Student with game based learning

Quest to Learn… โรงเรียนสาธิต Game Based Learning

Quest to Learn High School เป็นโรงเรียนระดับมัธยม Grade 6-12 ซึ่งจัดการเรียนการสอนด้วยแนวทาง Game Based Learning ที่มุ่งค้นคว้าและพัฒนาการเรียนการสอนด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอล… ถ้าเทียบกับประเทศไทยก็คงประมาณโรงเรียนสาธิต ที่สามารถพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนออกนอกกรอบการจัดการศึกษาตามมาตรฐานของประเทศได้เอง ซึ่ง Queat to Learn ใน New York ก็ได้รับการสนับสนุนและดำเนินการโดย New York City Department of Education หรือจะเรียกว่าเป็นโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนิวยอร์คก็ไม่ผิด

นวัตกรรมทางการศึกษาและปรัชญาด้านการศึกษาที่ Quest to Learn หรือ Q2L ถูกพัฒนาโดยนักวิชาการด้านการศึกษามากมายของสหรัฐอเมริกา คู่กับนักวิชาการด้านทฤษฏีเกมส์และการเล่น หรือ Game Theorists จากสถาบันการเล่น หรือ IOP หรือ The Institute of Play ในมหานคร New York ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก The MacArthur Foundation

Katie Salen-Tekinbas นักออกแบบเกมส์ผู้ร่วมก่อตั้ง Quest to Learn อธิบายว่า “สิ่งที่พวกเราสร้างขึ้นล้วนตอบสนองต่อสิ่งที่เราประจักษ์ชัดว่า เด็กๆ ถูกละเลยจากโรงเรียนมากขึ้น” ที่หมายถึง การเรียนการสอนแบบดั้งเดิม ดึงดูดนักเรียนในปัจจุบันไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะเด็กถูกวัฒนธรรมดิจิตอลกลืนและผลักดัน จนพฤติกรรมการเรียนรู้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่โรงเรียนก็ไม่ใยดีที่จะสนใจการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้… 

ที่ Quest to Learn ใช้หลักการ 7 อย่าง หรือบัญญัติ 7 ประการของ Game Based Learning ขับเคลื่อนเต็มรูปแบบได้แก่

  1. Everyone is a Participant หรือ ทุกคนต่างมีส่วนร่วม… ซึ่งทุกคนหมายถึงทั้งครูและนักเรียนล้วนมีส่วนร่วมในการแบ่งปันแลกเปลี่ยน หรือ Shared and Exchange ความรู้ ประสบการณ์และกิจกรรมที่ตนเก่งและเชี่ยวชาญได้หมด
  2. Challenge is Constant หรือ ความท้าทายเป็นสิ่งสามัญ… แนวทางและกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นให้นักเรียน “Need to Know” คือวิธีการพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี และต้องมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับความอยากรู้อยากเห็นที่หาได้ไม่ยากเตรียมไว้ใกล้นักเรียน
  3. Learning happens by Doing หรือ การเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำ… ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้และสร้างเสริมประสบการณ์ ถูกวางไว้ให้นักเรียนได้ทดสอบ ลองเล่น ลงมือทำและเปรียบเทียบสอบทานกับหลักการหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
  4. Feedback is Immediate and Ongoing หรือ คำติชมเป็นเรื่องสำคัญและใส่ใจต่อเนื่อง…  โดยนักเรียนจะได้รับการชี้แนะติเตือนตลอดเส้นทางการเรียนรู้ จนบรรลุวัตถุประสงค์การเรียน
  5. Failure is Reframed as Iteration หรือ เปลี่ยนมุมมองความล้มเหลวเป็นการทบทวน… การมองความล้มเหลวเป็นโอกาส ทำให้ทั้งครูและนักเรียนโอบกอดความล้มเหลวผิดพลาดเพื่อแปลงเป็นภูมิปัญญา และมีมุมมองการลองผิดลองถูกเป็นการเรียนรู้ทบทวน
  6. Everything is Interconnected หรือ ทุกสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด… ซึ่งนักเรียนจะแบ่งปันแลกเปลี่ยนการบ้าน กิจกรรม ทักษะและภูมิรู้หรือประสบการณ์ให้คนอื่นในเครือข่าย ในกลุ่มและในสังคม
  7. It Kind of Feels Like Play หรือ ให้รู้สึกดีเหมือนได้เล่น… โดยมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผนึกครู นักเรียน โรงเรียนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ที่หมายถึงให้ผู้เรียนได้ประโยชน์และบรรลุวัตถุประสงค์ของผู้เรียน โดยไม่สอดไส้วัตถุประสงค์ตามอัตตาของผู้สอนหรือคนกำหนดบทบาททิศทางการศึกษาเหมือนในบางประเทศ ที่ปากบอกว่าผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแต่ให้ผู้เรียนโคจรรอบอะไรผุๆ อยู่ดี

ถึงตรงนี้… Quest to Learn นิยามตัวเองว่าเป็นโรงเรียนแบบ Challenge Based Lessons หรือใช้บทเรียนเชิงท้าทายขับเคลื่อนการเรียนการสอนและความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียน อ้างอิงกรอบแนวคิดและปรัชญาการศึกษาด้วยกรอบการดำเนินงานหรือ Framework ชื่อว่า  College and Work Readiness Assessment หรือ CWRA+ โดยมี Council For Aid To Education  ดำเนินงานในรูปสภาช่วยเหลือด้านการศึกษา ช่วยเทียบวัดและประเมินผลการศึกษา และพัฒนาแนวทางการวัดและประเมินผลการศึกษา อ้างอิงฐานความรู้และปรัชญาระดับ State of The Art หรือศิลปะวิทยาการที่เป็นปัจจุบันขณะที่สุด

ประเด็นก็คือ… Challenge Based Lessons มีผลวิจัยยืนยันว่า นักเรียนจาก Quest to Learn “มีคุณสมบัติอันพึงประสงค์” สองสามประการที่สำคัญยิ่งในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลเกินทักษะการจำของมนุษย์ ซึ่งต้องการทักษะอันประกอบด้วย… การเป็นนักคิดอิสระเสรีไม่ติดกรอบ หรือเป็น Independent Thinkers… มีวิจารณญาณและเหตุผลในหลักคิดเป็นทักษะพื้นฐาน หรือ Critical Thinking and Reasoning Skills รวมทั้ง คิดและหาชุดความคิดสร้างสรรเพื่อสะสางปัญหาที่ซับซ้อน หรือ Creative Solutions to Complex Problems

เห็นทีคงต้องไปทำความรู้จักกับ The College and Work Readiness Assessment หรือ CWRA+ ซึ่งเป็นเครื่องมือประเมินผลการศึกษาที่ฝั่ง Game Based Learning ใช้เป็นหลักกันหน่อยแล้วหล่ะ… อย่างน้อยครูอาจารย์ที่สนใจ Game Based Learning จะได้มีข้อมูลเพียงพอที่จะปกป้อง หรือ Defense หลักการที่เชื่อถือได้ยิ่งขึ้น และไม่ถูกลากกลับไปใช้เครื่องมือประเมินชิ้นเดิมที่มีอยู่ให้กลายเป็นเรื่อง “วัดระยะทางเป็นกิโลกรัม” จนกลับไปเจอคำว่า…

ของเดิมก็ดีอยู่แล้วจะต้องดิ้นรนเปลี่ยนแปลงไปทำไม!!!

Featured Image จาก http://www.southflorida.edu

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts