Benjamin Samuel Bloom เป็นนักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกัน ที่เผยแพร่ทฤษฎีการเรียนรู้ที่แวดวงการศึกษาทั่วโลกยอมรับและปรับใช้อย่างกว้างขวาง เนื่องจาก Benjamin Bloom ศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์จำแนกเป็นการเรียนรู้ได้ 3 ทางได้แก่ ทางกายภาพ หรือ ทักษะพิสัย หรือ Psychomotor Domain… ทางจิตใจ หรือ จิตพิสัย หรือ Affective Domain และ ทางสติปัญญา หรือ พุทธิพิสัย หรือ Cognitive Domain
ซึ่งประเด็นพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยปัญญาหรือจนเกิดปัญญา ถือเป็นแก่นของภูมิรู้ที่มนุษย์สะสมผ่าน 3 Domian ของ Bloom… การสอบหรือประเมินความรู้ตามกรอบ Bloom Taxonomy จึงวัดผ่าน Cognitive Domain ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องสติปัญญาโดยตรงเป็นหลัก
โดย Cognitive Domain ของ Benjamin Bloom แบ่งออกเป็น 6 ระดับ ตามความซับซ้อนของพฤติกรรมการเรียนรู้ของสติปัญญามนุษย์ประกอบด้วย

1. Knowledge/Remembering หรือความรู้/การจำ
2. Comprehension/Understanding หรือรู้ลึกซึ้ง/ความเข้าใจ
3. Application/Transferring หรือการประยุกต์/การถ่ายทอด
4. Analysis/Relating หรือการวิเคราะห์/การเชื่อมโยง
5. Evaluation/Judging หรือการประเมิน/การตัดสิน
6. Synthesis/Creating หรือการสังเคราะห์/ความสร้างสรรค์
ประเด็นก็คือ… Bloom’s Taxonomy บอกได้ว่า เรียนแค่ไหนได้อะไรระดับไหน และบอกได้ว่าผู้สอนควรเตรียมสอนแบบไหนอย่างไร เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ถึงขั้นไหนและบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่อย่างไร
ซึ่งแง่มุมการประยุกต์ทฤษฎีไปสู่กิจกรรมการเรียนรู้นั้น ทั้งผู้สอนและนักการศึกษาจึงต้องอ้างอิงให้ได้ว่า จะสอนให้จำหรือสอนให้เข้าใจ หรือไปไกลถึงขั้นรังสรรค์นวัตกรรมพลิกโลก ก็ยังจำเป็นต้องพิจารณาบริบทของกิจกรรมและเครื่องมือทางการศึกษาให้สอดคล้องเทียบวัดกับบริบทตาม Cognitive Domain ของ Benjamin Bloom
ปัญหาใหญ่ของการจัดการเรียนการสอนของไทยที่อยู่ในมือครูอาจารย์ก็คือ ยังหาทางให้นักเรียนนักศึกษา “จำและเข้าใจ” ยังไม่ได้เลย และที่สำคัญก็คือ ครูอาจารย์เองก็ “มีโอกาสน้อยมาก” ที่จะได้ฝึกฝนเรียนรู้เกินระดับการประยุกต์ ที่อยู่แค่ระดับ 3 ใน 6 ของ Bloom’s Taxonomy… พวกเราส่วนใหญ่จึงเติบโตมากับครูอาจารย์ที่อยู่ในขั้น Understanding ที่ถามย้ำอยู่นั่นแหละว่า… นักเรียนเข้าใจมั๊ย?
ประเด็นคือ… คุณภาพบุคคลที่เป็นครูบาอาจารย์ ล้วนพัฒนาศักยภาพได้อีกหลายขั้นไม่ต่างจากนักเรียนหรอกครับ แต่บริบทส่งเสริมการเรียนรู้ที่มองเลยการเรียนการสอนให้จำและเข้าใจ ทะลุไปถึง ประยุกต์ วิเคราะห์ ประเมินและสร้างสรรค์ พวกเราไม่ค่อยมีใครสนใจอะไรเท่าไหร่กันอยู่แล้ว เพราะ “วัฒนธรรมการศึกษาบ้านเรา” ถามหาเพียงความเข้าใจก็เหนื่อยแล้ว เมื่อรวมเข้ากับ “วัฒนธรรมแบบควบคุมและบังคับบัญชา” ที่มุ่งจัดการทุกอย่างให้ได้ภายใต้การควบคุมดูแล… อะไรใหม่ๆ ระดับผลงานสร้างสรรค์และนวัตกรรม จึงไม่อาจปฏิสนธิและจุติ ภายใต้บริบทการควบคุมบังคับบัญชา ที่หลายคนยังงงจนกล้าถามว่า… คนไทยเก่งๆ ก็เยอะ ทำไมเราไม่มีนวัตกรรม???

การเรียกร้องให้อิสระและปลดปล่อยการเรียนการสอน ให้กลับสู่ธรรมชาติการเรียนรู้โดย “ไม่ถูกควบคุม” จึงไม่ใช่ประเด็นเล็กน้อย… ซึ่งความเห็นส่วนตัวผมมองว่า ต้องปลดปล่อยกันตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงห้องเรียนและห้องสอบกันเลยทีเดียว จึงจะเรียกว่าปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริงได้
ประเด็นการสอบแบบ Open Book Exam ซึ่งผมทิ้งค้างรายละเอียดไว้จากบทความเรื่อง Assessment Method Designed สำหรับ Open Book Examination และ Socratic Questions ซึ่งการสอบเป็นอีกครึ่งหนึ่งของการเรียนรู้ และการสอบแบบ Open Book Exam ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งของการปลดปล่อยให้ปัญญาได้เติบโตงอกงาม และไม่ถูกรบกวนขัดขวางการเรียนรู้ ด้วยรูปแบบควบคุมเข้มข้นเพียงเพื่อจะเค้นให้รู้แค่ว่า “ผู้เรียนจำได้หรือไม่ได้” ไปสู่แนวทางการวิเคราะห์เชื่อมโยงและสร้างสรรค์
บทความนี้ผมจะตัดข้ามไปที่การประยุกต์กรอบทฤษฎี Bloom’s Taxonomy เพื่อการเตรียคำถามหรือเตรียมสอบแบบ Open Book Exam… โดยอ้างอิงเอกสารของ Academy of Art University, San Francisco ซึ่งมีแนวทางหรือตัวอย่างการตั้งคำถามเพื่อสอบเทียบขั้นการเรียนรู้ตามกรอบ Bloom’s Taxonomy พอให้ท่านที่กำลังสนใจ ได้ภาพร่างและแนวทางครับ
Knowledge หรือ Remembering
ขั้นนี้จะเป็นการทดสอบดูความสามารถของ “การจดจำ ข้อมูล ความรู้และข้อเท็จจริง” แบบตรงไปตรงมา ซึ่งการตั้งคำถามก็จะถามหาสิ่งที่จำได้ด้วยคำถามอย่างเช่น… อะไรคือ……….?, จงแสดงวิธี……….?, บุคคลนั้นกล่าวอะไรไว้? เป็นต้น
Comprehension หรือ Understanding
ขั้นนี้ของคำถามจะสอบหา “ข้อสรุปและคำอธิบายที่ถูกต้อง” โดยไม่แตะประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นแม้จะมีความสัมพันธ์กันอยู่ ตัวอย่างเช่น… อะไรคือข้อเท็จจริงตามที่……….?, ช่วยอธิบายเรื่อง/เหตุการณ์/กรณี……….?, อะไรคือความหมายที่แท้จริงของข้อความว่า……….? เป็นต้น
Application หรือ Transferring
ขั้นนี้ของคำถามจะค้นหา “แนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากความรู้และความเข้าใจที่มี” ซึ่งทัศนส่วนตัวของผมมองว่า ความรู้ความเข้าใจขั้น Transferring หรือขั้นเห็นประโยชน์ มีความสำคัญในการพัฒนาภูมิรู้ของบุคคลอย่างมาก การสอบวัดทักษะการประยุกต์ถ่ายทอดก็อย่างเช่น… จากข้อมูลชุดนี้ ท่านคิดว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร?, ท่านจะเลือกข้อเท็จจริงชุดไหนไปใช้ใน………. และใช้อย่างไร?, ท่านจะใช้วิธีใดในการ……….? เป็นต้น
Analysis หรือ Relating
ขั้นนี้ของคำถาม “จะสร้างเงื่อนไขด้วยสมมุติฐานเพิ่มเติม ทั้งกรณีตัดข้อมูลหรือตัวแปรออกจากกัน หรือเพิ่มข้อมูลหรือตัวแปรสมมุติเข้าไปร่วมพิจารณาเอาคำตอบ” เช่น… ถ้าไม่มี………. สิ่งนี้จะเหมือนเดิมหรือไม่อย่างไร?, ถ้ามีเงื่อนไขนี้เพิ่มเข้ามา จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรแค่ไหน?, มีอะไรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสิ่งนี้อย่างไรแค่ไหน? เป็นต้น
Evaluation หรือ Judging
ขั้นนี้ของคำถาม “จะถามหาเกณฑ์และหรือให้สร้างเกณฑ์เพื่อใช้ร่วมการประเมินและตัดสินข้อมูล” เช่น… ข้อมูลทั้งหมดนั้นสามารถจัดลำดับอย่างไรได้บ้าง?, ท่านจะพิสูจน์ความถูกต้องของคำตอบนี้อย่างไร?, ท่านมีเหตุผลและประเด็นใดบ้างสนับสนุน……….? เป็นต้น
Synthesis หรือ Creating
ขั้นนี้เป็นการตั้งคำถาม “เพื่อเอาแนวคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากการรวมข้อมูลความรู้และแนวคิด” เช่น… เราจะเปลี่ยนอะไรใน………. เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้บ้าง?, เราจะออกแบบการทดสอบนี้อย่างไร?, ท่านคาดว่าผลลัพธ์ที่ต้องการแก้ไขปัญหา………. ต้องสร้างสิ่งใดและให้มีคุณสมบัติอย่างไร? เป็นต้น
คร่าวๆ พอเป็นไอเดียประมาณนี้ครับ… โดยส่วนตัว “ผมไม่อินกับ Bloom” มาแต่ไหนแต่ไร จึงไม่มีไอเดียมากมายพร่างพรูที่ต้องขออภัยหากผิดพลาดขาดเกินครับ… และโดยส่วนตัวผมมอง Bloom Taxonomy ว่ามีประเด็นปลีกย่อยของแต่ละ Domain แม้จะละเอียดลึกซึ้งโดยไร้ข้อโต้แย้ง แต่ผมรู้สึกว่าแต่ละแขนงย่อยของแต่ละ Domain ก็เป็นทั้ง “กฏและกรอบ” เข้าทาง “การควบคุมบังคับ” มากกว่าจะปลดปล่อยส่งเสริม
กรณีการออกข้อสอบ Open Book Exam อ้างอิง Bloom’s Taxonomy ในทางปฏิบัติ ผมจึงคิดว่าหลายกรณีของกรอบคิดที่แบ่งแยกยิบย่อย ทำให้การบูรณาการของทั้งข้อคำถามและประเด็นการตอบ มีมิติเงื่อนไขหยุมหยิมให้เห็น…
ขอบคุณที่ติดตามครับ!
อ้างอิง