การพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC หรือเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นส่วนสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทั้งจากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การส่งเสริมการท่องเที่ยวการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม และเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มก่อให้เกิดของเสียจากชุมชนและกิจกรรมต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะปริมาณขยะมูลฝอยซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอาจเพิ่มสูงถึง 20.08 ล้านตัน ภายในปี 2580
ดังนั้นการวางแผนจัดการขยะอย่างเป็นระบบ จึงเป็นแนวทางเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโมเดลหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาก็คือโครงการ “ระยองโมเดล” ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่ม PPP Plastic ซึ่งกำหนดเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2565 “ระยอง” จะต้องไม่มีขยะพลาสติกหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้คาดการณ์แนวโน้มปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่ EEC จะเพิ่มขึ้นจาก 9.41 ล้านตัน ในปี 2560 เป็น 20.08 ในปี 2580 เมื่อมีการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบของพื้นที่ EEC
โจทย์ใหญ่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งวางแผนจัดการกับปริมาณขยะที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล และมีกิจกรรมจากการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก และเป็นสาเหตุให้ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดของโลกด้วย
โครงการ PPP Plastic (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการริเริ่มจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2561 กระทั่งปัจจุบัน สามารถขยายเครือข่ายความร่วมมือเป็น 33 องค์กรแล้ว เพราะต่างเล็งเห็นความสำคัญของวิกฤตขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในท้องทะเลและในชุมชนต่าง ๆ โดยได้นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาสร้างโมเดลที่เป็นรูปธรรมในการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำอีกหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่ขั้นการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อให้พลาสติกสามารถรีไซเคิลได้ 100% ส่วนผู้บริโภคต้องรู้จักวิธีการทิ้งและคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี รวมทั้งการสร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการคัดแยกขยะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จนเกิดเป็นห่วงโซ่คุณค่า หรือ Value Chain ของการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ
คุณภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย ขยายความว่า PPP Plastic ตั้งใจสร้างโมเดลขึ้นมา 2 จุด คือโมเดลเมืองสร้างที่กรุงเทพฯ เริ่มที่เขตคลองเตย และโมเดลจังหวัดสร้างที่ระยองซึ่งมีความพร้อมสูงสุด เพราะเป็นจังหวัดชายฝั่งตรงตามยุทธศาสตร์การจัดการขยะในเวทีโลกที่ต้องการเห็นการจัดการขยะพลาสติกในพื้นที่ Sensitive Area อีกทั้งยังเป็นจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งการดำเนินงานขององค์กรพันธมิตรตั้งอยู่ มีทีมงานพร้อมสร้างโมเดลให้เกิดขึ้นได้ง่าย ขณะที่ผู้นำท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด, อบจ. และ อปท. ตลอดจนหัวหน้าชุมชน ยังมีความเข้มแข็งและมีความพร้อมที่จะจัดทำโมเดลนี้ร่วมกับภาคเอกชน
สอดคล้องกับข้อมูลจากคุณปราณี ภู่แพร ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่เห็นว่า การเลือกจังหวัดระยอง เป็นพื้นที่เป้าหมายเพื่อนำร่องจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เพราะมีความพร้อมหลายด้าน ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลขยะ การตื่นตัวของชุมชน อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะเกิดการขยายตัวของเมืองอีกมากในอนาคต รวมทั้งมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และภาครัฐที่เข้มแข็งมีความพร้อมในการดำเนินงาน จึงเหมาะสมที่จะเป็นจังหวัดเริ่มต้นในโครงการนี้
คุณปราณีเล่าเพิ่มเติมว่า… ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 มีเทศบาลสนใจเข้ามาร่วมโครงการทั้งสิ้น 18 แห่ง 275 ชุมชน กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ระยอง 1 แห่ง จากจำนวนเทศบาลทั้งหมด 67 แห่ง โดยเทศบาลทั้ง 18 แห่ง ภาคเอกชนได้เข้าไปรณรงค์ให้ความรู้ครัวเรือนในการคัดแยกขยะพลาสติก เพื่อส่งต่อยังชุมชนและเทศบาลนำไปจัดการอย่างถูกต้อง ไปจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่า
นอกจากนี้ เทศบาลยังกำหนด KPI ภายใต้แคมเปญ 1 เทศบาล 1 ชุมชนต้นแบบ เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบที่มีความสามารถในการคัดแยกขยะจนเกิดเป็นรายได้ ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 7 ชุมชนแล้ว และปีนี้ตั้งเป้าหมายจะขับเคลื่อนให้ได้ 27 ชุมชน เพื่อเกิดเป็นต้นแบบที่ขยายวงกว้างมากขึ้น รวมทั้ง… ขับเคลื่อนอีกหลายโครงการ เช่น อำเภอสะอาด ตำบลสะอาด โรงเรียนสะอาด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะที่สูงถึงปีละ 328 ล้านบาท ช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐลงอีกทาง
หน้าที่หลักของทีม PPP คือทำอย่างไรให้ชุมชนสมัครใจเรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะ และต้องประชุมติดตามผลอย่างต่อเนื่องทุกเดือนด้วย เพื่อเพิ่มโปรแกรมการรณรงค์และเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่ากับทั้งโรงคัดแยก และโรงหล่อ หรือเข้าสู่กระบวนการ Upcycling เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติก โดยจะดำเนินการต่อเนื่องตลอด 5 ปีนี้ กระทั่งเห็นว่ามีการคัดแยกขยะทุกชุมชน ทุกเทศบาลในจังหวัดระยอง และไม่มีขยะที่นำไปฝังกลบ (Zero to Landfill) จนในที่สุดคือมีขยะในทะเลลดลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีขยะพลาสติกในทะเลไทยทั้งหมดราว 10,000-30,000 ตัน
สำหรับแผนกลยุทธ์และแนวทางดำเนินโครงการ PPP Plastic ในปีแรก ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่
- สร้างเครือข่ายชุมชน เชื่อมโยงแหล่งผู้รับซื้อขยะพลาสติกแต่ละพื้นที่ รวบรวมข้อมูลในแต่ละชุมชน เทศบาลอย่างละเอียด
- วางแผนให้ความรู้กับผู้นำเทศบาล ชุมชน ชาวบ้าน และนักเรียนในพื้นที่เป้าหมายในการคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะพลาสติก
- ประสานงานระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานรัฐ เช่น อบจ. เทศบาล เพื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ขยายผลสู่เยาวชน โดยให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกต้องตั้งแต่ในโรงเรียน เพื่อขยายผลสู่คนในครอบครัว
ส่วนการดำเนินงานในปีที่ 2 จะขยายผลสู่ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ทุกแห่งใน จ.ระยอง ร่วมรณรงค์การคัดแยกขยะพลาสติก เกิดการชักจูงผู้ค้าในห้างสรรพสินค้า ให้คัดแยกขยะพลาสติกออกจากขยะอินทรีย์ก่อนทิ้ง เพื่อช่วยลดต้นทุนในการกำจัดขยะ
และปีที่ 3 จะมุ่งขยายผลสู่กลุ่มโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้คัดแยกและจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี
ข้อมูลจากคุณณัฐพงศ์ จิรวัฒนาวรกุล ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ประจำโรงงาน กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย เผยเป้าหมายภายใน 5 ปีนี้ (2561-2565) ทุกเทศบาลใน จังหวัดระยอง จะต้องเข้าร่วมโครงการทั้งหมด และทำให้ขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบรีไซเคิล รวมทั้งระบบโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ทำให้ภายในปี 2565 จังหวัดระยอง จะไม่เหลือขยะพลาสติกหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมและไม่มีขยะพลาสติกไปที่หลุมฝังกลบ
ซึ่งปัจจุบัน จ.ระยอง ผลิตขยะทั้งหมดประมาณเดือนละ 15,000 ตัน ส่วนใหญ่กว่า 60% เป็นขยะอินทรีย์ ที่เหลือราว 30% หรือประมาณ 3,000 ตัน เป็นขยะพลาสติก ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกสะอาดใน 18 เทศบาล และ 1 อบจ.ระยอง เพียง 40-45 ตันต่อเดือน ซึ่งจะต้องถูกกำจัดอย่างถูกวิธีทั้งหมด
ขณะนี้… ขยะจากทุกเทศบาลจะเข้ามาที่ศูนย์บริหารจัดการขยะครบวงจร จ.ระยอง เป็นจุดสุดท้ายของการจัดการขยะทั้งหมด ซึ่งภายในปี 2563 จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และจะมีโรงคัดแยกแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าที่เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐ คือ อบจ.ระยอง กับภาคเอกชนคือ GPSC และโรงไฟฟ้าชีวมวลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายดึงขยะพลาสติกไปรีไซเคิลให้ได้ไม่ต่ำกว่า 10% ของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดที่มีอยู่ 3,000 ตันต่อเดือน หรือคัดแยกพลาสติกมารีไซเคิลได้ไม่ต่ำกว่า 300 ตันต่อเดือน ช่วยลดต้นทุนในการกำจัดขยะและสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยหากคำนวณจากราคารับซื้อขยะพลาสติกเฉลี่ยที่ 10 บาท จะทำให้ชุมชนมีรายได้ประมาณ 3 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือชุมชนวังหว้าที่มีประชากร 500 หลังคาเรือน แต่มีระบบการบริหารจัดการขยะในชุมชนที่มีประสิทธิภาพสามารถสร้างรายได้กว่า 10,000 บาทต่อเดือน สามารถนำรายได้ส่วนนี้กลับมาสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน เช่น โครงการให้บริการฟรีไวไฟ และการให้เงินกู้ยืมทางการศึกษา
นอกจากนี้ โครงการ PPP Plastic ยังสร้างอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุในระดับชุมชน โดย ปาณฑรา สุธีระวงศา ผู้ช่วยผู้จัดการกิจการเพื่อสังคม ธุรกิจ เคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวเสริมว่า งานคัดแยกขยะสะอาดออกจากขยะที่ปนเปื้อนไม่ต้องใช้ทักษะสูง ทำให้ผู้สูงอายุสามารถที่จะทำงานนี้ได้ นอกจากสร้างรายได้ให้เดือนละประมาณ 2,000-3,000 บาท ยังสร้างคุณค่าในตัวเองให้แก่ผู้สูงอายุด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การจัดการขยะในแต่ละเทศบาลนั้นจะออกแบบรูปแบบให้เหมาะสมกับชุมชนของตัวเอง เพื่อประสิทธิภาพที่สูงสุด และเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว จำเป็นต้องปลูกฝังความรู้ในระดับโรงเรียนด้วย เพราะจะเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงขยะเข้าสู่ระบบรีไซเคิล เมื่อเด็กรับรู้และเข้าใจจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่คนในครอบครัวด้วย เบื้องต้นจะนำร่องใน 14 โรงเรียนที่มีความพร้อม ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกโรงเรียนที่มีความเหมาะสม
เชื่อว่าโครงการ PPP Plastic จะเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาในพื้นที่ EEC ที่กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ Thailand 4.0 และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาการเกษตร, การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปอย่างสอดคล้องกันด้วย
ตามนั้นครับ อย่างน้อยก็ถือเป็นข่าวดี… อ่อ… ผมต่อต้านการมีและใช้สารพิษในภาคเกษตรครับ!
#FridaysForFuture #FFF #GretaThunberg
อ้างอิง
https://www.eeco.or.th/pr/news/RayongModelWasteManagementCaseStudy