เว็บไซต์ข่าว bbc.com ได้รายงานข่าว “นโยบายอาหารฟรีแก่เด็กระดับปฐมศึกษา” ในแคว้นเวลล์ หรือ Wales ในสหราชอาณาจักร ซึ่งจะมีเด็กๆ ในแคว้นเวลล์กว่า 180,000 คนได้รับอาหารฟรีในปีการศึกษา 2022 ซึ่งจะเปิดภาคเรียนใหม่ในฤดูใบไม้ร่วงเดือนกันยายน ปี 2022
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มี Mark Drakeford ในฐานะผู้ว่าการแคว้นเวลล์ หรือ First Minister of Wales และ Adam Price ผู้เป็นสมาชิกรัฐสภาอังกฤษจากแคว้นเวลล์ และ หัวหน้าพรรค Plaid Cymru ขึ้นเวทีร่วมแถลงข่าวที่แสนจะดูผิวเผินว่าธรรมดาเหลือเกินนี้
นโยบายในคราวนี้… ถือเป็นความร่วมมือของฝ่ายการเมืองอย่างน่าสนใจของพรรค Labour และ พรรค Plaid Cymru ถึงแม้จะมีเสียงติติงจากสหภาพฝ่ายครูให้ความเห็นว่า… โรงเรียนบางแห่งอาจจะยังไม่พร้อมที่จะจัดอาหารฟรีให้นักเรียนที่โรงเรียนได้ภายในฤดูใบไม้ร่วงเดือนกันยายนนี้… รวมทั้งเสียงติติงจากคนของพรรคอนุรักษ์นิยมบางส่วน ที่มองว่าเป็นการทำนโยบายแบบเหวี่ยงแห ไร้ความคิด และ สิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดอาหารฟรีให้กับบรรดาลูกหลานของเศรษฐีซึ่งเป็นนักเรียนส่วนใหญ่ในเวลส์ และ ควรจะนำงบประมาณในส่วนนี้ไปโฟกัสกลุ่มเด็กยากจนที่ต้องการจริงๆ มากกว่า
แต่ Mark Drakeford และ Adam Price ก็แถลงว่า… นโยบายนี้จะเริ่มต้นด้วยการจัดสรรงบประมาณขนาด 25 ล้านปอนด์เพื่อปรับปรุงโรงครัว และ โรงอาหารของโรงเรียน… และเตรียมงบประมาณอีก 40 ล้านปอนด์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายวันในโครงการนี้… และจะเพิ่มค่าใช้จ่ายรายวันเป็น 70 ล้านปอนด์ในปี 2023-2024 และ 90 ล้านปอนด์ในปี 2024-2025… และ ทุกอย่างกำลังเดินหน้า
ผมเอาข่าวนี้มาเล่าก็เพราะว่า… ระบบการศึกษาของประเทศไทยนับจากนี้ก็คงอีกไม่นานที่จะได้เห็น “ท้องถิ่น” เข้ามามีบทบาทในการจัดการทางการศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนถึงปฐมศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการทำดีที่สุดได้ไม่มากกว่านี้อีกเท่าไหร่แล้ว และ ผมอยากเห็น “การเมืองท้องถิ่น” เริ่มต้นที่อาหารดีๆ สำหรับเด็กที่กำลังเติบโตทุกด้าน เพื่อให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่จะมารับ “ภาระ” ต่อจากคนใหญ่คนโตในปัจจุบันที่มีอนาคตสั้นกว่าอดีต และ นับถอยหลังวันจากไปในท้ายที่สุด โดยเด็กควรจะได้โอกาสมากกว่าคนรุ่นเรา… ซึ่งนักการเมืองท้องถิ่นในแคว้นเวลล์ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วว่า “มันทำได้”
และโดยส่วนตัวเมื่อเห็นข่าวจาก BBC ชิ้นนี้แล้วก็นึกถึงโครงการ Thai School Lunch ของเนคเทค หรือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เคยได้ร่วมกันพัฒนา “ระบบแนะนำตำรับอาหาร” สำหรับโรงเรียนที่สมัครเป็นสมาชิก ได้นำข้อมูลในระบบไปใช้จัดสำรับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ และ ครบถ้วนด้านโภชนาการที่เพียงพอต่อความต้องการของเด็กนักเรียนแนะนำไว้… ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าในปัจจุบันยังมีโรงเรียนไหนใช้อยู่มั๊ย… เพราะเมนูและตำรับอาหารเป็นพันรายการก็คงช่วยอะไรเด็ก หรือ โรงเรียนไม่ได้ ถ้างบประมาณ และ วิธีการจัดหาอาหารกลางวันให้เด็กที่โรงเรียนยังมีช่องโหว่ให้โกงง่าย และ โกงกันจริงจังเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งๆ ที่วงเงินงบประมาณที่ให้ก็ต่ำได้น่าเศร้าอยู่แล้ว
คิดแล้วก็อยากเอาบล็อกเชนเข้าไปจัดการทั้งระบบบัญชีรับจ่าย และ ระบบ DAO หรือ Decentralized Autonomous Organization เพื่อจัดการโครงการอาหารกลางวันจริงๆ
References…