Resentment

Resentment… ความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจ และอะไรๆ ต่อจากนั้น #SelfInsight

ความรู้สึกไม่พอใจ หรือ Resentment หรือ Ranklement หรือ Bitterness ซึ่งเป็นอารมณ์ด้านลบที่ซับซ้อน และมีอยู่กับทุกผู้ทุกคนในระดับสัญชาตญาณ และ ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางจิตวิทยาในการปกป้องตัวเองจาก “ความรู้สึกที่มีต่อภัยคุกคาม” ซึ่งคนๆ หนึ่งสัมผัสได้ถึงความผิดหวัง หรือ Disappointment… ความขยะแขยง หรือ Disgust… ความโกรธ หรือ Anger… และ ความกลัว หรือ Fear… ซึ่งในทางจิตวิทยาจะเป็นอารมณ์ที่ก่อตัวขึ้นเพื่อโต้ตอบ “ความรู้สึกที่ถูกผู้อื่นหมิ่นแคลนเหยียดหยาม หรือ ถูกผู้อื่นกระทำให้เจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ”

ความรู้สึกไม่พอใจจึงเป็นผลมาจากความหลากหลายของสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ “ความรู้สึกอันไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม รวมถึงความรู้สึกอัปยศอดสูที่ผู้อื่นกระทำต่อตัวเองในบริบทต่างๆ” 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… ความไม่พอใจติดมากับคำว่า “ผู้อื่น หรือ Others” ซึ่งมีภาพ “ความสัมพันธ์ หรือ Connection” เชื่อมโยงเหตุการณ์อันสร้างความไม่พอใจที่เกิดขึ้นระหว่างกันของคนทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน

Associate Professor Alice C. MacLachlan นักจิตวิทยาจาก York University ในนคร Toronto ประเทศแคนาดาระบุว่า… สิ่งที่เราไม่พอใจจะเผยให้เห็นสิ่งที่เราให้คุณค่า และ สิ่งที่เราหวังจากผู้อื่น รวมทั้งคาดหวังต่อบริบทแวดล้อมที่ตัวเองเชื่อว่า… เป็นสิทธิ์ที่จะได้อย่างที่หวัง หรือ เป็นสิทธิ์ที่จะได้กำกับ ดูแล จัดการและประเมินโดยตน… ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นจึงเป็นธรรมชาติของปัจเจกชนที่มีเพียงคนบ้าใบ้ไร้ความรู้สึกเท่านั้นที่ไม่เคยขุ่นข้องหมองใจกับอะไร

ในทางเทคนิค… ความขุ่นเคือง หรือ ความไม่พึงพอใจถือเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงเหตุการณ์ในอนาคต ที่สามารถเกิดสถานการณ์อึมครึม หรือ สถานการณ์ที่สร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมต่อตัวเอง อันจะทำให้ “สถานะของความสัมพันธ์” หม่นมัวและขัดแย้งมากขึ้น… ความขุ่นเคือง หรือ ความไม่พอใจจึงเป็นกลไกการอยู่รอดที่สำคัญไม่ต่างจากอาหารหรืออากาศและบริบทแวดล้อม

นั่นหมายความว่า… ความไม่พอใจที่ไม่ได้รับความใส่ใจ จะพัฒนาไปสู่ขั้นที่เรียกว่าโกรธและแค้นเคืองในที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดก็จะกระทบความสัมพันธ์รุนแรงในระดับเดียวกับความไม่พอใจ และ ทบทวีเป็นความโกรธแค้นชิงชัง ไปจนถึงเหยียดหยามหมิ่นแคลนได้

Professor Robert C. Solomon ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of Texas at Austin ได้อธิบายประเด็นความไม่พอใจ หรือ Resentment กับอารมณ์ในชื่อเรียกอื่นที่เกิดในระนาบเดียวกัน หรือ เกิดต่อเนื่องกันอย่างความโกรธ หรือ Anger และ ดูหมิ่น หรือ Contempt เอาไว้ว่า… ทั้งสามอารมณ์มีความแตกต่างกันในบริบท กล่าวคือ… ความไม่พอใจ หรือ Resentment จะเป็นความโกรธที่มุ่งไปยังบุคคลที่มีสถานะสูงกว่าตน…  ในขณะที่ความโกรธ หรือ Anger จะเป็นความไม่พอใจต่อบุคคลที่มีสถานะเท่าเทียมกัน… ส่วนการดูหมิ่น หรือ Contempt ก็จะเป็นความไม่พอใจต่อบุคคลที่มีสถานะต่ำกว่า… ซึ่งทั้งหมดก็คือรูปแบบต่างๆ ของความขุ่นเคืองนั่นเอง

Dr. Steven Stosny นักจิตวิทยาระดับเชี่ยวชาญ ผู้ก่อตั้งสถาบัน Compassion Power ใน Washington DC ก็อธิบายกลไกความโกรธและความไม่พอใจเปรียบเทียบแยกแยะเอาไว้ว่า… Anger หรือ ความโกรธ จะเป็นเหมือนเครื่องดับเพลิง หรือ Fire-extinguisher ที่มีไว้… หยุดอันตรายจากไฟตรงหน้าไม่ให้ลุกลาม… ในขณะที่ความขุ่นเคือง หรือ ไม่พอใจจะเป็นเหมือนเครื่องตรวจจับควัน หรือ Smoke Alarm ซึ่งเปิดจับสัญญาณอยู่ตลอด และดังขึ้นทันทีที่มีควันก่อนเกิดไฟไหม้… ดังนั้น ระบบเตือนภัยทั้งความไม่พอใจและความโกรธ จึงมุ่งหมายปกป้องเราไม่ต่างจากเครื่องตรวจจับควัน และ ถังดับเพลิงที่มีติดอยู่ในอารมณ์ความรู้สึก… ซึ่งเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในอดีต

ประเด็นก็คือ… ความโกรธส่งผลให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อใช้ในการหลีกเลี่ยงหรือจัดการกับภัยคุกคาม… ในขณะที่ความขุ่นเคืองเกิดขึ้นเมื่อได้รับบาดเจ็บและมักไม่แสดงออกอย่างเปิดเผย

นั่นหมายความว่า… ความไม่พอใจ หรือ ความขุ่นเคืองที่เกิดขึ้นเงียบๆ บนความสัมพันธ์ ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งอาจจะรับรู้หรือไม่รับรู้มาก่อนก็ตามแต่… หากทวีขึ้นเป็นโกรธเคืองจนรับรู้แรงกระเพื่อมบนความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว… รายละเอียดในสายสัมพันธ์ย่อมเปลี่ยนแปลง และกระทบกระเทือนได้ตั้งแต่ระดับบั่นทอน ไปจนถึงถูกทำลายลงได้ไม่ยาก

ประเด็นสำคัญเป็นแบบนี้ครับ… ความไม่พอใจ หรือ แม้แต่ความโกรธในมุมมองการ “มีและใช้” เป็นระบบเตือนภัยอย่างเข้าใจ… ในทัศนะของผม… ย้ำว่าเป็นทัศนของผมส่วนตัวเชื่อว่า สำคัญและจำเป็นกว่าการพยายาม “ระงับ หรือ ข่ม” ซึ่งมักจะเป็นคำแนะนำตามหลักศาสนาส่วนใหญ่ ที่มุ่งกำจัดอารมณ์ความรู้สึกด้านที่ถูกตีตราไว้ว่า “ไม่ดี” มากกว่าที่จะอธิบายถึงการมีอยู่ในสัญชาตญาณ และ สอนให้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเหตุผลของการมีอยู่อย่างแท้จริงมากกว่า

โดยส่วนตัวผมจึงเชื่อว่า… เมื่อไม่พอใจก็แสดงออกมาให้อีกฝ่ายรับรู้ ดีกว่า “พยายามข่มแล้วข่มอีก” จนบ่มเป็นโกรธเคือง ที่อาจจะโชคดีดับได้ในเวลาต่อมา… แต่ร่องรอยความโกรธเคืองก็จะเหลืออยู่ไม่ต่างจากรอยไหม้ที่ดับไฟได้ทันอยู่ดี…

ยังไงก็ไม่สวย!

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts