Sadness

Sad All The Time… เศร้าใจไม่มีสร่าง #SelfInsight

อารมณ์เศร้า หรือ ความรู้สึกเศร้าสำหรับทุกคนคงจะมีเหมือนๆ กันเมื่อเหตุการณ์แวดล้อมขณะนั้นกระทบอารมณ์และความรู้สึกให้เจ็บปวดเสียใจต่อเนื่อง… แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับ “ระดับความเจ็บปวด” ของแต่ละคนว่ากระทบกระเทือนกับเหตุการณ์รูปแบบไหนขนาดไหนจึง “เจ็บปวดต่อเนื่องจนเห็นเป็นความเศร้า”

หลายคนแค่รู้สึกเสียเปรียบก็เศร้าได้ ในขณะที่หลายคนรู้สึกเสียเปรียบขึ้นมากลับโกรธแค้นกร้าวร้าว… บางครั้งก็แค่เจอเหตุการณ์ความสูญเสียเอย สิ้นหวังเอย และเจออะไรลบๆ แย่ๆ อีกสารพัดอันเป็นเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ จนเกาะติดความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ต่อเนื่องยาวนาน… ซึ่งความเสียใจต่อเนื่องนานๆ นี่เองที่เรียกว่าเศร้า

มุมมองทางจิตสังคมเกี่ยวกับความเศร้าถือเป็น “ประสบการณ์ชีวิต” ที่ติดเป็นบุคลิกและพื้นนิสัยมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยพัฒนามาจากความสมหวัง ความผิดหวัง และ ทุกข์สุขที่เกิดกับตัวมาพร้อมกับการเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ทำให้ประสบการณ์ “ความเจ็บปวด และ ช่วงเวลาที่ความเจ็บปวดยังส่งผลกระทบอยู่แต่เดิม” ถูกนำมาเปรียบเทียบกับระดับความเจ็บปวด และ ระยะเวลาที่ความเจ็บปวดในปัจจุบันคงอยู่ แล้วสะท้อนออกมาเป็นอารมณ์… ถ้าระยะเวลายาวนานก็ถือว่าเศร้าต่อเนื่องไม่มีสร่างง่ายๆ

ที่แย่กว่านั้นคือ… หลายคนในหลายกรณีจะมีความเจ็บปวดจากประสบการณ์เดิมในอดีต มาเพิ่มใส่ความเจ็บปวดในประสบการณ์ครั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้ร่องรอยความเศร้าเดิม ปรากฏขึ้นให้เห็นว่าไม่เคยหายไปจากชีวิต และ ถมซ้ำด้วยความเสียใจอันเป็นความเศร้าล่าสุด กลายเป็นคนมีอารมณ์เศร้าเป็นบุคลิกภาพจนปรากฏชัดเจนในสายตาคนทั่วไป

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร… ความเศร้า หรือ Sadness ในอารมณ์ของคนๆ หนึ่ง เป็นคนละเรื่องกับอาการป่วยด้วยภาวะซึมเศร้า หรือ Depression ซึ่งมีความซับซ้อนของจิตประสาทมากกว่า… แต่คนที่ครองความเศร้าต่อเนื่องยาวนาน ก็ย่อมเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ไม่ยาก…  ถ้าไม่หยุดเสียใจ หรือ ปล่อยวางต้นเหตุความเศร้าโดยเร็ว ซึ่งมีแต่เจ้าตัวเท่านั้นที่จะทำได้

ส่วนแนวทางการยุติความเสียใจต่อเนื่องจนกลายเป็นความเศร้านั้น… ในทางเทคนิคก็คงต้องใช้ “ประสบการณ์ตรงกันข้ามกับความเสียใจ” ซึ่งทุกคนคงเคยมีช่วงเวลาที่สนุกสนาน อิ่มเอม หรือ ปลื้มปริ่ม กับอะไรหรือเหตุการณ์ไหนมาบ้าง… แต่ถ้าประสบการณ์ที่จะทำให้สนุกสนาน อิ่มเอม หรือ ปลื้มปริ่มเกิดไปผูกติดอยู่กับเงื่อนไขที่ไม่มีโอกาสจะทำให้เป็นจริงได้อีก… ไม่ว่าจะผูกติดอยู่กับคน ทรัพย์สิน สิ่งของ หรืออะไรอย่างไรที่เคยมีเคยได้ก็ตามแต่ ก็ต้องคุยกับตัวเองให้เข้าใจแล้วว่าเงื่อนไขเหล่านั้นได้ผ่านเราไปหมดแล้ว… การจะเลิกเศร้าซึ่งจำเป็นจะต้อง “ยุติการผูกติด” กับเงื่อนไขจากประสบการณ์เดิมให้ “อะไรที่มันผ่านไปแล้วได้ผ่านไป”

เพื่อให้อะไรที่กำลังจะผ่านมาได้เข้ามา… ประมาณนั้น!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts