Fishing

คุณค่าอันท้าทายและอนาคตของ CBI ต่อ Adult Learner

เป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่นักการศึกษาว่า… eLearning ยังมีแง่มุมอันอ่อนไหวท้าทาย ซึ่งนักทฤษฎีการศึกษาหลักๆ ของโลกทุกแนวคิด ก็ยังมีคำถามอีกหลายแง่มุมที่นักการศึกษารุ่นเรา และ รุ่นหลังยังเหลือการบ้านอีกมากที่ต้องแก้ไขจัดการให้ลุล่วง หรือไม่ก็หาทางพิสูจน์จนเป็นที่ประจักษ์ว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่ประกอบกันเป็น eLearning ซึ่งพัฒนามาจาก Computer Based Instruction หรือ CBI นั้น… อาจจะต้องเอาขึ้นหิ้งไว้เล่าเป็นตำนานบางส่วน

ท่านกำลังอ่านบทความชุด… ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นเผยแพร่เป็นชุดความรู้แบบหลายตอน อ้างอิงหนังสือชื่อ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development ของ Malcolm S. Knowles และคณะ… และตอนนี้เป็นประเด็น แนวทางการนำใช้ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ ในแนวทางที่ 6 จาก 6 แนวทางหลัก… และยังอยู่กับเนื้อหาในหัวข้อ Effective Technology-Based Adult Learning ที่ทิ้งค้างไว้จากตอน สถานะและประสิทธิภาพของ CBI… ซึ่งจะว่าไปแล้ว ผมอาจเอื้อมเอาทฤษฎีใหญ่ระดับนี้มาตีความก็เพียงเพื่อจะดันมาสุดทางที่ CBI และ eLearning นี้เอง

ในหนังสือ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development ของ Malcolm S. Knowles และคณะ… พาเรามาถึงท้ายบทที่ 18 ด้วยการสรุปความท้าทายของการเรียนรู้ทฎษฎีการศึกษา เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ จนได้ Theory of Effective Computer-based Instruction for Adults ซึ่ง Elwood F. Holton ทุ่มเทค้นคว้าวิจัยจนเป็นที่ยอมรับในระดับแถวหน้าของโลกเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษาแนวทางนี้…

ซึ่ง Elwood F. Holton ได้ข้อสรุปจากข้อเท็จจริง 9 ประการ ซึ่งมองเป็น “บทบัญญัติของการทำ CBI ก็ได้ หรือจะมองเป็นความท้าทายของออกแบบ CBI หรือ Computer Based Instruction Design ก็ได้…” แต่หลายฝ่าย… โดยเฉพาะ Elwood F. Holton เชื่อว่านี่เป็นคุณค่า Propositions ที่ระบุชัดเจนผ่านกรอบ ทฤษฎีการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ใหญ่ หรือ Theory of Effective Computer-based Instruction for Adults นั่นเอง

มาดูด้วยกันเลยว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง!!!

โจทย์คุณค่าที่ 1: ระดับของ Learner Self-directedness หรือการกำกับตนของผู้เรียน… จะสัมพันธ์ “กลับกัน” กับการสนับสนุนจากภายนอกที่ผู้เรียนต้องการต้องการ… แปลว่า ถ้าผู้เรียนมี Self-directedness ต่ำ จะต้องการ External Support เยอะ

โจทย์คุณค่าที่ 2: ระดับของ Learner Computer Self-efficacy หรือทักษะทางคอมพิวเตอร์ส่วนตนของผู้เรียน…

จะสัมพันธ์ “กลับกัน” กับการสนับสนุนจากภายนอกที่ผู้เรียนต้องการ… แปลว่า ถ้าผู้เรียนรู้ว่าทักษะคอมพิวเตอร์ตัวเองต่ำ จะต้องการ External Support หรือความช่วยเหลือมากขึ้น

โจทย์คุณค่าที่ 3: ระดับของ Learner Self-directedness หรือการกำกับตนของผู้เรียน… จะสัมพันธ์ “กลับกัน” กับองค์ประกอบการออกแบบ CBI ทั้งส่วนของ Instructional Control และ Instructional Support… แปลว่าถ้า CBI ออกแบบไม่เป็นมิตรต่อผู้เรียน หรือ ออกแบบกลไกช่วยเหลือสนับสนุนที่ไร้ประโยชน์ต่อผู้เรียน ซึ่งถือเป็น CBI ที่ออกแบบส่วนการเรียนรู้ได้แย่… จะใช้ได้แต่กลับผู้เรียนที่มี Self-directedness สูงเท่านั้น

โจทย์คุณค่าที่ 4: ระดับของ Learner Computer Self-efficacy หรือทักษะทางคอมพิวเตอร์ส่วนตนของผู้เรียน…

จะสัมพันธ์ “กลับกัน” กับองค์ประกอบการออกแบบ CBI ทั้งส่วนของ Instructional Control and Instructional Support… แปลว่า ถ้า CBI ออกแบบส่วนการเรียนรู้ได้แย่… จะใช้ได้แต่กลับผู้เรียนที่มี Computer Self-efficacy สูงเท่านั้น

โจทย์คุณค่าที่ 5: ระดับของ Learning Goal Level หรือ เป้าหมายการเรียนรู้ จะสัมพันธ์ “กลับกัน” กับส่วนของการออกแบบ Instructional Control และ Instructional Support… แปลว่า ถ้าตั้ง Learning Goal Level ไว้ซับซ้อนหรือเยอะเกินไป จะส่งผลให้การออกแบบหน่วนการเรียนการสอนและการสนับสนุนการเรียนการสอนทำได้ไม่ดี

โจทย์คุณค่าที่ 6: ระดับของ Learning Goal Level หรือ เป้าหมายการเรียนรู้ จะสัมพันธ์ในทางเดียวกันกับการ Instructional Strategy Design หรือ การออกแบบกลยุทธ์การเรียนการสอน… แปลว่า เป้าประสงค์การเรียนรู้ไปทางไหน การออกแบบกลยุทธ์การเรียนการสอนก็จะไปในแนวทางนั้น

โจทย์คุณค่าที่ 7: การออกแบบกลยุทธ์การเรียนการสอน หรือ Instructional Strategy Design ส่งผลโดยตรงต่อการออกแบบหน้าจอ หรือ Screen Design และ Practice Strategy หรือการออกแบบกลยุทธ์การฝึกฝนทดสอบ ในส่วนการออกแบบ CBI… แปลว่า ถ้าออกแบบกลยุทธ์การเรียนการสอนได้ดี ก็จะได้ Screen Design และแบบฝึกหัดหรือข้อสอบอย่างดีสอดคล้องกันไปด้วย

โจทย์คุณค่าที่ 8: ระดับของ External Support หรือ การสนับสนุนจากภายนอก จะสัมพันธ์ “กลับกัน” กับ Instructional Support และ Instructional Control ในส่วนการออกแบบ CBI… แปลว่า ระดับ External Support ที่เข้มข้นหรือมีมาก จำเป็นกับการออกแบบ Instructional Support และ Instructional Control มาไม่ดี

โจทย์คุณค่าที่ 9: ประสิทธิผลของ CBI หรือ The Effectiveness of CBI จะเพิ่มขึ้น เมื่อระดับของ Selfdirectedness, Computer Self-efficacy, Learning Goal Level และ External Support มีครบอยู่ในการออกแบบเดียวกัน… แปลว่าต้องมีครบๆ ครับ

ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… Elwood F. Holton III เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นบริบทการเรียนรู้ หรือการศึกษาแบบผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่จริงๆ โดยวุฒิภาวะ… การเอา CBI มาใช้พัฒนาคนจึงสามารถกำหนดกลยุทธ์การพัฒนา CBI บนโจทย์คนละแบบกับการพัฒนา CBI ในสถานศึกษาอย่างโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย… แต่ทฤษฎีของ Holton ที่ชื่อ Theory of Effective Computer-based Instruction for Adults ก็ไม่ได้คับแคบจนเอามาปรับใช้กับสถานศึกษาไม่ได้… โดยเฉพาะแนวทางการประเมินประสิทธิผลของ CBI ตามกรอบทฤษฎีในบทความตอน สถานะและประสิทธิภาพของ CBI ก่อนนำสื่อการเรียนการสอนไปใช้ หรือไม่ก็แก้ไขจนบกพร่องน้อยที่สุดก่อน 

โดยส่วนตัวผมเห็นงามตามโมเดลของ Holton มาตลอดหากจะพัฒนา CBI หรือ eLearning ทั้งระบบหรือเพียง Learning Goal เป้าหมายเดียว… แต่การประเมิน Learner Computer Self-efficacy ของผู้เรียนในยุคที่ “มือถือคือคอมพิวเตอร์” ซึ่ง CBI ได้ Upgrade มาไกลเท่าๆ กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต… การตีความ Learner Computer Self-efficacy ในทัศนะส่วนตัวของผมจึงมองว่าเป็นเรื่องเล็กลงเรื่อยๆ  และเห็นเล็กลงถึงขนาดที่คอมพิวเตอร์ในมือคือส่วนหนึ่งชีวิตไปแล้ว จนสะท้อนคิดไปถึงการเรียนรู้ผ่านคอมพิวเตอร์ในยุคถัดไปว่า… ไม่น่าจะต่างจากคนโบราณพูดคุยแลกเปลี่ยนวิธีหาปลาในแม่น้ำกับคนข้างบ้านเท่าไหร่…

ผมจึงเชื่อมานานว่า… CBI ยังใหญ่เกินไปสำหรับ “Natural Learning” ที่ยืดยุ่นและกลืนไปกับวิถีอันหลากหลายของผู้คน เหมือนคำแนะนำจากเพื่อนบ้านให้ลองเอาเบ็ดกับเหยื่อล่อไปใช้หาปลา… ซึ่งเป็นการเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนหรือถูกจับมาสอบดูระดับความรู้ แค่เอาสิ่งที่รู้มาใหม่ ไปลองทำและเรียนรู้ต่อไป…

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม โดยเฉพาะการถกเถียงโต้แย้งอย่างสร้างสรรค์ด้วยมิตรไมตรีจนผมกล้าเขียนมาถึงตอนสุดท้ายนี้ หลายการทักท้วงช่วยผมจากมืดบอดได้มาก และหลายคำชมก็หนุนแรงใจได้อย่างสุดวิเศษ… จากใจครับ!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *