Show Respect Even To People Who Don’t Deserve It, Not As A Reflection Of Their Character, But As A Reflection Of Yours… จงแสดงการให้เกียรติแม้กับคนที่ไม่คู่ควร สิ่งที่ทำไม่ได้สะท้อนลักษณะนิสัยของพวกเขา… แต่เป็นการสะท้อนตัวเราเอง!
ผมค้นคำคมในคลังคำคมส่วนตัวที่บันทึกวลีเด็ดๆ โดนๆ มาตลอดหลายปี และกำลังมีโปรเจคใหญ่เกี่ยวกับคำคมที่มีอยู่ และไปเจอข้อความว่าด้วยการให้เกียรติ ซึ่งผมกำลังเรียนรู้และสนใจเครื่องมือที่ชื่อว่า Respect หรือการให้เกียรติ อันเป็นเครื่องมือความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดชิ้นหนึ่ง ในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน
บทความจากเวบไซต์ missiontothemoon.co โดยนักบริหารผู้ฝากผลงานร้อนแรงที่สุดคนหนึ่งในโลกธุรกิจอย่างคุณรวิศ หาญอุตสาหะ… ได้พูดถึง Respect ไว้ว่า… การให้เกียรติก็เหมือนกับอากาศ ซึ่งคุณรวิศทำข้อมูลเอาไว้ทั้งบทความและ Podcast: Mission To The Moon EP 86 เอาไว้ด้วย… แน่นอนว่า ประเด็นการให้เกียรติจาก Mission To The Moon ย่อมเปิดประเด็นการให้เกียรติ อ้างอิงความสัมพันธ์ในองค์กร… บางตอนในบทความอ้างอิงงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Georgetown ซึ่งทำการสำรวจคนที่ทำงานกว่า 20,000 คนจากมากมายหลายสาขาอาชีพทั่วโลก พบว่า… การได้รับการให้เกียรติ โดยเฉพาะจากหัวหน้า คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกดีหรือแย่กับงาน
งานของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ แห่ง Mission To The Moon ได้นิยามคำว่าให้เกียรติหรือ Respect แยกไว้ 2 ประเภทด้วยกันคือ
1. Owed Respect
จะหมายถึง… การส่งสัญญาณว่าสมาชิกทุกคนในกลุ่มนั้นเท่าเทียมกัน และทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ถ้าหากองค์กรหรือกลุ่มใดขาดการให้เกียรติในหมวดนี้ สิ่งที่เราจะพบได้บ่อยๆ คือ การใช้อำนาจในทางที่ผิดของหัวหน้า และการที่ทีมงานรู้สึกขาดความมั่นคงในหน้าที่การงาน
2. Earned Respect
จะหมายถึง… การส่งสัญญาณว่าคนที่ทำงานได้ดี มีผลงาน หรือพฤติกรรมที่ดีจะได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นลักษณะของการให้เกียรติแก่คนที่สามารถทำผลงานได้ดี และเป็นการส่งสัญญาณว่าองค์กรให้ความสำคัญกับผลงานนั้น
ประเด็นก็คือ… ถ้ามี Owed Respect มากเกินไป ผลงานหรือความสามารถส่วนบุคคลก็จะไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่ควร สิ่งที่อันตรายคือ คนจะไม่อยากทำงานที่โดดเด่น เพราะทำงานโดดเด่นไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร… ในขณะที่ถ้าองค์กรไหนเน้น Earned Respect มากเกินไป สิ่งที่อันตรายคือ จะเกิดบรรยากาศของการแข่งขันและชิงดีชิงเด่นกันมากเกินไป บรรยากาศการทำงานอาจจะเป็นแบบเฉือดเฉือนกัน ซึ่งก็ไม่ดีต่อกำลังใจของทีมงานโดยรวมอีกเช่นกัน
ดังนั้น… การสร้างวัฒนธรรมแห่งการให้เกียรติกันจึงสำคัญ และการสร้างสมดุลย์ Owed-Earned Respect จึงสำคัญมาก และต่อไปนี้คือ 7 แนวทางที่น่าสนใจเกี่ยวกับการให้เกียรติ
1. วางเกณฑ์ของการให้เกียรติ
ทีมงานทุกคนต้องได้รับการให้เกียรติอย่างเหมาะสมกับการอยู่ในองค์กรเดียวกัน พวกเขาต้องถูก “เห็น” จากผู้บริหารทุกระดับ เรื่องนี้สำคัญมากโดยเฉพาะกับคนที่อยู่ไกลจากระดับบริหาร ยิ่งไกลยิ่งสำคัญ… งานวิจัยชื่อ Being valued and devalued at work: A social valuing perspective ของ Jane Dutton และคณะ ซึ่งทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างเป็น “คนที่ทำงานทำความสะอาดในโรงพยาบาล” หลายแห่งและพบว่า… บางแห่งคนที่ทำงานทำความสะอาดเหล่านี้ “ไม่ได้รับการสนใจ” จากพนักงานส่วนอื่นของโรงพยาบาล และทำเหมือนพวกเขาไม่มีตัวตน ในกรณีแบบนี้พวกเขาก็จะรู้สึกว่าแค่มาทำงานให้เสร็จๆ แล้วก็กลับไป… แต่กับบางทีที่มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นเช่น คุณหมอเปิดประตูให้เวลาพวกเขาถือของหนักๆ ความรู้สึกเป็น “พวกเดียวกัน” ของคนเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
2. เข้าใจวิธีการให้เกียรติที่เป็นปกติในองค์กรหรือทีม
ก่อนอื่นต้องเข้าใจบริบทก่อนว่า ทีมงานต้องการอะไร บางสถานการณ์ในที่ทำงาน การพูดคุยกันเล็กน้อยในตอนที่มาถึงที่ทำงานเป็นการให้เกียรติแก่กัน แต่ในบางสถานที่ทำงาน การมาพูดคุยทักทายกันในตอนเช้าอาจจะเป็นการไม่ให้เกียรติกันก็ได้ เพราะทำให้อีกฝ่ายเสียเวลา… ดังนั้น ก่อนจะทำอะไรต้องเข้าใจบริบทเสียก่อน
3. เข้าใจว่าการให้เกียรติมีผลต่อเนื่อง
ถ้าผู้บริหารให้เกียรติทีมงาน ก็มีโอกาสสูงมากที่ทีมงานก็จะให้เกียรติลูกค้าด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า บริษัทที่ติดอยู่ในลิสต์ “บริษัทที่น่าทำงานที่สุด” มักจะอยู่ในลิสต์ของ “บริษัทที่มีการบริการลูกค้าดีที่สุด” ด้วย
4. ใช้ Earned Respect อย่างเหมาะสม
ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถสร้างองค์กรที่มีทั้ง Owed Respect และ Earned Respect สูงทั้งสองอย่างได้… Owed Respect ซึ่งเป็นพื้นฐานนั้นค่อนข้างตรงไปตรงมา… แต่สำหรับ Earned Respect จะขึ้นอยู่กับสามปัจจัย คือ คำชมจากหัวหน้าโดยตรง… การได้รับความใส่ใจจากผู้นำองค์กร และโอกาสในการได้ทำหน้าที่ๆ สำคัญต่อองค์กร
5. Respect ใช้ได้ไม่จำกัดและไม่มีวันหมด
การให้เกียรติไม่เหมือนกับการให้โบนัสตรงที่โบนัสมีจำกัด ที่ถ้าอยากให้คนหนึ่งเยอะ นั่นหมายความว่าจะเหลือให้คนอื่นน้อยลงไปด้วย แต่การให้เกียรติมีไม่จำกัด สามารถให้ได้มากเท่าที่เราอยากให้
6. การพยายามให้เกียรติคนอื่น ไม่เสียเวลา แต่จะช่วยประหยัดเวลา
ในความเป็นจริงคือ การทำงานมีเรื่องที่เราต้องทำอยู่แล้ว แต่การทำงานแบบให้เกียรติกันก็เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการเท่านั้นเอง
7. ต้องจริงใจและตรงไปตรงมา
การชมปลอมๆ หรือการพยายามให้เกียรติคนแบบขอไปที มีผลเสียมากกว่าผลดี การให้เกียรติคนไม่ใช่โปรเจกต์แต่เป็นนิสัย ถ้าอยากเปลี่ยนตัวเองก็ต้องทำให้ตลอดรอดฝั่งและสม่ำเสมอ ทุกอย่างที่ทำต้องออกมาจากข้างใน
ประเด็นการให้เกียรติเป็นเรื่องละเอียดอ่อน… การให้เกียรติเป็นการให้ความเคารพนับถือและยอมรับในความสามารถของผู้อื่น… การใช้กริยาวาจาสุภาพ… ความอ่อนน้อม… การแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น… ไม่เห็นแก่ตัว… คำนึงถึงผู้อื่น… แสดงความเคารพอย่างเหมาะสม… รับฟังความคิดเห็นผู้อื่นโดยปราศจากอคติ… ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหน้า… เอาใจเขามาใส่ใจเรา และ ใส่ใจต่อผู้อื่น ทั้งยามทุกข์และสุข โดยร่วมดีใจ หรือให้กำลังใจ และเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเมื่อได้รับการร้องขอ มีความจริงใจต่อผู้อื่นทั้งในการให้บริการ และการดูแลปกป้องสิทธิประโยชน์ ทำให้ได้รับสิทธิ์ที่ควรจะได้อย่างตรงไปตรงมา และประพฤติปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพเช่นเดียวกับที่เราต้องการให้เขากระทำต่อเรา
หากเราเองเป็นผู้เริ่มต้นให้เกียรติผู้อื่น แน่นอน ผู้อื่นก็จะให้เกียรติเรา การที่จะได้มาซึ่งการยอมรับจากผู้อื่นเราต้องเป็นผู้ลงมือกระทำก่อน และผลจากการกระทำนั้นจะวนกลับมาถึงเราในภายหลัง
การให้เกียรติ… จึงไม่มีคำว่ามากเกินไป!
อ้างอิง