การถูก Disrupted โดยปริยายของแวดวงการศึกษา จากพิษโคโรน่าไวรัส COVID-19 ที่ทำให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทย ต้องย้ายเข้าสู่การเรียนการสอนออนไลน์กันอย่างจ้าละหวั่น… และจากการติดตามข่าวสารฝั่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีเจ้ากระทรวงอย่าง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ก็ดูเหมือนจะใช้จังหวะนี้เป็นโอกาสในการดันมหาวิทยาลัยที่เชื่องช้ากับการออนไลน์หลักสูตรและการสอน… ให้ต้องปรับด้วยทางเลือกที่เหลือสายเดียวตรงนี้คือ… e-Learning
ล่าสุด… 18 มีนาคม 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดถึงมาตรการในการรองรับสถานการณ์ COVID-19 ในส่วนของการดูแลนิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ให้มีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ 100%…โดยจับมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เปิดให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งทั่วประเทศ สามารถยกระดับการศึกษานอกสถานที่ให้เป็นไปในรูปแบบที่เกินกว่าแค่การประชุมทางไกลผ่านวิดีโอทั่วไป ด้วยเครื่องมือเฉพาะทางแบบครบวงจรอย่าง Microsoft Teams สำหรับทั้งนิสิต-นักศึกษา และอาจารย์ผู้สอนทั่วประเทศ
ส่วนชั้นเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในบ้านเรา ดูเหมือนจะทำตัวเงียบหายไปในกระแสข่าว COVID-19 ที่น่าจะแปลได้ว่า… ไม่มีความเคลื่อนไหวเชิงรุกใดๆ ออกมาจากกรมกองหรือกระทรวงที่เป็นการศึกษาพื้นฐานของชาติให้เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลง




มีกรณีที่น่าสนใจจากประเทศจีน เมื่อทางการสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อลดการแพร่กระจายของ COVID-19 อย่างไม่มีกำหนด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การศึกษาในประเทศจีนหยุดชะงักลง… แม้การแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาทำให้ต้องเลื่อนภาคเรียนออกไป แถมยังเกิดขึ้นในช่วงที่นักเรียนต้องเตรียมความพร้อมสำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนหลายคนจำเป็นต้องเรียนอยู่ที่บ้าน แต่ทางกระทรวงศึกษาธิการของจีนก็ได้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้โรงเรียนใช้แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตเป็นทางเลือกในการสอนแบบออนไลน์ นอกจากนี้ยังวางแผนเปิดห้องเรียนบนระบบคลาวด์แห่งชาติ ทำการจัดหาสื่อการสอนและหลักสูตรสำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
โดยการให้คะแนนนั้นก็จะเป็นการเน้นไปที่การมีส่วนร่วมในการอภิปรายในชั้นเรียน ซึ่งจะทำผ่านแพลตฟอร์ม Video Conference อย่าง Dingtalk ของ Alibaba และ Ketang ของ Tencent
ประเด็นก็คือ… การศึกษาทางไกลไม่ใช่เรื่องง่าย บางพื้นที่ไม่ได้มีอินเตอร์เน็ตให้ใช้… หรือบางพื้นที่อินเตอร์เน็ตก็ช้า… แต่การไม่สามารถร่วมชั้นเรียนผ่าน Video Conference ก็ไม่ใช่ข้ออ้าง เพราะนักเรียนสามารถดาวน์โหลดไฟล์เสียงและไฟล์งานหรือการบ้านมาทำได้เช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตเข้าถึง ทางหน่วยงานของรัฐหรือ China Education Network ก็ได้เปิดห้องเรียนออกอากาศทางทีวี ทุกวันธรรมดาตั้งแต่เวลา 8.00 น. ถึง 22.00 น. โดยครอบคลุมวิชาแกนหลักทั้งหมด อย่างวิชาคณิตศาสตร์ไปจนถึงวิชาภาษาจีน
นักเรียนบางคนได้แสดงความเห็นในการเรียนรูปแบบนี้ว่า พวกเขารู้สึก Productive มากกว่าการเรียนในห้องเรียนเสียอีก!
แต่นักเรียนส่วนหนึ่งก็ยังอยากนั่งเรียนร่วมกับเพื่อนๆ มากกว่า… ในขณะที่เด็กๆ อีกส่วนหนึ่งก็เสียสมาธิไปกับเกมส์ออนไลน์เมื่อต้องเรียนจากที่บ้าน
ส่วนความคิดเห็นฝั่งผู้สอน… การสอนออนไลน์มีจุดอ่อนอยู่ที่การให้ฟีดแบคทันทีแบบสอนในห้องเรียนไม่ได้ เพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนถือว่าเป็นศูนย์สำหรับชั้นเรียนออนไลน์
ประเด็นเรื่องเด็กๆ อยากนั่งเรียนร่วมกับเพื่อนจะสุขใจกว่าขอตัดออกไปจากปัญหาการจัดการศึกษาออนไลน์ก่อนน๊ะครับ… ส่วนกรณีเด็กอยู่บ้านเล่มเกมส์มากกว่าเรียนเป็นเรื่องค่อนข้างแน่นอน ถ้าจะให้ผู้ปกครองมานั่งเฝ้ากำกับและกำชับเด็กแบบครูในโรงเรียน ก็คงเป็นเรื่องลำบากเพราะทักษะพ่อแม่กับทักษะครูย่อมแตกต่างกันมาก
ยิ่งถ้าเป็นภาวะที่พ่อแม่ต้องไปทำงาน… การเรียนจากที่บ้านสำหรับเด็กๆ คงเละเทะเพราะไม่ใช่วัยที่จะมีแรงจูงใจแบบ Self-Study…
แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุผลเพื่อกล่าวอ้างว่า… การศึกษาระดับปฐมศึกษาและมัธยมศึกษาไม่จำเป็นต้องมีระบบ e-Learning ให้เด็กๆ… และควรจะใช้วาระนี้พัฒนาระบบให้เข้มแข็งเท่าเทียมกับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันหรือโรงเรียน… ซึ่งทัศนะส่วนตัวของผมมองว่า การทำหลักสูตรออนไลน์ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความจำเป็นอย่างมาก และการจัดชั้นเรียนในโรงเรียนก็ยังสำคัญอย่างมาก… และการนำข้อดีของทรัพยากรออนไลน์ มาบวกกับความสำคัญของครูและห้องเรียน… จะมีความเป็นไปได้ที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างมากยิ่งกว่าเช่นกัน
ส่วนประเด็นปฏิสัมพันธ์ผมไม่พูดถึงแล้วน๊ะครับ… เพราะผมถือว่าผมเสนอให้มีทั้งสองแบบอยู่ในนโยบายการศึกษาชาติไปเลย…
ขอบคุณบทความแปลจาก TechSauce.co
ขอบคุณภาพประกอบจากสำนักข่าว Xinhua