ในความสัมพันธ์ทุกแบบที่ปุถุชนคนหนึ่งมีกับคนอื่นๆ รอบข้าง จะมีความสัมพันธ์ที่ดี กับ ความสัมพันธ์ไม่ค่อยดีตั้งแต่ระดับงั้นๆ ไปจนโคตรห่วยซวยสุดๆ แต่มีกันและกันอยู่ในสายสัมพันธ์… และคนส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์แบบห่วยๆ งั้นๆ ผ่านเข้ามาในชีวิตเสมอ ซึ่งบางคนโชคร้ายถึงขั้นมีความสัมพันธ์สุดห่วยกับสายสัมพันธ์ใกล้ตัวแบบพ่อ–แม่–ลูก–สามี–ภรรยา… ให้ชีวิตที่เหลืออยู่สามารถห่วยได้อย่างสม่ำเสมอไปจนตายจากกัน
ประเด็นก็คือ… ความสัมพันธ์ที่มาจากความรักความเข้าใจ โดยทั้ง “ความรัก และ ความเข้าใจ” จะเป็นที่มาของหลักคิดต่อคนรอบข้างในสายสัมพันธ์ในทางบวก ซึ่งความคิดเชิงบวก หรือ Positive Thinking และ Growth Mindset หรือ ชุดความคิดอันเติบใหญ่ต่อยอดในทางสร้างสรรค์ได้อีกที่คนๆ หนึ่งมีอยู่กับตัว… จะยอมสละเวลาเพื่อ “สร้างความเข้าใจ” กับคนในสายสัมพันธ์เสมอ
ในการ “สร้างความเข้าใจ” กับคนในสายสัมพันธ์ที่ปุถุชนคนหนึ่งมีกับคนอื่นๆ รอบข้าง… จึงต้องมีการสื่อสารระหว่างกันเพื่อสร้าง “ความเข้าใจอันดี” ให้เกิดขึ้นระหว่างกัน โดยเฉพาะการพูดคุยซักถามและอธิบายเหตุผล หรือ Reason และ ข้ออ้าง หรือ Excuse เพื่อรักษาความสัมพันธ์ไม่ให้ยุติลงโดยขาดพร่องความเข้าใจอันดีต่อกัน… ซึ่งเป็นหนึ่งในบาดแผลความสัมพันธ์ที่ผู้คนส่วนหนึ่งมักมีปมติดตัวติดใจไปจนตายมากมาย
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจระหว่างกัน ถึงขั้นที่ “ต้องอธิบาย” เพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้นนั้น… โดยบริบทในขั้นนี้มักจะหมายความว่าได้เกิด “ความไม่เข้าใจระหว่างกัน” ขึ้นแล้ว ซึ่งอย่างน้อยก็น่าจะมีข้องุนงงสงสัยจากคนที่ต้องการคำอธิบาย และ ฝ่ายที่ต้องอธิบายก็จะเริ่ม “ยกเหตุผลของตัวเอง” มาแก้ข้อสงสัย… แต่คนรับฟังการอธิบายจะเข้าใจว่าเป็นเหตุผล หรือ Reason… หรือฟันธงว่าเป็นข้ออ้าง หรือ Excuse… คนที่ต้องอธิบายก็หมดสิทธิ์จะเปลี่ยนความเข้าใจของอีกฝ่ายให้เป็นอื่นได้อีก
ประเด็นเป็นแบบนี้คือ… ข้ออ้าง หรือ Excuse จะเป็นการกล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริง หรือ ความเชื่อ เพื่อสนับสนุนความคิดและการกระทำของตัวเองที่สร้างความงุนงงสงสัยให้ “คนสำคัญในสายสัมพันธ์” แต่ถ้าคนฟังที่ต้องการคำอธิบายมี “มุมมอง และ ได้ตัดสิน” ข้ออ้างนั้นไปแล้วว่าขาดเหตุ ขาดผล ขาดหลักธรรม หรือ ขาดความชอบธรรม โดยอธิบายทั้งหมดนั้นเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด หรือ มีแต่เจ้าของข้ออ้างที่ได้ประโยชน์… ทั้งหมดที่ว่ามาก็จะกลายเป็นข้ออ้างเสมอ
ส่วนคำอธิบายที่ถือว่าเป็นเหตุผล หรือ Reason จะเป็นการบอกเล่า “ข้อเท็จจริง หรือ ความเชื่อ” ที่ตั้งอยู่บนหลักคุณธรรม จริยธรรม และ ความชอบธรรมที่จะกล่าวอ้างอย่างชัดเจน… โดยความจริงและความถูกต้องจะเป็นบรรทัดฐานแรกในคำอธิบาย… ไม่ใช่ผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง… ซึ่งไม่ว่าคนฟังที่ต้องการคำอธิบายจะตีความว่าเป็นเพียงข้ออ้าง หรือ เป็นเหตุเป็นผลพอฟังได้… ข้อเท็จจริงในคำอธิบายจะพิสูจน์ความถูกต้องให้เสมอ
เส้นกั้นระหว่างเหตุผล หรือ Reason และ ข้ออ้าง หรือ Excuse จึงไม่ใช่เส้นบางๆ กั้นอยู่อย่างที่หลายคนเข้าใจ… เพราะเหตุผล หรือ Reason มีข้อมูลและข้อเท็จจริงประกอบความชอบธรรมในการยกอ้างอยู่ในตัวและพิสูจน์ได้… ในขณะที่ข้ออ้าง หรือ Excuse จะมีเรื่องบิดเบือนและอคติทั้งจากผู้พยายามยกคำอธิบาย และ ผู้รอคำอธิบายช่วยกันทำให้พฤติกรรมความสัมพันธ์เกิดข้ออ้างขึ้น…
ที่สำคัญก็คือ ถ้าเกิดมีอคติจากผู้รอคำอธิบายได้ “เชื่อ และ ตัดสิน” แล้วว่าคำกล่าวอ้างจากคนๆ นี้ “เป็นข้ออ้างแน่นอน” เพราะเป็นสายสัมพันธ์ห่วยๆ อยู่เดิมที่เปลี่ยนความเข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้… ยังไงๆ มันก็เป็นข้ออ้างตลอดไป