พฤติกรรมเอื้อเฟื้อแบ่งปันผู้อื่น หรือ Prosocial Behavior ในลักษณะอยากให้ หรือ อยากช่วย หรือ เป็นห่วงเป็นใย ใส่ใจผลกระทบ คำนึงถึงความเป็นอยู่ของผู้อื่น เกรงใจ เคารพสิทธิ์และสวัสดิภาพของผู้อื่น… อันเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และหรือ สังคมโดยรวม ซึ่งชัดเจนว่ามีแรงจูงใจมาจากความใส่ใจ หรือ Empathy ที่เป็นทักษะทางสังคมที่คิดและกังวลเกี่ยวกับความสุข กับ สวัสดิภาพ และ สิทธิของผู้อื่น
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ… คนที่เอื้อเฟื้อแบ่งปันผู้อื่นก็ได้รับประโยชน์จากพฤติกรรมความดีแบบนั้นหลายประการ… ในบทความเรื่อง The Basics of Prosocial Behavior ของ Kendra Cherry จาก VeryWellMind.com ระบุว่า… ประโยชน์ของพฤติกรรมเอื้อเฟื้อแบ่งปันผู้อื่น หรือ Prosocial Behavior ที่เกิดกับ “ผู้ให้” มีหลายประการเช่น
- Mood-Boosting Effects หรือ ส่งผลในการยกระดับภาวะอารมณ์… โดยรายงานการวิจัยมากมายได้แสดงให้เห็นว่า คนที่มีพฤติกรรมทางสังคมมีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์ที่ดีขึ้น โดยมีอารมณ์ด้านลบไม่บ่อยนัก
- Social Support Benefits หรือ ได้รับประโยชน์และการสนับสนุนจากสังคม… ซึ่งการสนับสนุนจากสังคมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยงานวิจัยมากมายก็ได้แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนจากสังคมส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน รวมถึงการลดความเสี่ยงของความเหงา การดื่มแอลกอฮอล์ และ ภาวะซึมเศร้า
- Stress-Reducing Effects หรือ ส่งผลในการลดความเครียด… โดยข้อมูลจากการวิจัยได้ยืนยันการมีส่วนร่วมในพฤติกรรมเอื้อเฟื้อต่อสังคม ช่วยลดผลกระทบจากความเครียดได้มาก
Professor Dr.John W. Santrock นักจิตวิทยาการศึกษาจาก University of Minnesota ผู้เขียนหนังสือ Child Development กับ Life-Span Development กับ Educational Psychology และ หนังสือจิตวิทยาการศึกษาอีกหลายเล่มที่กลายเป็นเอกสารอ้างอิงหลักในวงการการศึกษาโลกในปัจจุบัน… ซึ่ง Prosocial Behavior ถูกอธิบายโดย John Santrock ว่าเป็นรูปแบบพฤติกรรมทางสังคมที่บริสุทธิ์ที่สุดพฤติกรรมหนึ่ง ซึ่งพบได้ในเด็กเล็กอายุ 12–18 เดือน ที่เด็กๆ จะเริ่มแสดงพฤติกรรมทางสังคมโดยนำเสนอและมอบของเล่นให้พ่อแม่โดยไม่สนใจการชมเชย ซึ่งพฤติกรรมนี้ถูกยืนยันโดย Ross Parke และ Mary Gauvain ผู้เขียนหนังสือ Child Psychology Contemporary View Point ด้วย… โดยนักจิตวิทยาเด็กในปัจจุบันได้ชี้นำให้ระบบการศึกษาปฐมวัยใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของ Prosocial Behavior เป็นแนวทางหลักในการขัดเกลาพฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่จะถูกปูพื้นฐานมาตั้งแต่วัยทารกและหัดเดิน
การพัฒนาและปลูกฝังพฤติกรรมเอื้อเฟื้อและช่วยเหลือแบ่งปัน หรือ Prosocial Behavior ยังมีประโยชน์อย่างมากในสังคมที่มักจะมีบางคนในบางเหตุการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทันที ซึ่งบ่อยครั้งเราได้เห็นพฤติกรรม “ยืนมุงแต่ไม่ยื่นมือ หรือ Bystander Effect” ที่คนจำนวนมากเห็นเหตุการณ์ร่วมกัน แต่เกี่ยงกันเงียบๆ โดยไม่มีใครยอมเป็นคนช่วยเหลือ… ซึ่งเป็นสังคมน่าสมเพชที่ไม่น่าอยู่อย่างมาก!
References…