การพูดถึงนวัตกรรม หรือ Innovation ในทุกกลยุทธ์ความสำเร็จและเป้าหมาย… โดยทั่วไปจะถือว่าเป็นท่าไม้ตายในการเลือกใช้ “Keyword” สำหรับขายไอเดีย และหรือ อวดวิสัยทัศน์ที่สามารถซื้อใจคนฟังได้ไม่ยาก เว้นแต่จะเป็นคนฟังที่เคยได้ยินคำว่า “นวัตกรรม” จากปากผู้พูดมาแล้วหลายรอบ แต่ก็ไม่เคยจะเห็นมีอะไรใหม่เกิดขึ้นอย่างที่เคยพูดแม้แต่อย่างเดียว… ซึ่งชัดเจนว่าผู้พูดเข้าใจความหมายของคำว่านวัตกรรมน้อยมากอย่างชัดเจน โดยใครก็ตามที่จะอ้างนวัตกรรมในแนวทางใดก็ตาม อย่างน้อยก็ต้องเข้าใจว่านวัตกรรมที่พูดถึงนั้นเป็นประเภท…
- Incremental Innovation หรือ นวัตกรรมส่วนเพิ่ม… เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการปรับปรุงเล็กน้อยเพิ่มเติม หรือ การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ กระบวนการที่มีอยู่ในแบบที่ค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่องในการปรับแต่งและเพิ่มประสิทธิภาพให้เทคโนโลยีเดิม ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม หรือ บริการที่มีอยู่เดิม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ฟังก์ชันการทำงาน หรือ คุณค่า
- Disruptive Innovation หรือ นวัตกรรมก่อกวนตลาด… เป็นนวัตกรรมที่สร้างตลาดใหม่ หรือ เปลี่ยนแปลงตลาดเดิมที่มีอยู่อย่างลึกซึ้ง โดยมีผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ บริการใหม่ที่แตกต่างจากเดิมแต่กระทบถึงตลาดเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ
- Radical Innovation หรือ นวัตกรรมพลิกโลก… เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงตลาดเดิมที่มีอยู่อย่างสิ้นเชิง และหรือ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่กระทบถึงการเปลี่ยนแปลงโดยปริยายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
- Architectural Innovation หรือ นวัตกรรมเชิงสถาปัตยกรรม… เป็นนวัตกรรมที่ย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงรากฐานของแนวคิด และหรือ สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถแก้ปัญหาที่แก้ไม่ตกมานานได้ดีกว่าเดิม ซึ่งในทางวิชาการอาจถึงขั้นเป็นการวางรากฐาน Grounded Theory ในวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมนั้น
ประเด็นก็คือ… นวัตกรรม หรือ Innovation เป็นของไม่ง่ายที่องค์กรส่วนใหญ่ที่เคยลงทุนกับ “การสร้างนวัตกรรมของตัวเอง” ต่างเคยล้มเหลว และหรือ ขาดทุนกันไม่น้อย… การพูดถึงนวัตกรรม หรือ Innovation ในองค์กรส่วนใหญ่จึงมักจะหมายถึง “การซื้อเทคโนโลยี” มาใช้มากกว่าที่จะพูดถึง “การสร้างสรรค์นวัตกรรม” เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ และ จุดแข็งเฉพาะตนแบบที่องค์นวัตกรรมตัวจริงทุ่มทุนกับกิจการด้าน R&D หรือ Research and Development หรือ การวิจัยและพัฒนา… ซึ่งแทบจะเป็นหนทางเดียวที่จะค้นพบนวัตกรรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง… ซึ่งแม้แต่นวัตกรรมแบบ Incremental Innovation หรือ นวัตกรรมส่วนเพิ่ม ก็ยังต้องการข้อมูลเชิงลึกในการปรับปรุงนวัตกรรมเดิมให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น… ซึ่งมักจะหนีไม่พ้น “การวิจัย” เอาข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้ามา “พัฒนา” ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการให้ดีกว่าเดิม
Gary P. Pisano ศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการจัดการจาก Harvard Business School ชี้ว่า… กรอบกลยุทธ์การวิจัยและพัฒนา หรือ R&D Strategy เป็นรากฐานสำคัญขององค์กรนวัตกรรมที่ผู้บริหารองค์กรต้องให้ความสำคัญ… ซึ่งผู้บริหารองค์กรระดับสูงที่เข้าประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็นสินค้า และ บริการโดยไม่ลงทุนกับกิจการด้าน R&D มักจะ “หลงประเด็น” ในการเตรียมข้อมูลเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์… ที่มักจะตัดสินใจได้เชื่องช้าและขาดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ “ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม” ที่ยังไม่มีตลาด และ หลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อให้ตนตัดสินใจโดยไม่เสี่ยง
คำแนะนำโดยสรุปในการพาองค์กรให้มีรากฐานด้าน R&D ควบคู่ไปกับการเป็นองค์กรนวัตกรรมที่สามารถสรรสร้างนวัตกรรมได้จริงจาก Professor Gary P. Pisano ระบุว่า… ให้โฟกัสแผนระยะยาวที่สอดคล้อง เชื่อมโยง และ สัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบในการครอบครอง และ ทำธุรกิจด้วยนวัตกรรมที่สรรสร้างขึ้นทั้งหมด โดยวางกลยุทธ์ระดับนวัตกรรมเชิงสถาปัตยกรรมเป็นพื้นฐาน ก่อนจะวางแผนโดยระบุกระบวนการ บุคลากร และ พอร์ตโฟลิโอภายใต้กรอบเวลาตามแผน
รายละเอียดทางเทคนิค และ กรณีศึกษามีค่อนข้างเยอะ และ เป็นกรณีศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่สามารถวิพากษ์ได้หลากหลายแง่มุมมาก… ซึ่งการใช้กลยุทธ์การวิจัยและพัฒนาในการขับเคลื่อนองค์กรนวัตกรรมตามแนวทางของ Professor Gary P. Pisano จะให้ความสำคัญกับ Architectural Innovation หรือ นวัตกรรมเชิงสถาปัตยกรรม ซึ่งกลับไปปรับปรุงรากฐานให้เอื้อต่อการเกิดอะไรใหม่ๆ ก่อน… ซึ่ง Architectural Innovation ถือว่าเป็นได้ทั้งนวัตกรรม และ โครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่จำเป็น
References…