าประเด็นนี้ยังชี้ว่า… การชะลอการบริโภคความสุขออกไป เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์เรื่องความสุข จากความคาดหวัง เช่น การเดินทางท่องเที่ยวแบบไม่เร่งรีบ แวะนั่นแวะนี่เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างทาง เพิ่มความสุขได้มากกว่า…
ในหนังสือ Stumbling on Happiness: Why the Future Won’t Feel the Way You Think It Will ของ Dr.Daniel Todd Gilbert พูดถึงกลไกความสุขที่มาจากสมอง หรือ ที่ถูกต้องคือ ความสุขมาจากวิธีการทำนายของสมอง… ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ

1. สมองจะใช้ข้อมูลที่ถูกบันทึกหรือรับรู้มาก่อนในอดีต ร่วมกับข้อมูลในปัจจุบัน เพื่อทำนายอนาคตโดยอัตโนมัติ… เพราะสมองจะรับรู้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่หนึ่งขึ้น… ย่อมต้องเกิดเหตุการณ์ที่สองตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งสมองจะใช้กลไกระดับสัญชาตญาณ ซึ่งการทำนายระดับนี้ของสมองแทบจะไม่ต้องใช้ความสามารถใดๆ แบบที่เรียกว่าไม่ต้องใช้สมองเลย และ ความสามารถระดับนี้ก็ไม่ได้มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้น ลิงก็มีความสามารถนี้ด้วย
2. สมองทำนายถึงเฉพาะ “สิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น” ในอดีตและปัจจุบัน แต่มีการคาดการณ์หรือวางแผนจะเกิดในอนาคต ซึ่งเกิดได้เฉพาะกับมนุษย์ผู้ใหญ่ที่มีบริเวณสมองส่วนหน้าสมบูรณ์แล้วเท่านั้น… เพราะมนุษย์ใช้สมองส่วนหน้าคิดหมุนเวียน เรียนรู้อยู่แต่กับข้อมูลในปัจจุบัน ไม่สามารถคาดการณ์ถึงอนาคตหรือวางแผนอนาคตได้อัตโนมัติ… แต่ถ้าใส่ “จินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น” สมองส่วนหน้าจะเป็นเหมือน Time Machine พาไปสู่อนาคต
เมื่อมนุษย์คิดถึงอนาคต… ซึ่งเป็นการคาดการณ์ ถึงขั้นเป็นการเตรียมการล่วงหน้า สามารถทำให้มนุษย์มีความสุข ลดความทุกข์ และสามารถรับมือกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้… ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ยังเกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณที่ “อยากควบคุม อยากมีโอกาสเลือก และอยากคาดการณ์หรือคาดเดาถูก”
งานค้นคว้าของ พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากร… ยกผลการศึกษาวิจัยที่ทำกับ ผู้พักอาศัยในบ้านพักคนชรา 2 กลุ่ม… กลุ่มแรก คนชราจะเป็นผู้กำหนดเวลาให้นักศึกษามาเยี่ยม… กลุ่มที่ 2 นักศึกษาเป็นผู้กำหนดเวลามาเยี่ยม… 6 เดือนต่อมาพบว่า… คนชรากลุ่มแรกมีสุขภาพดีกว่าและเสียชีวิตน้อยกว่า เพราะคนกลุ่มนี้รู้สึกว่าเป็นผู้ควบคุมและเป็นฝ่ายเลือกจึงมีความสุขมากกว่า… แต่เมื่อนักศึกษาหยุดไปเยี่ยมคนชราทั้งสองกลุ่ม ผลกลับกลายเป็นว่า คนชรากลุ่มแรกมีสุขภาพแย่ลงมากกว่าและเสียชีวิตมากกว่า เพราะคนกลุ่มนี้รู้สึกสูญเสียการควบคุมมากกว่าคนกลุ่มที่สอง ความต้องการควบคุม หรือ การเป็นผู้กำหนด จึงทรงพลังอย่างยิ่งต่อทัศนคติเรื่องความสุข… และการควบคุมก็เชื่อมโยงกับทักษะการทำนายโดยสมอง ซึ่งสมองของผู้สูงอายุที่กำหนดให้นักศึกษามาเยี่ยมตามต้องการ แต่นักศึกษาไม่มาตามนัด สมองจึงหลั่ง คอร์ติซอล หรือ Cortisol หรือ ฮอร์โมนแห่งความเครียด
ประเด็นก็คือ… ความสุขเป็นนามธรรมอย่างมาก เพราะเป็นข้อสรุปของการคิดจากสมอง และ การทำงานด้วยกลไกทางประสาทวิทยา ที่เชื่อมโยงกับทุกสิ่งที่เป็นเรา และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรา… ในหนังสื่อ Designing Your Life ของ Bill Burnett & Dave Evans จึงแนะนำเรื่องการเลือก โดยเฉพาะการเลือกหนทางชีวิต ส่วนใหญ่ผลการเลือกจะไม่ได้เป็นแบบที่คาดการณ์ หรือที่สมองคาดการณ์หรือทำนายไว้… ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ การเลือกไม่ใช่เครื่องยันยันว่าใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด ชอบหรือไม่ชอบ… เหมือนนักศึกษาที่ได้สิทธิ์เปลี่ยนภาพ และลังเลจนเปลี่ยนใจในตอนหลัง ทั้งที่ได้เลือกไปแล้ว ซึ่งระหว่างลังเล คนกลุ่มนี้จะคิดวนคิดเวียนเหมือนติดกับดัก ที่ล้อมโดยความพอใจกับไม่พอใจ… กับดักความสุขจึงอยู่ที่ จะยอมจบตั้งแต่เลือก แล้วไปทำอย่างอื่น หรือกลับมาแก้ไขการเลือกเดิมซ้ำๆ จนขาดความสุข
ในหนังสื่อ Designing Your Life ของ Bill Burnett & Dave Evans จึงสรุปไว้เลยว่า… แท้จริงแล้วผลของการเลือก ไม่ได้อยู่ที่ตอนเลือก แต่อยู่ที่หลังจากที่เลือกไปแล้วจะจัดการอย่างไร… ต่างหาก!
อ้างอิง
- http://www.danielgilbert.com/Gilber%20t&%20Ebert%20(DECISIONS%20&%20REVISIONS).pdf
- https://scholar.harvard.edu/files/danielgilbert/files/if-money-doesnt-make-you-happy.nov-12-20101.pdf
- http://v-siam.blogspot.com/2011/12/stumbling-on-happiness.html
- https://positivepsychology.com/daniel-gilbert-research/
- https://www.theodysseyonline.com/synthesized-happiness-lottery-winners-paraplegics-and-monet