The Brain

Pretest Designs for Personalized eLearning… สอบก่อนเรียน

ในการทำวิจัยในชั้นเรียนส่วนใหญ่ ครูอาจารย์จะเอา “ข้อสอบชุดเล็ก” มาประเมินนักเรียนก่อนดำเนินการสอนจนครบตามวัตถุประสงค์แล้วก็ปิดท้ายด้วย “ข้อสอบชุดใหญ่” แล้วก็เอาคะแนนมาเข้าขบวนการทางสถิติเปรียบเทียบและแปรข้อมูล… ซึ่งขั้นตอนการประเมินก่อนเรียน หรือ Pre-Test มักจะทำเพื่อเก็บผลสอบก่อนเรียน เอาไว้เปรียบเทียบกับผลสอบหลังเรียนและสรุปว่านักเรียนรู้มากขึ้นเป็นส่วนใหญ่… ซึ่งผลการวิจัยแบบนั้นย่อมไม่มีทางผิดแน่ๆ เพราะเรียนแล้วก็ต้องรู้มากขึ้นกว่าเดิมอยู่แล้ว

ประเด็นก็คือ… ขั้นตอนการทำ Pre-Test สามารถนำมาสร้างเงื่อนไขประกอบการเรียนการสอนผ่าน eLearning ได้หลายมิติกว่าแค่เก็บคะแนนไว้เปรียบเทียบหลังเรียนเท่านั้น!

โดยส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับ Pre-Test อย่างมากเพราะเชื่อว่า… แนวทางนี้เป็นเทคนิคหนึ่งในการทำความเข้าใจกับผู้เรียน หรือผู้รับสาร หรือ Audience จากคอร์สที่ต้องเตรียมขึ้นอย่างปราณีตและเหมาะสมกับผู้เรียนจริงๆ เหมือนตัดเสื้อให้พวกเขา ที่ต้องมีขนาดหรือ Size ของใครของมัน แม้จะยุ่งยากกว่าการตัดเสื้อโหลขนาดเดียวแจกทุกคนแบบ One Size Fit Alls. แล้วมองแค่ ก่อนใส่เสื้อกับหลังจากมีเสื้อใส่ ทั้งๆ ที่คนใส่เสื้อร่างใหญ่มองดูไกลๆ เหมือนแหนมมัดเดินได้ก็ตาม

บทเรียนหรือคอร์สออนไลน์ก็เหมือนกัน… การมีชุดความรู้ชุดเดียวเพื่อผู้เรียนทุกคนจะไม่มีอีกแล้ว เพราะนั่นคือ จุดอ่อนของการเรียนการสอนแบบครูคนเดียวสอนนักเรียนหลายคนในห้องเดียวกัน… ซึ่ง eLearning นักเรียนไม่ได้นั่งรวมกันในห้องเดียวอีกแล้ว และทั้งหมดต่างสื่อสารกับผู้สอนผ่านระบบที่เป็นซอฟท์แวร์ทั้งจัดการเรียนการสอน  หรือ Learning Management Systems และ บทเรียนออนไลน์ หรือ Courseware ที่สามารถสร้างเงื่อนไขเพื่อจัดชุดความรู้ในบทเรียน ให้เหมาะกับผู้เรียนที่สุดได้ไม่จำกัด

คำถามคือ… ต้องรู้อะไรของผู้เรียนบ้างจึงจะสามารถ “ออกแบบชุดความรู้” ในบทเรียนสำหรับแต่ละพื้นฐานและความต้องการของแต่ละคนที่เรียกว่า Personalized Learning ได้?

ง่ายๆ ก็ใช้แบบสอบถามและข้อสอบนี่แหละครับ เพื่อเข้าถึง Insight ของผู้เรียนแต่ละคน… ซึ่งผมจงใจระบุถึง “แบบสอบถาม” และ “ข้อสอบ” เพื่อแยกประเด็นการวัดและประเมินทัศนคติ ออกจากการวัดและประเมินพื้นฐานความรู้ ก่อนจะรวมแบบสอบถามและข้อสอบเข้าด้วยกันเป็นชุด Pre-Test เพื่อใช้ก่อนเข้าบทเรียน

How To Measure Learning

แนวคิดในการสร้างแบบสอบถาม

ตัวแบบสอบถามก่อนเรียนผมเสนอให้ใช้กรอบ Satisfaction Study กับผู้เรียนโดยเน้นให้ผู้เรียนประเมินตนเองผ่าน “ความพึงใจ” กับวัตถุประสงค์การเรียน… รวมทั้งถือโอกาสแจ้งสิทธิหน้าที่และผลประโยชน์ต่างๆ หรือแม้แต่เงื่อนไขทั้งหมดที่บทเรียนและระบบมีให้… ประเด็นก็คือ การสร้างแบบสอบถาม Satisfaction Study ควรปรับให้ตอบได้ง่ายๆ เช่น เงื่อนไขการใช้งาน 20 ข้อที่ผู้เรียนต้องยอมรับทั้งหมด ก็แจ้งเอาไว้ในคำอธิบายเดียวให้ “ยอมรับและได้เรียน | ไม่ยอมรับและปิดทางเดินโปรแกรม” โดยทั้งหมดในขั้นการสอบถามความพึงใจที่จะเรียนหรือไม่เรียน หรือ รู้วัตถุประสงค์ของการเรียนอย่างดีหรือคิดว่าไม่สำคัญ… ยังสามารถแทรก “การตระหนักรู้ที่จะเรียน” ให้ผู้เรียนได้ด้วย ซึ่งรายละเอียดของแต่ละกรณี ผู้สอนหรือผู้ออกแบบบทเรียนต้องพินิจพิเคราะห์ โดยมองหากลยุทธ์และเครื่องมือเฉพาะของตัวเอง… หลักก็คือ ช่วยผู้เรียนเตรียมพร้อมเพื่อทำข้อสอบวัดความรู้นั่นเอง

คำแนะนำเบื้อต้นเพื่อวางกรอบการทำ Satisfaction Study ก็คือ… ศึกษาการทำ Marketing Satisfaction Research หรือการวิจัยเชิงการตลาดว่าด้วยความพึงพอใจ… ซึ่งในที่นี้เป้าหมายทางการตลาดก็คือ หาความพึงพอใจของผู้เรียนให้เจอกับวัตถุประสงค์การสอนของคอร์สที่ท่านกำลังปลุกปั้นอยู่… และถ้าสามารถทำให้แกะข้อมูลเชิงลึกเหมือนทำ Empathy กับผู้เรียนได้ก็ยิ่งดี

แนวคิดในการออกแบบทดสอบวัดความรู้ก่อนเรียน

ถ้าท่านเคยเรียนคอร์สออนไลน์มาก่อน ท่านจะเห็นว่าคอร์สออนไลน์ทั้งหมดจะมีข้อมูลแจ้งเรื่องพื้นฐานผู้เรียนไว้ว่าคอร์สหรือบทเรียนต้องการพื้นฐานระดับไหน… Basic | Intermediate | Advance ที่จะบอกผู้เรียนว่า ถ้าคอร์สนี้สอน Basic คนที่รู้แล้วก็ไม่ต้องเสียเวลา ส่วนใครที่เริ่มจากศูนย์ก็ต้องเริ่มที่ Basic… เพราะถ้าข้ามไป Intermediate หรือระดับกลางทันทีก็จะเสียเวลาเปล่า เพราะท่านน่าจะไม่รู้เรื่องแน่ๆ ตั้งที่ชื่อเรียก หรืออะไรพื้นๆ ที่คนมีพื้นฐานต้องรู้หมดแล้ว เหมือนจะเรียนสอยผ้าต้องสนเข็มเป็นนั่นเอง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า… การสอบวัดความรู้ก่อนเรียนสำหรับ eLearning ในกรณีทั่วไป ที่ไม่ใช่การวิจัยหาผลการเรียนแบบเปรียบเทียบก่อนเรียนหลังเรียนเหมือนวิจัยในชั้นเรียนทั่วไปแล้วหล่ะก็… จะเป็นการทดสอบเพื่อ “รักษาผลประโยชน์ของผู้เรียน” โดยเฉพาะเวลาที่แม้จะเสียไปกับเรื่องที่รู้ดีอยู่แล้วเพียงห้านาทีสิบนาที… เวลาเหล่านั้นก็มีค่าและมีผลต่อทัศนคติของเนื้อหาการเรียนและคนออกแบบคอร์สการเรียนชุดนั้นๆ เสมอ

ที่จะบอกก็คือ… ถ้าไม่ต้องการเก็บคะแนนความรู้ก่อนเรียนไว้ทำอะไร ท่านทำปุ่มข้าม Pre-Test ให้ผู้เรียนข้ามไว้ได้เลยถ้าเขาต้องการเรียนเนื้อหาทั้งหมดที่ท่านเตรียมไว้แบบไม่อยากข้ามอะไรไป ซึ่งกรณีนี้สามารถใส่ฟังก์ชั่นให้ข้ามการวัดความรู้ก่อนเรียนเอาไว้กับตอนท้ายของ Satisfaction Study ครับ

แต่ในทางเทคนิค… ยังไงท่านก็ต้องเตรียมแบบทดสอบก่อนเรียนอยู่ดี ไม่ว่าท่านจะเดาออกอยู่แล้วรู้ว่าผู้เรียนจะข้ามการทดสอบวัดความรู้ไปก็ตาม… เพราะแค่รายเดียวที่อยากทดสอบ ท่านก็ต้องมีข้อสอบให้เขาคนนี้ทำแล้วครับ… 

ไหนๆ ก็ยาวมาถึงประเด็นออกข้อสอบกันแล้ว มาทบทวนพื้นฐานการออกข้อสอบกันหน่อยน๊ะครับ… แบบว่า “ถึงจะเทศน์นอกคำภีร์ ก็ขอมีพระประธานอยู่ข้างหลังให้อุ่นใจหน่อย” เหมือนที่แฟน Reder บางท่านแซวเข้ามาทางไลน์ @reder เมื่อวาน… ขอบพระคุณกำลังใจไว้ตรงนี้อีกครั้งน๊ะครับ

กลับเข้าเรื่องพื้นฐานการออกข้อสอบหรือแบบทดสอบ… สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ การออกข้อสอบหรือแบบทดสอบก่อนเรียน ควรมุ่งเน้นให้ผู้เรียนตระหนักถึงพื้นฐานความรู้ของตัวเอง มากกว่าที่จะมุ่งเพื่อเก็บคะแนนไปใช้กับวัตถุประสงค์อื่น… รูปแบบข้อสอบที่ใช้จึงเน้นการประเมินเรื่อง “รู้ | ไม่รู้” สิ่งที่กำลังจะได้เรียน… รูปแบบการทดสอบจึงต้องเรียบง่าย กระชับและตรงไปตรงมา ไม่ใช้คำถามลวงหรือโวหารที่ไม่ชัดเจน และสร้างตัวเลือกคำตอบที่แตกต่างชัดเจน โดยไม่ต้องสนใจโอกาสได้คะแนนจากการเดา เพราะการเรียนด้วยตัวเองตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ผู้เรียนยินดีพัฒนาฐานความรู้ของตนเองด้วยตัวเองอยู่แล้ว… 

คำแนะนำตรงๆ ก็คือ ใช้ข้อสอบปรนัยกับตัวเลือกคำตอบง่ายๆ น้อยๆ ก็เพียงพอ… แต่ถ้าจำเป็นต้องซับซ้อนละเอียดละออก็แล้วแต่กรณีครับ!

เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณภาพของแบบทดสอบครับ…โดยกรอบการประเมินคุณภาพแบบทดสอบจะประกอบไปด้วย 

1. Validity หรือ ความเที่ยงตรง… ข้อสอบนี้ต้องสามารถวัดความรู้ ความเข้าใจ หรือทักษะต่างๆ ได้ถูกต้องตรงตามเนื้อหา

2. Reliability หรือ เชื่อถือได้… ข้อสอบนี้จะต้องมีความคงเส้นคงวาในการวัดแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการวัดด้วยเทคนิค Randomization ที่ต้องมี Algorithm ที่เชื่อถือได้

3. Objectivity หรือ ตรงกับวัตถุประสงค์… ข้อสอบต้องมีความชัดเจนตรงไปตรงมากับจุดประสงค์ในการวัดด้วยข้อสอบ ไม่ใช้ข้อคำถามที่สร้างความสับสนหรือแปลความหมายได้หลายแง่

4. Difficulty หรือ ความยากง่าย…  ข้อสอบควรมีมีระดับความยากง่ายอย่างเหมาะสม

5. Discrimination หรือ จำแนกแตกต่างได้… ข้อสอบต้องสามารถแบ่งเด็กเก่งและเด็กอ่อนได้

6. Efficiency หรือ มีประสิทธิภาพ… ข้อสอบและการสอบต้องใช้ทรัพยากรเหมาะสม ไม่สร้างปัญหาแทรกซ้อน

7. Fair หรือ ต้องยุติธรรม… ข้อสอบต้องไม่ทำให้ผู้สอบได้เปรียบหรือเสียเปรียบในทุกกรณี

8. Searching หรือ ค้นหาได้…  ข้อสอบต้องค้นหาความรู้ความเข้าใจจากผู้สอบถึงระดับการนำความรู้ไปวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ รวมทั้งการนำไปใช้ การนำไปต่อยอดสร้างสรรค์อื่นๆ นอกเหนือจากที่รู้และเข้าใจระดับพื้นฐาน… ซึ่งปัจจุบัน การวัดความรู้หรือสอบเพื่อตามหาความรู้เชิงลึก และความเข้าใจแนวกว้าง มีความสำคัญตามแนวคิด T-shaped Skills

9. Exemplary หรือ ต้องท้าทาย…  คำถามต้องท้าทายที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการทำตามอย่าง หรือทำตามความท้าทายและเชิญชวน

10. Definite หรือ ต้องเฉพาะเจาะจง… คำถามต้องไม่กว้างเกินไป  ไม่คลุมเครือ และไม่เล่นสำนวนโวหาร รวมทั้งไม่เปิดให้มีคำตอบคลุมเครือไม่ชัดเจน จนสร้างปัญหากับการประเมินความรู้

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts