พฤติกรรมผลัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งจะทำให้ธุระการงานคั่งค้างทับถมไปกองไว้ทำในอนาคต ทำให้อนาคตของคนผลัดวันประกันพรุ่ง สามารถทำนายได้ไม่ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยถ้าไม่ใช่เพราะงานที่คั่งค้างทับถมจนไม่เหลืออนาคตสำหรับโอกาสอื่น คนๆ นั้นก็คงได้รับผลกระทบด้านลบจากการบ่ายเบี่ยงเกี่ยงงานจนไม่ได้ทำให้เสร็จในทันที… ไม่มากก็น้อย
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัวโบคุม หรือ Ruhr-Universität Bochum ในเมืองโบคุม ประเทศเยอรมนีเกี่ยวกับ Procrastination หรือ นิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง มีการใช้แบบสำรวจ และ การสแกนสมองของกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 250 รายเพื่อดูว่า “เป็นคนที่มีแนวโน้มจะรีบจัดการกับภารกิจตรงหน้าอย่างรวดเร็วแค่ไหน” นักวิจัยพบว่ามีสมองอยู่สองส่วนที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะลงมือทำภารกิจตรงหน้าให้เสร็จ หรือ เลื่อนเวลาออกไปเรื่อยๆ แบบผลัดวันประกันพรุ่ง
การสแกนสมองพบว่า… คนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งจะเห็นรูปสมองอมิกดาลา หรือ Amygdala ที่มีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วอัลมอนด์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเหตุผลและอารมณ์มีขนาดใหญ่กว่า และ การเชื่อมต่อของสมองอมิกดาลากับสมองบริเวณที่เรียกว่า DACC หรือ Dorsal Anterior Cingulate Cortex ไม่ดี ซึ่งจะมีผลให้สามารถจัดการกับอารมณ์และสิ่งเร้าที่เข้ามารบกวนได้ไม่ดี ส่งผลต่อความแน่วแน่ในการจัดการกับภารกิจตรงหน้าได้ไม่ดีไปด้วย… Dr. Erhan Genç ในฐานะนักวิจัยจาก Ruhr-Universität Bochum ระบุว่า… คนที่มีสมองส่วนอมิกดาลาใหญ่กว่าคนอื่น มักจะวิตกกังวลว่าหากตัวเองลงมือทำอะไรแล้วจะเกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีตามมา… คนเหล่านี้จึงมีแนวโน้มที่จะลังเลและผัดวันประกันพรุ่ง
ส่วนงานวิจัยจาก Procrastination Research Group หรือ PRG นำโดย Prof. Dr. Tim A. Pychyl ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจาก Carleton University ในแคนาดาพบว่า… คนจะมีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่งหรือไม่นั้น… ขึ้นอยู่กับลักษณะการก่อตัวของเซลล์สมองของคนๆ นั้น โดยมีประเด็นการบริหารอารมณ์ของตัวเอง มีนัยยะแห่งเหตุมากกว่าประเด็นการจัดการเวลา… ข้อสรุปของ Prof. Dr. Tim A. Pychyl จึงมีว่า…
พฤติกรรมผลัดวันประกันพรุ่งเป็นปัญหาของการจัดการกับอารมณ์มากกว่าจัดการเวลา โดยงานวิจัยหลายชิ้นจาก Procrastination Research Group พบรูปแบบของพฤติกรรมผลัดวันประกันพรุ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบคุมอารมณ์ และ พบนัยยะจากสมองส่วนที่ใช้ในการจัดการอารมณ์อย่างอมิกดาลา สามารถครอบงำเหนือความสามารถในการจัดระเบียบตัวเอง
การศึกษาแนวทางการแก้ไขพฤติกรรมผลัดวันประกันพรุ่งของคณะนักวิจัยภายใต้การนำของ Prof. Dr. Tim A. Pychyl หลายหัวข้อชี้ว่า… การฝึกสติ และ การฝึกทำสมาธิมีความเกี่ยวข้องกับการหดตัวของสมองอมิกดาลา และ ยังส่งผลต่อการขยายตัวของส่วนหน้า หรือ Pre-frontal Cortex
ประเด็นก็คือ… พฤติกรรมผลัดวันประกันพรุ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ต่อความสำเร็จล้มเหลว ขาดความสุขในการทำงาน สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองนั้น โดยเนื้อแท้ของปัญหาอาจจะมีมากกว่าเรื่องเวลาและความสามารถ โดยเฉพาะการมีโครงสร้างสมองอมิกดาลาอันเป็นต้นทางของอารมณ์และสัญชาตญาณจนอยู่เหนือเหตุผลจากสมองส่วนหน้า หรือ Pre-frontal Cortex อันเป็นสมองคิดอ่อนแอกว่า
ข่าวดีก็คือ… สมองของคนเรามีความสามารถในการตอบสนอง และ เปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิตที่แปลว่า… เราสามารถฝึกและพัฒนาสมองไม่ให้ผลัดวันประกันพรุ่งได้ โดยข้อเท็จจริงเรื่องนี้ถูกยืนยันโดย Prof. Dr. Caroline Schlüter จาก Department of Biopsychology แห่ง Ruhr-University Bochum ในเยอรมนี
ท่านที่อยาก Productive และ ไม่อยากล้มเหลวเพราะหมดแรงใจจะหยิบทำอะไรในทันที… ลองหาวิธีทำให้สมองถั่วอัลมอนด์มันเล็กลงอีกหน่อย และผมคิดว่าสะสางอะไรๆ ในมือให้เสร็จๆ เป็นอย่างๆ น่าจะเป็นวิธีที่ดีมากพอที่จะกำราบสมองอมิกดาลาถั่วอัลมอนด์ได้ดี… ส่วนท่านที่อยากลองทางสายเจริญสมาธิและปลุกปั้นสติเสียก่อน ผมขอไม่ออกความเห็นครับ!
References…