นโยบายสิ่งแวดล้อมพรรคเพื่อไทย #FridaysForFuture

วันนี้ลอกการบ้านไทยรัฐออนไลน์ ว่าด้วยนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย ซึ่งใครที่เคยติดตามการเสนอความคิดเห็นด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยจากพรรคเพื่อไทยอย่างนายกเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งได้รับโปรดเกล้าจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ไปหมาดๆ โดยก่อนหน้านั้นถือว่า… ความคิดเห็นด้านสิ่งแวดล้อมของท่าน เป็นความคิดเห็นด้านสิ่งแวดล้อมกระแสหนึ่งที่ถูกเสนอเป็นข่าวออนไลน์อย่างกว้างขวางตลอดหลายปีที่รัฐบาลทหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาบริหารประเทศมา… ซึ่งแฟนคลับนายกเศรษฐา ทวีสิน คงจะได้เห็นสิ่งที่ท่านเคยพูดไว้นานแล้ว มาปรากฏอยู่ในนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคเพื่อไทย… ซึ่งสำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้ทำข้อมูลพาย้อนดู “นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม” ของ “พรรคเพื่อไทย” โดยมีการเสนอ… 

ทวงคืนอากาศสะอาด แก้ปัญหา PM 2.5 ที่ทุกต้นตอ… โดยหัวใจของการปราบฝุ่นคือ การผลักดัน พ.ร.บ. อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สร้างความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวางโครงสร้างให้พร้อมต่อการรับมือ เน้นที่การเจรจาระหว่างประเทศตัดปัญหาที่ต้นตอ

นอกจากนั้น… ยังเสนอแก้ไขปัญหาระยะสั้นทันที โดยหน่วยงานรัฐต้องแจ้งเตือนค่าฝุ่นล่วงหน้าให้ประชาชนวางแผนได้ กรณีฝุ่นสูงจะมีการอพยพกลุ่มเสี่ยงให้ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แบบเดียวกับที่รับมือกับภัยพิบัติอื่นๆ พร้อมทั้งแจกหน้ากากให้กลุ่มเปราะบาง รวมถึงสั่งหยุดโรงเรียนเพื่อลดความเสี่ยง… ระยะกลาง จะประสานกับกรมชลประทานให้ปล่อยน้ำเข้านาหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อเปลี่ยนตอข้าวให้เป็นปุ๋ย… สำหรับอ้อยจะประสานโรงงานน้ำตาลให้ลงทุนตัดอ้อยไถกลบแทนการเผา ควบคู่กันไปจะมีการปลูกต้นไม้เพื่อดักจับฝุ่น และ จูงใจให้คนหันมาใช้รถพลังงานสะอาด ด้วยมาตรการทางภาษี… และระยะยาว ต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการปัญหาฝุ่น บังคับใช้กฎหมายกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เจรจากับเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันยุติปัญหาฝุ่นทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือเกษตร เก็บเกี่ยว และ ขุดกลบที่ไม่ต้องเผา เพื่อจัดการฝุ่นให้ถึงต้นตอ ซึ่งทั้งหมดสามารถสรุปเป็นแนวนโยบายได้ 3 หมวดหลัก กับ 17 มาตรการย่อย คือ

  1. เตรียมโครงสร้างพื้นฐาน… โดยระยะสั้นให้แจ้งเตือนเมื่อฝุ่นหนัก(1) แจกหน้ากากให้กลุ่มเปราะบาง(2)… ระยะกลางจะปลูกต้นไม้ช่วยฟอกอากาศ(3) และ ระยะยาวเสนอพัฒนาเครื่องมือการเกษตรเก็บเกี่ยวขุดกลบไร้เผา(4)
  2. ออกกฎหมายและมาตรการ… โดยระยะสั้นสั่งหยุดโรงเรียนเมื่อค่าฝุ่นสูง(5) ดับไฟป่าทั้งปี(6)… ระยะกลางออกกฎหมายควบคุมการสร้างมลพิษของไซต์ก่อสร้าง(7) ใช้ภาษีจูงใจให้เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานสะอาด(8) ปรับเงินอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่ก่อฝุ่น(9) และ ระยะยาว ผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน บูรณาการทุกภาคส่วน(10) และ เพิ่มบทบาทท้องถิ่น รวมทั้งออกแบบผังเมืองใหม่ เพื่อลดการจราจร(11)
  3. ประสานงานร่วมใจ… โดยระยะสั้นเสนอย้ายกลุ่มเสี่ยงไปยังศูนย์อพยพที่มีเครื่องฟอกอากาศ(12) ส่งกำลังและอุปกรณ์จากกองทัพ-มหาดไทยช่วยดับไฟ(13)… ระยะกลาง ให้กรมชลประทานปล่อยน้ำเข้านาหลังเก็บเกี่ยวข้าว ให้ตอข้าวเน่าเป็นปุ๋ย ไม่ต้องเผา(14) ประสานโรงงานน้ำตาลให้ลงทุนตัดอ้อยไถกลบแทนการเผา(15) และ ระยะยาวจะเดินหน้าเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยกันหยุดฝุ่นข้ามพรมแดน(16) รวมทั้งตั้งคณะกรรมการครบทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการเรื่องฝุ่นร่วมกัน(17)

นอกจากนั้น… ผู้สื่อข่าวไทยรัฐยังถอดความปาฐกถาของคุณชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ซึ่งขึ้นกล่าวเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2566 ว่า… พรรคเพื่อไทย ขอยืนยันเจตนารมณ์ธำรงรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ขจัดมลพิษทั้งปวง ที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ การทำมาหากิน คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชนไทย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมแผนรับมือวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังตัวอย่าง “นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม” ที่ประกาศไปแล้วชัดเจน คือ

  1. น้ำจะไม่ท่วม ไม่แล้ง เตรียมการล่วงหน้ารองรับภัยเอลนีโญที่กำลังจะเกิดต่อเนื่อง ความร้อนที่ขยับสูงขึ้นในรอบ 4-5 ปีต่อไปนี้ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี ในปริมาณและเวลาที่ต้องการ ด้วยนโยบายการจัดการน้ำทั้งระบบ
  2. คืนอากาศสะอาด คืนคุณภาพชีวิต คืนศักดิ์ศรีการดำรงอยู่ของคนไทย ด้วยนโยบายแก้วิกฤติ PM 2.5 ที่ต้นตอ ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน พร้อมสร้างข้อตกลงร่วม เจรจาระหว่างประเทศจัดการปัญหาร่วมกัน รวมทั้งผลักดันออกกฎหมายอากาศสะอาด
  3. สร้างพื้นที่สีเขียวคุณภาพ ฟื้นฟูระบบนิเวศ ด้วยนโยบายเร่งรัดออกโฉนด แก้กฎหมาย พิสูจน์สิทธิ จัดหาที่ทำกิน 50 ล้านไร่ ประชาชนอยู่ร่วมทำกินกับป่า ด้วยเงื่อนไขชัดเจนที่ต้องปลูกไม้ยืนต้นตามสัดส่วนที่กำหนด ซึ่งนอกจากเป็นผลประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรแล้ว ยังดียิ่งต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศที่ต้องมีเงื่อนไขการรักษาสิ่งแวดล้อมเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ มาตรการดังกล่าวนี้จึงเป็นรูปธรรม สู่ความเป็นไปได้ที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ Carbon Neutral และ Net Zero ที่แท้จริง ทั้งยังสามารถขาย Carbon credit เสริมพลังทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน 
  4. สำหรับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจและการค้า จะถูกปฏิบัติไปตามทิศทางโลกที่ประเทศไทยเลี่ยงไม่ได้ โดยระบบต่างๆ ที่จะถูกสร้างขึ้นนั้น จะครอบคลุมกว้างขวาง และเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ

โปรดติดตามผลงานด้วยกันครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts