ลมหายใจของโรงเรียนเอกชนในวิกฤตโควิดสู่ปีที่ 3

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดอย่างต่อเนื่องตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้ชีวิตทุกคนยุ่งเหยิงซับซ้อน และ มีปัญหาซ้อนปัญหามากมายที่วนเวียนพัวพันอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจระดับธุรกิจ ที่ส่วนใหญ่ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดอย่างยากลำบาก ในขณะที่ธุรกิจบางส่วนก็ต้องปิดตัวล้มเลิกกันไปก็มีมาก ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรง และ มีปัญหาซ้อนปัญหามากมาย รวมทั้งมีปัญหาเสถียรภาพทางธุรกิจมาก่อนจะเกิดวิกฤตโควิดอย่างโรงเรียนเอกชนด้วย

โรงเรียนเอกชนเป็นธุรกิจที่สำคัญของทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย ที่ยังไงๆ ก็ต้องมีโรงเรียนเอกชนเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษา เพื่อเติมเต็มส่วนที่รัฐจัดสรรได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งก็มีทั้งโรงเรียนเอกชนที่เข้ามาช่วยดึงที่นั่งของเด็กจากครอบครัวมีฐานะไปช่วยสอน เพื่อให้มีที่นั่งที่รัฐจัดสรรให้เพิ่มขึ้นสำหรับเด็กๆ ส่วนที่เหลือ… นอกจากนั้นก็ยังมีโรงเรียนเอกชน หรือ โรงเรียนที่เจ้าของไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐ เปิดกิจการโรงเรียนและจัดให้มีการเรียนการสอนเต็มระบบสำหรับเด็กประถม–มัธยมที่ขาดแคลนและด้อยโอกาสในหลายๆ บริบท… ซึ่งผมรู้จักโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง ที่เปิดชั้นเรียนด้วยค่าหัวเด็กจากรัฐไม่ต่างจากโรงเรียนรัฐหลายแห่ง แต่โรงเรียนเหล่านี้เก็บค่าเทอมเพิ่มเติมตามสิทธิ์ได้เพียงเล็กน้อย… ซึ่งในระยะหลังๆ ที่จำนวนหัวเด็กลดลงมาก ต่างก็มีฐานะย่ำแย่ก่อนจะถูกซ้ำเติมในวิกฤตโควิด

ปี 2022… ตัวเลขโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 3,563 แห่งก่อนเข้าสู่วิกฤตโควิด ซึ่งข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2022 กำลังจะหายไปจากระบบมีมากกว่า 1,000 แห่ง… เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ที่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ต่อไป ซึ่งตัวเร่งปัญหามาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 

  1. นักเรียนสมัครเข้าเรียนน้อยลง และ
  2. ผู้ปกครองค้างชำระค่าเทอมเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้ว จากการระบาดของเชื้อเดลตา ต้องเรียนระบบออนไลน์ ผู้ปกครองเรียกเงินค่าเทอมคืน 

นอกจากนั้น ยังพบโรงเรียนอีกกว่า 2,500 แห่งที่ผู้ปกครองค้างค่าเทอมจนขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินจ่ายแม้กระทั่งเงินเดือนครู ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำให้บุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเอกชน 12,253 คนต้องตกงาน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังปิดตัวไปไม่ได้ เพราะต้องรับผิดชอบเงินชดเชยคืนตามกฏหมาย และ อะไรอีกหลายปัญหา… จะอยู่ต่อก็ไม่มีทุน จะปิดไปก็ต้องใช้เงิน

อาจารย์นวลอนงค์ นวลเขียว นายกสมาคมผู้บริหารการศึกษาสถานศึกษาเอกชนจังหวัดปทุมธานี ให้ข้อมูลผ่านเวบข่าวมติชนว่า… โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มา 2 ปี โดยช่วงที่ปิดเรียน ทำให้โรงเรียนไม่มีรายได้ ขณะที่รายจ่ายประจำยังอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งโรงเรียนรับภาระไม่ไหว จึงต้องลดเงินเดือนครู เพื่อให้โรงเรียนอยู่รอด…

อาจารย์นวลอนงค์ นวลเขียว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า… ภาพรวมเด็กลดลงทุกปี… ปีการศึกษา 2565 ไม่ต้องพูดถึง ขณะนี้ยังไม่มีคนเข้ามาสมัครเรียนเลย และ คาดว่าเด็กจะสมัครเข้าเรียนน้อย… โรงเรียนเอกชนเจอปัญหาหนักหนามาก ที่ผ่านมาภาครัฐช่วยเหลือเฉพาะผู้ปกครอง และ นักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกสังกัด ทั้งภาครัฐ และ เอกชน ผ่านนโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของประชาชน 2,000 บาทต่อคน ในภาคเรียนที่ 1/2564… ส่วนของโรงเรียนช่วยเหลือบ้าง เช่น พยายามแก้ไขระเบียบการใช้เงินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เงินในส่วนนี้โรงเรียนไม่ได้ใช้ จึงปรับให้นำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายซื้อสื่อ แบบเรียน แบบฝึกให้เด็ก ทำให้โรงเรียนได้แบ่งเบาภาระลงได้

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนคือ… 

  • เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้นักเรียนโรงเรียนเอกชนได้รับ 100% จะทำให้โรงเรียนไม่ต้องไปเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนกับผู้ปกครอง ลดภาระผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง และ จะช่วยให้นักเรียนอยู่ได้
  • ควรเพิ่มเงินอุดหนุนอาหารกลางวันให้นักเรียนด้วย เพื่อลดภาระผู้ปกครองและโรงเรียนอีกทางหนึ่ง

ส่วนประเด็นที่กระทรวงศึกษาธิการเปิดให้โรงเรียนเอกชนในระบบที่รับเงินอุดหนุนรายหัว สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุกส่งเสริมโรงเรียนในระบบ ไม่เกิน 3,000,000 บาทต่อแห่ง คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ 3 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในการบริหารกิจการโรงเรียนนั้น… ในความเป็นจริง โรงเรียนเอกชนขนาดเล็กไม่สามารถกู้ยืมเพื่อรักษาสภาพคล่องได้เพราะติดระเบียบกฎหมาย

ด้านคุณสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เคลื่อนไหวทำหนังสือถึงรัฐบาลให้เร่งแก้วิกฤต ก่อนโรงเรียนเอกชนที่กำลังเผชิญปัญหาในวิกฤตโควิดจะสร้างผลกระทบวงกว้าง… โดยเตรียมพร้อมที่จะเสนอแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ… ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ 50%… สนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ… จัดงบประมาณชดเชยบุคลากร 5,000 บาทต่อคน เป็นเวลา 3 เดือน… 

ส่วนมาตรการระยะยาว… ได้วางแนวทางขอให้ภาครัฐอุดหนุนโรงเรียนเอกชน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 ปี ก่อนปรับลดเหลือ 70%… ลดภาษี 2 เท่าให้กับผู้บริจาคเงินเพื่อการศึกษา… ให้ครูเอกชนใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มเติมได้… เพิ่มงบอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้โรงเรียนเอกชนที่ประสบปัญหา… ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และ ตั้งกองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ…

โดยส่วนตัวผมก็ได้แต่หวังว่า… ศรัทธาจะยังเหลืออยู่กับทุกๆ โรงเรียนที่พร้อมจะลุกขึ้น และ เริ่มต้นกันอีกครั้งกับลูกหลานที่รอการอบรมสั่งสอนให้ความรู้จากครูทุกคน โดยเฉพาะครูเอกชนซึ่งเราน่าจะได้เริ่มต้นไปพร้อมๆ กันหลังวิกฤตแห่งความทรงจำนี้ผ่านพ้นไป… อย่างน้อย ปัญหาก็ถูกระบุทางออกไว้ได้ดีระดับหนึ่งแล้วหละครับ แต่โรงเรียนที่ไปไม่ไหวจริงๆ ก็ขอให้ข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปเจอสิ่งที่ดีกว่าสำหรับทุกท่านครับ!

ส่วนประเด็นมหาวิทยาลัยเอกชน และ ข้อเรียกร้องหลายประเด็นที่ผมพอจะมีในมือซึ่งก็มีไม่มาก… ผมของดออกความเห็นด้วยเหตุผลส่วนตัวครับ

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts