รายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ภายใต้โครงการ Multiple Indicator Cluster Surveys หรือ MICS รอบที่ 5 ขององค์การยูนิเซฟ…โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งองค์การยูนิเซฟให้การสนับสนุนทั้งด้านวิชาการและงบประมาณ โดยมีสถิติเกี่ยวกับเด็กหลายแง่มุมเป็นข้อมูลเชิงลึก หรือ Insight Data อันชวนอึ้งมากมาย โดยเฉพาะตัวเลขที่สะท้อนทักษะการอ่านของเด็กไทยจนนำมาซึ่งการตั้งโครงการเด็กทุกคนอ่านได้ หรือ Every Child Can Read โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย
โดยสถานการณ์การอ่านออกในประเทศไทยปี พ.ศ. 2561 พบว่า… ในภาพรวมของคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปมีการอ่านเป็นประจำสูงถึง 78.8% หรือ คิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน และ คนไทยในจำนวนนี้ใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 66 นาทีต่อวันของการสำรวจปี พ.ศ. 2556 โดยมีช่วงอายุ 15-24 ปี ใช้เวลาอ่านมากที่สุดเฉลี่ย 109 นาทีต่อวัน… รองลงมาก็เป็นช่วงวัย 6-14 ปี ใช้เวลาอ่าน 83 นาทีต่อวัน และ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ใช้เวลาอ่าน 42 นาทีต่อวัน
ประเด็นก็คือ… สถิติข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามีคนไทยกว่า 21.2% ไม่ได้อ่านหนังสือ ถึงแม้ว่าอัตราการรู้หนังสือของคนไทยจะสูงถึง 94.1% ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน… นอกจากนั้น ผลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 ยังพบ “ความเหลื่อมล้ำ” ในด้านทักษะภาษาและการอ่านเขียนของเด็กและเยาวชนในประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และ เป็นชนกลุ่มน้อย มักจะขาดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาทักษะการอ่านเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กกลุ่มอื่นๆ ซึ่งปัจจัยอุปสรรคที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการอ่านได้นั้น มักเริ่มตั้งแต่ยังเล็กและต่อเนื่องไปจนตลอดวัยเรียน… เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้เกือบทั้งหมด “ไม่มีหนังสือที่บ้าน” และยังขาดโอกาสในการเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีบุคลากรที่จะสามารถช่วยส่งเสริม และ ปลูกฝังการรักการอ่านให้แก่พวกเขาได้
การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 พบเด็กเกือบ 6 ใน 10 คนที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบในประเทศไทย… อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีหนังสือเหมาะสำหรับเด็กน้อยกว่า 3 เล่ม และ สัดส่วนของครัวเรือนที่มีหนังสือสำหรับเด็กตั้งแต่ 10 เล่มขึ้นไปทั้งประเทศ… มีอยู่ที่เพียง 14.2% เท่านั้น และ ผลสำรวจยังพบอีกว่า… เด็กที่อาศัยอยู่ในเมืองมีโอกาสเข้าถึงหนังสือสำหรับเด็กมากกว่าเด็กที่อาศัยในพื้นที่ชนบท ด้วยความห่างไกลและขนาดของโรงเรียนที่เล็กมากในพื้นที่ชนบท ทำให้โรงเรียนหลายแห่งไม่สามารถจัดซื้อหนังสือที่ดี มีคุณภาพ และ เหมาะสมสำหรับเด็กทุกคนในชุมชนเหล่านั้นได้
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร เคยให้สัมภาษณ์ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED ของ องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAMEO ซึ่งอาจารย์พรพรรณท่านอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคะแนน PISA หรือ Programme for International Student Assessment ในประเทศไทย รวมทั้งมาตรวัดทางการศึกษาของไทยเกือบทุกตัวที่เป็นเกณฑ์สากล และ ท่านได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งการสนับสนุนการเรียนการสอน STEM ว่า… สิ่งสำคัญคือเด็กเล็กต้องอ่านแตกฉาน และ ฝึกคิดวิเคราะห์ผ่านสิ่งที่เด็กสนใจ ซึ่งเรามีวิธีการมากมายที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้มากขึ้น แต่การอ่านเป็นเรื่องสำคัญ และ อาจารย์พรพรรณท่านสรุปให้ด้วยว่า… PISA วัดแล้วว่าเด็กไทยอ่านไม่ดี เพราะเก็บความคิดรวบยอดไม่ได้ ข้อความที่เด็กอ่านจากงานที่ผู้เขียนเรียบเรียงเป็นจินตนาการ ข้อเสนอ หรือ ข้อเท็จจริง ที่เด็กของเราอ่านออก แต่ก็ยังแยกแยะไม่ได้… เด็กบ้านเราจึงมีปัญหา “อ่านออกเขียนได้ แต่ไม่เข้าใจ” ซึ่งเด็กๆ ต้องการทักษะคิดวิเคราะห์เสริมการอ่านอย่างชัดเจน
คำถามคือ… เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเด็กๆ มีทักษะการอ่านดีพอจนได้สัมผัสจินตนาการของผู้เขียน หรือแม้แต่ข้อเท็จจริงจากสิ่งที่อ่าน ซึ่งเป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญมาก
Professor Dr.Roberta Michnick Golinkoff และคณะได้รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยมากมายเพื่อประดิษฐ์เครื่องมือทดสอบความสามารถในการอ่านของเด็กขึ้นในชื่อ Quick Interactive Language Screener™ หรือ QUILS™ ซึ่งเป็นเครื่องมือทดสอบทักษะภาษาของเด็กอายุ 3-5 ปี ด้วยชุดทดสอบคล้ายเกมคอมพิวเตอร์ซึ่งได้ซ่อนการทดสอบ Vocabulary หรือ คำศัพท์พื้นฐานที่เด็กวัยนี้ควรรู้และเข้าใจ… การทดสอบ Syntax หรือ ไวยากรณ์พื้นฐานที่เด็กต้องรู้ว่าคำไหนต้องมาพร้อมกับคำไหนในประโยคและหมายความถึงอะไร และ การทดสอบ Process หรือ การประมวลความเข้าใจซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้นิยามใหม่ของคำและประโยค
QUILS™ เป็นเครื่องมือ EdTech ที่กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในการจัดการศึกษาและส่งเสริมพัฒนาการระดับ Pre-school ในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2019 โดยเวอร์ชั่นปัจจุบันรองรับเฉพาะเด็กวัยก่อนเรียน 3-5 ปีที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และ ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาที่สอง โดยคิดค่าบริการ 195.95 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีต่อบัญชี หรือ ต่อเด็กวัยก่อนเรียนหนึ่งคน ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองจะใช้แพลตฟอร์มนี้กับลูกจนกว่าคะแนนทดสอบที่ได้จะถึงเกณฑ์ที่น่าพอใจ… โดยมีศูนย์พัฒนาเด็กวัยก่อนเรียน หรือ เนิร์ซเซอรีบางส่วนจัดให้ QUILS™ เป็นบริการมาตรฐานไปแล้วก็มี
สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ… ปัญหา “การอ่านออกเขียนได้แต่ไม่เข้าใจ” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ และ โจทย์สำคัญของการศึกษา… ซึ่งข้อมูลมากมายชี้กลับไปที่วัยก่อนเรียนให้ต้องใส่ใจเป็นพิเศษต่อ “การอ่าน” อันเป็นรากฐานการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในอนาคตของเด็กๆ ทุกคนเมื่อเติบโตขึ้น
References…