Recycle Force

สถานการณ์ขยะรีไซเคิล และคนเก็บขยะ

ช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา ปัญหาราคาขยะรีไซเคิลที่ร้านรับซื้อของเก่าตกต่ำทั่วประเทศ สวนทางกับกระแสรักษ์โลกและการรีไซเคิลที่มีแบรนด์และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ประกาศตัวเข้าสู่ยุคสมัยของการรีไซเคิลและเศรษฐกิจหมุนเวียน

ข้อมูลจากร้านรับซื้อของเก่า พ่อค้ารับซื้อของเก่าและรถเข็นซาเล้งเก็บแยกขยะสะท้อนว่า ขยะรีไซเคิลอย่างกระดาษเคยรับซื้อกิโลกรัมละ 3-4 บาท ราคารับซื้อลดต่ำลงมาอยู่ที่ 50 สตางค์ ส่วนราคาส่งโรงงานรีไซเคิลก็เหลือเพียง 1 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น…  ส่วนราคาขวดพลาสติก จากราคารับซื้อเดิมที่ 15 บาทก็ลดลงเหลือเพียง 8 บาทต่อกิโลกรัม จนมีการร้องเรียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

12 กุมภาพันธ์ 2020 คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็เปิดประชุมร่วมกับตัวแทนซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า โรงอัดกระดาษ และโรงผลิตกระดาษ ท่ามกลางการรวมตัวของซาเล้งจากทั่วประเทศกว่า 500 คนที่ยกกันมารอมติด้วยกัน… ซึ่งสุดท้ายกลุ่มซาเล้งกลับบ้านด้วยตัวเลขรับซื้อกระดาษที่ 2 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาอ้างอิงที่กรุงเทพ ในขณะที่โรงอัดกระดาษรีไซเคิลก็กลับไปด้วยตัวเลข 3.30-3.50 บาทแบบมีเงื่อนไขอีกเล็กน้อย ที่โรงงานกระดาษจะต้องรับซื้อและดูแลราคา

ประเด็นที่อยากจะพูดถึงวันนี้คือ ซาเล้งเก็บของเก่าและร้านรับซื้อของเก่ารายย่อย ที่หลายฝ่ายรู้ดีว่า คนเหล่านี้มีความสำคัญกับระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยยะสำคัญ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคม แทบจะมองชิ้นส่วนนี้ของสังคมไม่เห็น ขณะเดียวกัน… วงจรเศรษฐกิจรีไซเคิลที่กลายเป็นสินค้าส่งออกและนำเข้าในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่มีความสามารถในการแปรรูปขยะรีไซเคิล จนนำเข้าจากหลายๆ ประเทศทั้งที่ถูกกฏหมายแบบลงตราเสียภาษีถูกต้อง และลักลอบนำเข้าอีกไม่น้อย

ซึ่งการนำเข้าขยะรีไซเคิลจากต่างประเทศมาแปรรูปนี้เอง ที่ส่งผลให้ราคารับซื้อของเก่าจากคนหาเช้ากินค่ำตัวจริงเสียงจริง เดือดร้อนกันไปทั่ว

โดยส่วนตัวผมสนับสนุนแนวคิดให้รัฐเข้ามาส่งเสริมธุรกิจรับซื้อของเก่าและอาชีพเก็บค้าคัดแยกขยะมานาน โดยให้ผังเมืองระดับเทศบาล กำหนดพื้นที่ธุรกิจค้าของเก่าในผังเมือง และอุดหนุนรายได้แรงงานคัดแยกขยะส่งร้านของเก่า เหมือนที่เทศบาลจ้างงานคนกวาดถนนเพื่อความสะอาดเรียบร้อยของชุมชน… ซึ่งโมเดลและแนวทางในการจัดการมีทางเลือกมากมาย แต่ต้องเริ่มต้นที่ “เห็นความสำคัญของคนที่ยินดีทำอาชีพนี้ก่อน”

ผมทราบดีว่า ข้อเสนอแบบนี้ยังไม่ใช่ทางออกสุดท้ายของปัญหาขยะและการรีไซเคิลหรอก แต่ก็มั่นใจมากว่า… เปอร์เซนต์การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ต้องเพิ่มขึ้นมากทีเดียวเช่นกัน… ซึ่งเปอร์เซนต์ที่เพิ่มขึ้นนี้ ผมเชื่อว่าคุ้มค่าที่รัฐจะเป็นธุระ “จัดหาเงินอุดหนุนมาดูแลอาชีพแยกขยะ” ทั้งระบบโดยไม่กระทบกระเทือนงบประมาณส่วนอื่นเลยก็ยังได้

ข้อเท็จจริงก็คือ ขยะในระบบนิเวศน์ 75% รีไซเคิลได้ แต่คัดแยกและนำกลับเข้าขบวนการรีไซเคิลได้เพียง 30% เท่านั้น… ซึ่งการแก้ไขให้ตัวเลขจาก 30% เข้าใกล้ 75% คงต้องเอาจริงเอาจังเหมือนกรณีปลูกดอกไม้เกาะกลางถนน รวมทั้งจ้างคนกวาดถนนและทางเท้าทุกวันของเทศบาลหลายๆ แห่ง

กรณีศึกษาอย่าง เอี่ยมดีรีไซเคิล หรือสตาร์อัพหมีมีถังจากระยอง หรือกรณีของแพลตฟอร์ม GEPP Sa-Ard หรือ แอพ GEPP ได้พิสูจน์แล้วว่า… การคิดเรื่องรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ และมีการจัดการที่ทันสมัย สามารถยกระดับระบบนิเวศน์ที่มีธุรกิจรีไซเคิลเป็นศูนย์กลางได้ดีแค่ไหน… และที่สำคัญกว่านั้นคือ ระบบนิเวศน์ทั้งหมดมีพร้อมหมดแล้ว ขาดก็แต่ “วิสัยทัศน์” ระดับผู้นำการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น… 

ผมเห็นข้อมูลเทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมมือกับแพลตฟอร์ม GEPP นำร่องหาทางออกให้ขยะรีไซเคิลให้เชียงใหม่ไปแล้ว… ไหนๆ ก็ริเริ่มนำร่องไปแล้ว ช่วยป่าวประกาศให้คนรับรู้เยอะๆ หน่อยเถอครับ แล้วก็ฝากดูแลพี่น้องคนอาชีพเก็บขยะค้าของเก่าต่ออีกหน่อยนึงด้วยเถอะ… ท่านจะได้อะไรอีกมากทีเดียว!!!

Credit: https://adaymagazine.com

#FridaysForFuture

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts