ในการวิเคราะห์ธุรกิจหนึ่งๆ ตัวเลขมากมายที่ต้องมีและถอดออกมาจากโมเดลธุรกิจแทบทั้งหมดก็เพื่อสรุปผลตอบแทนการลงทุนและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อช่วงเวลาหนึ่งๆ… การวางแผนธุรกิจทั้งแผนใหญ่และแผนย่อยเกือบทั้งหมด จึงตามหาผลตอบแทนการลงทุน หรือ Return of Investment หรือ ROI ที่จะบอกว่า… ใส่ทุนลงไปแล้วได้คืนเท่าไหร่
ROI เป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งตัวเลขนี้หาได้ง่ายๆ จากการเอากำไรสุทธิหารด้วยต้นทุนแล้วเอาไปคูณกับ 100 เพื่อให้ได้ค่าเป็นเปอร์เซ็นต์… ซึ่งตัวเลขจะตรงไปตรงมา และนักลงทุนมืออาชีพส่วนใหญ่คิดเลขนี้ได้อัตโนมัติกันทุกคน โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดหุ้น
แต่ในโลกความจริง การลงทุนแบบลงเป็นเงินคืนเป็นเงินมีไม่มาก… โดยเฉพาะกับธุรกิจที่การลงทุนมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปให้พิจารณาตามบริบท… ซึ่งการวิเคราะห์ ROI อย่างเดียวจะกลายเป็นเรื่องหยาบๆ ที่ขาดรายละเอียดไปมากทีเดียว
สูตรการวิเคราะห์ธุรกิจด้วยการตาม Return of หรือ Return on กับตัวแปรเชิงทุนทั้งหลาย… จึงจำเป็นต้องลงลึกในรายละเอียดเพื่อเข้าถึงโครงร่างของธุรกิจ หรือ Business Anatomy ที่จะให้มิติมากมายในการจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ… ซึ่งจะสะท้อนกลับไปที่ ROI แดนบวกแบบเต็มศักยภาพของธุรกิจ
ต่อไปนี้คือตัวแปรย่อยของ ROI ที่ผมอยากแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักไว้
Return on Debit
คือค่าผลกำไรต่อส่วนงบดุลที่เป็นเดบิต ได้แก่ สินทรัพย์ต่างๆ ค่าในกลุ่มนี้ได้แก่ ROA, ROFA, ROTA, ROCE โดยค่าในกลุ่มนี้มักจะถูกจัดอยู่ในอัตราส่วนทางการเงินกลุ่ม efficiency หรือค่าที่มีไว้บ่งบอกประสิทธิภาพการทำงาน หรือความสามารถทางการใช้สินทรัพย์
- ROA หรือ Return on Asset หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ สูตรโดยทั่วไปเท่ากับ ผลกำไร/สินทรัพย์รวม โดยผลกำไรที่นิยมใช้จะใช้ค่ากำไรก่อนภาระดอกเบี้ยและภาษี หรือ EBIT เนื่องจากเป็นผลกำไรที่ไม่คำนึงถึงภาระของหนี้สินซึ่งเป็นส่วนของต้นทุนทางการเงินนั่นเอง… โดยทั่วไป ROA จะบ่งถึงความสามารถในการใช้ทรัพย์สิน หรืออีกในแง่หนึ่งคือผลกำไรของบริษัทจำเป็นต้องใช้สินทรัพย์เพื่อสร้างมาขนาดไหน สังเกตได้ว่าบริษัทที่ ROA สูงๆ มักจะเป็นบริษัทในกลุ่มบริการ ซึ่งอาจจะมีสินทรัพย์ถาวรน้อยกว่าบริษัทกลุ่มผลิตที่ต้องลงทุนที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ค่อนข้างมาก
- ROTA หรือ Return on Total Asset หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม สูตรโดยทั่วไปเหมือนกับ ROA แต่ที่ใส่คำว่า Total เพิ่มเพื่อเน้นว่าใช้สินทรัพย์ทั้งหมด เนื่องจากผู้วิเคราะห์บางคนนิยมตัดสินทรัพย์ที่ไม่สร้างรายได้ออกจากการคำนวณ ROA ซึ่งการใช้ ROTA จะบ่งบอกถึงคำนิยามที่แม่นยำกว่า
- ROFA หรือ Return on Fixed Asset หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ถาวร สูตรโดยทั่วไปเท่ากับ ผลกำไร/สินทรัพย์ถาวร โดย ROFA จะเปรียบเทียบค่าได้ชัดเจนกว่า ROA เนื่องจากค่าของ ROA จะรวมสินทรัพย์บางอย่างที่อาจจะไม่สร้างผลกำไรโดยตรงด้วย เช่น เงินสด ตราสารหนี้ และเงินลงทุนระยะสั้น แต่การเลือกใช้ Fixed Asset โดยเฉพาะกลุ่มอาคาร ที่ดิน และอุปกรณ์จะบ่งบอกได้ชัดเจนว่าบริษัทไหนใช้สินทรัพย์ได้ดีกว่ากัน ยิ่งเป็นธุรกิจเดียวกันจะยิ่งชัดมาก
- ROCE หรือ Return on Capital Employed หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ดำเนินงาน หรือ Operating Asset ซึ่งมีแนวคิดคล้ายกับ ROFA ที่สนใจแต่สินทรัพย์ที่สร้างกำไรทางตรงของบริษัทเท่านั้น แต่ ROCE จะมีวิธีการคิดที่แตกต่างกันออกไป โดยสูตรทั่วไปเท่ากับ ผลกำไร/(สินทรัพย์รวม – หนี้สินไม่หมุนเวียน)
Return on Credit
คือค่าผลกำไรต่อส่วนงบดุลที่เป็นเครดิต ได้แก่ ที่มาของเงินทุน ทั้งหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น ค่าในกลุ่มนี้ได้แก่ ROE, ROIC โดยค่าในกลุ่มนี้มักจะถูกจัดอยู่ในอัตราส่วนทางการเงินกลุ่ม Profitability หรือ… ค่าที่มีไว้แสดงความสามารถในการทำกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนนั่นเอง!
- ROE หรือ Return on Equity หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น สูตรทั่วไปเท่ากับ Net Profit/Equity โดยสังเกตได้ว่า ROE จะใช้ NP หรือ Net Profit เนื่องจาก ROE เป็นการเปรียบเทียบความสามารถในการทำกำไรเมื่อเทียบกับเครดิตหรือต้นทุนของเงินทุน ดังนั้น กำไรที่ได้ต้องหักดอกเบี้ยออกเสมอ เพราะหนี้สินถือเป็นต้นทุนของเงินทุนด้วย จึงสังเกตได้ว่าบริษัทที่หนี้สินมากจะมี ROE สูงกว่าบริษัทที่หนี้สินน้อย แม้จะมีความสามารถในการทำกำไรไม่ต่างกัน เนื่องจากเกิดผลจากการใช้อัตราทดของหนี้สิน โดยปรกติ ROE จึงไม่ค่อยเหมาะที่จะนำมาใช้เปรียบเทียบบริษัทที่มีสภาพหนี้แตกต่างกันมาก โดยอาจจะหันไปใช้การวิเคราะห์โครงสร้าง ROE แบบ DuPont Analysis เพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น
- ROIC หรือ Return on Invested Capital หมายถึงอัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุน สูตรทั่วไปเท่ากับ NOPAT/(ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้ระยะยาว) ข้อสังเกตแรกคือผลกำไรที่ใช้มักจะใช้ NOPAT ซึ่งเป็นค่ากำไรที่หักภาษีแต่ไม่หักดอกเบี้ย เนื่องจาก ROIC มองต้นทุนของเงินทุนเป็นก้อนเดียว ไม่แยกหนี้สินกับทุน ทำให้ดอกเบี้ยก็มีค่าเท่ากับกำไรที่จะไปตอบแทนให้กับหนี้สิน ผลกำไรที่ใช้จึงไม่หักดอกเบี้ยออก ข้อสังเกตที่สองคือเงินลงทุนนิยมใช้ส่วนของผู้ถือหุ้นบวกกับหนี้ระยะยาว บางตำราก็ใช้หนี้ที่มีดอกเบี้ย ซึ่งก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเห็นของผู้วิเคราะห์ แต่โดยส่วนใหญ่หนี้ระยะยาวก็มักจะเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยอยู่แล้ว ข้อสังเกตสุดท้ายคือ ROIC มีส่วนฐานคล้ายกับ ROCE มาก เรียกได้ว่าเท่ากันในทางบัญชีงบดุล แต่ทั้งสองค่ามีที่มาของทฤษฎีแตกต่างกัน ค่าหนึ่งมาจากฝั่งเครดิต ค่าหนึ่งมาจากฝั่งเดบิต ROE และ ROIC มีประโยชน์ค่อนข้างมากในการประเมินมูลค่าหุ้น โดย ROE นิยมใช้ในการวิเคราะห์การเติบโตของ Free Cash Flow to ShareHolder ในขณะที่ ROIC นิยมใช้ในการวิเคราะห์การเติบโตของ Free Cash Flow to Firm ซึ่งขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนใช้โมเดลไหนในการวิเคราะห์มูลค่า
ข้อมูลวันนี้มึนๆ หน่อยครับ… ในชั้นนี้ก็ยังไม่ต้องสนใจลึกซึ้งมาก เพราะสูตรการประเมินผลตอบแทนการลงทุนเหล่านี้ จะว่าสำคัญก็สำคัญ โดยเฉพาะการใช้เพื่อประเมินบริษัทที่นักลงทุนกำลังจะเข้าร่วมทุน ซื้อกิจการหรือการลงทุนกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในหลายๆ กรณี… แต่โดยทั่วไป SME ที่ทำมาค้าขายส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดูตัวเลขพวกนี้กันหรอกครับ เว้นแต่จะเข้าไปกู้เงินเยอะๆ หลายกรณีก็เป็นไปได้ที่ธนาคารหรือนายทุนจะดึง ROI ไปดูแล้วดูอีก
แต่ผมก็อยากแนะนำให้ SME ฝึกแงะ ROI ของกิจการตัวเองแบบลึกๆ มาดูหน่อยก็ดีครับ ถือเสียว่าเป็นมาตรวัดฝีมือทำธุรกิจก็ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก… ลงทุนศาสตร์ Investerest.co