ในบรรดาเทคนิคและแนวทางการคิดเพื่อจัดการปัญหา หรือ Thinking and Problem Solving รวมไปถึงแนวทางการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking ที่ใครๆ ก็เชื่อว่าเป็นแนวทางการเสนอไอเดียเจ๋งๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และให้ผลเด่นชัดในการจัดการปัญหา รวมทั้งการยอมรับจากผู้อื่นซึ่งอาจส่งผลถึงขั้นทำให้เจ้าของไอเดียกลายเป็นคนสำคัญได้ไม่ยาก
แต่หลายกรณีการคิดจัดการปัญหาไม่ได้ง่าย จนทำให้หลายๆ คนขอสะสมข้ามผ่านปัญหาไปก่อน เพียงเพราะคิดยังไม่ออกว่าจะจัดการปัญหาไหนอย่างไรดี จนหลายกรณีเกิดปัญหาทับถมกลายเป็นปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย ถึงขั้นกลายจากปัญหาเล็กๆ เป็นเรื่องใหญ่โตก็มีให้เห็นเสมอ
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ คู่แข่งอย่าง AI เข้ามาช่วยสะสางปัญหาหลายอย่างที่มนุษย์ทำได้ไม่ดีด้วยซ้ำ จนเบียดเอาความสำคัญของมนุษย์ไปสะสางแทน ที่แปลว่า… มนุษย์ถูก AI แย่งงานเพราะสามารถสะสางการงานและปัญหาได้ดีกว่า มนุษย์จึงต้องการ “ทักษะการคิดที่สร้างสรรค์” มากกว่าที่หุ่นยนต์หรือ AI จะทำได้… ซึ่งการคิดแก้ปัญหาแบบห้ามไปซ้ายก็เลี้ยวขวาที่ AI คิดได้ คงไม่เหลือที่เหลือทางให้มนุษย์อีก
ประกอบกับปรากฏการณ์ดิจิตอลป่วนโลก หรือ Digital Disrupted ผลักดันการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจากประเด็นหนึ่งไปอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งมีแต่สมองและแนวคิดเท่านั้นที่สามารถพลิกตามการเปลี่ยนแปลง จนลดแรงกระทบระดับพลิกคว่ำเสียหายได้… ตำราสอนการคิดมากมายจึงได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ตื่นตัวเพื่อเปลี่ยนตัวเองจากเดิมให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้าใส่… ซึ่งคนกลุ่มนี้ทราบดีว่า มีแต่สมองและการใช้สมองอย่างมีชั้นเชิงเท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์ยังคง “เจ๋งกว่า” เครื่องจักรหุ่นยนต์และ AI
คำว่าชั้นเชิง… หลายครั้งเรารู้จักกันด้วยชื่อ”กลยุทธ์” หรือไม่ก็ “เล่ห์เหลี่ยม” ซึ่งความเหมือนและความต่างของคำ 3 คำนี้ถึงจะพอหาได้บ้างแต่ก็ช่างเล็กน้อยผิวเผิน ในขณะที่ผลลัพธ์การใช้ขั้นสุดท้าย ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันให้แบ่งแยกได้อยู่ดี โดยเฉพาะในมิติของการบรรลุวัตถุประสงค์
และในบรรดาชั้นเชิงการคิดเพื่อจัดการปัญหา ที่มีสูตรสำเร็จ หรือ แนวทางที่เคยมีคนใช้มาก่อนแล้วว่าได้ผลนั้น ย่อมมีวิธีคิดแบบกลับข้าง หรือ Reversal Thinking อยู่ด้วยอย่างแน่นอน…
โดยรูปแบบการคิดแบบกลับข้างเหมือนแก้ดำด้วยขาวหรือทำลายขาวด้วยดำนั้น… หลายความเชื่อเห็นว่าเป็นเพียงสัญชาตญาณโดยธรรมชาติที่ยังไม่ได้ขัดเกลา เหมือนกฏทางฟิสิกส์เรื่องแรงกิริยาเท่ากับแรงปฏิกิริยา… เหมือนด่ามาก็ด่ากลับ… จนการคิดกลับข้างในชีวิตประจำวันถูกสอนต่อๆ กันมาให้ควบคุมกดข่มการคิดกลับข้างเอาไว้… เพื่อประนีประนอมต่อสถานการณ์แบบสิบลบสิบเหลือศูนย์จนไม่เหลือประโยชน์อะไร ซึ่งการสอนให้เรา “คำนึงถึงประโยชน์ หรือ ผลประโยชน์” นี้เองที่หลายกรณีได้ทำลาย “ทางเลือก” บางส่วนที่หมายถึง “โอกาส” ที่อาจจะเจอประเด็นสร้างสรรค์ที่หลากหลาย
เวบไซต์ post-it.com พูดถึง Reverse Thinking ว่า… แท้จริงแล้ววิธีคิดนี้มีประโยชน์อย่างมากในการระดมสมอง เพื่อเปิดทางให้ทีมได้ปลดปล่อยไอเดียได้ครบทุกมิติ… ซึ่งการคิดกลับข้างสามารถมองปัญหาจากบนลงล่าง และ จากล่างขึ้นบนได้ทั้งสองมุมมอง… เกือบทุกกรณีจะให้ภาพสะท้อนปัญหาที่แตกต่างเท่าตัว อันหมายถึงโอกาสในการจัดการปัญหาก็เกิดทางเลือกและตัวแปรเพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นกัน
สมมุติว่า… คน 5 คนกำลังคุยกันเรื่องการทำเวบไซต์เพื่อให้คนเข้าชมชื่นชอบและใช้ซ้ำ การระดมสมองผ่านคำถามว่า “คนเข้าชมจะชอบเวบแบบไหน?” อาจไม่ง่ายที่จะเริ่มต้น… เพราะข้อเท็จจริงก็คือ ทั้งหมดที่คำตอบจะออกมาได้ก็ด้วยการ “คาดว่า” คนเข้าชมน่าจะชอบแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งในอนาคตเมื่อทำเวบตามที่ “คาดว่า” เสร็จแล้ว ผู้เข้าชมอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้… ในทางกลับกัน ถ้าทีม 5 คนนี้ตั้งคำถามใหม่เพิ่มว่า “คนเข้าชมจะเกลียดเวบไซต์แบบไหนบ้าง” ซึ่งทีมนี้จะได้คำตอบจากอีกด้านที่พวกเขารู้ว่าจะไม่ทำเวบไซต์แบบไหนออกมาด้วย
เมื่อกลับมาพิจารณาประเด็นการคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้มนุษย์ คิดได้ต่างจากการสังเคราะห์ผลลัพธ์ของ AI ซึ่งหลายฝ่ายเห็นพ้องตรงกันหมดว่า… AI คิดวกวนเพื่อเขย่าหาไอเดียแปลกใหม่เหมือนมนุษย์ได้ยาก โดยเฉพาะการคิดที่ใช้ชั้นเชิงขั้นสูงเพื่อสร้างสรรค์ทางเลือกที่แตกต่าง และแนวทางการคิดแบบ Reverse Thinking หรือ Reversal Thinking หรือ Reversal Technique… จึงได้รับความสนใจจากนักคิดสร้างสรรค์ทั่วโลกแพร่หลายมากขึ้นทุกวัน
ลองเอาไปปรับใช้ดูได้ครับ!
อ้างอิง