Pyramid Design

SCQA For Active Learning… แนวคิดการสื่อสารเพื่อการศึกษา

ทฤษฏีการศึกษาที่เป็นแม่แบบอ้างอิงให้ครูอาจารย์และนักวิชาการด้านการศึกษา ได้สร้างหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ขาดตกบกพร่อง ส่งมอบถ่ายทอดไปยังผู้เรียน ให้มีทักษะและความรู้ไปทำประโยชน์ให้ตัวเองและผู้อื่นต่อเนื่องโยงใยไม่รู้จบ… ทฤษฏีการศึกษาบอกเราได้ว่า ในขั้นการเรียนการสอนควรมีกิจกรรมอะไร แค่ไหนและอย่างไร จึงจะทำให้ผู้เรียน “เกิดประสบการณ์” จากความรู้ใหม่ที่ได้รับ

อย่างที่เคยเขียนไว้ในบทความตอนที่ชื่อ Cone of Experience and Pyramid Principle… กรวยประสบการณ์และทฤษฎีปิรามิด ซึ่งกล่าวถึงทฤษฏีการศึกษาของ Edgar Dale อันเป็นเสาหลักของการจัดการเรียนรู้ อ้างอิง Cone of Experience ซึ่งหัวใจของทฤษฏีถูกระบุบนชื่อทฤษฏีตรงๆ ว่า Experience หรือประสบการณ์… ซึ่ง Edgar Dale เชื่อว่า ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม จะทำให้เกิดการเรียนรู้แตกต่างจากประสบการณ์ที่เป็นนามธรรม… และความเชื่อนี้พิสูจน์มายาวนานว่าเป็นจริงตามนั้นมาตลอด

ประเด็นก็คือ… การเรียนรู้ถึงขั้นเกิดประสบการณ์เป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับผู้เรียนเสมอ โดยเฉพาะประสบการณ์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ที่ถือเป็น “มาตรวัด” สำคัญที่ชี้ว่า “การเรียนการสอนชุดนั้น” ให้ผลลัพธ์ผลักดันบางคนหรือบางสิ่งให้เปลี่ยนแปลงได้… ส่วนจะใช่การเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง…

คำว่า “ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม” บนแนวคิดหลักของ Edgar Dale จนแยกแยะรูปแบบการเรียนการสอนออกมาได้มากถึง 10 แนวทาง ที่ปัจจุบันยังคงพิสูจน์ได้อยู่ว่า… แนวทาง 10 อย่างที่อธิบายด้วยกรวยหรือปิรามิดให้เห็นฐานและปลายยอด แจกแจงหลักการประกอบเหตุผลใส่ไว้ในภาพเดียว… ซึ่งหากพิจารณาให้ถ่องแท้จะสามารถตีความได้เลยว่า… กรวย 10 ชั้นของ Edgar Dale แตกแนวทางออกมาจาก “ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม และประสบการณ์ที่เป็นนามธรรม” นั่นเอง

ซึ่งประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม จะถูกเรียกว่า Active Learning ในขณะที่ ประสบการณ์ที่เป็นนามธรรม ก็ถูกเรียกว่า Passive Learning… ซึ่งทั้งสองส่วน สำคัญกับรูปทรงปิรามิดโดยรวม… โดยให้ Active Learning เป็นฐานชั้นล่างทั้งหมด และ Passive Learning ช่วยเติมเต็มถึงปลายยอด

แต่ในทางปฏิบัติ… การจัดการเรียนการสอน หรือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อนยุ่งยากอยู่ในบริบทเสมอ จน “ความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอน” ได้ผลลัพธ์เป็นความล้มเหลวที่เห็นได้จาก การต้องใช้ความพยายามอย่างมากของผู้เรียนในระบบการศึกษา เพื่อเสริมพื้นฐานความรู้ให้ถึงระดับที่วัดความรู้ออกมาแล้ว สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ผู้เรียนตามต้องการได้… เช่น ผู้เรียนอยากเป็นหมอ ก็ต้องเรียนในโรงเรียนให้รู้เรื่องและได้คะแนนดีเยี่ยม และยังต้องหาที่เรียนเสริม เพื่อเติมเต็มจากที่เรียนในโรงเรียน ซึ่งนักเรียนรู้ได้ว่า ยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนนักเรียนมัธยมปลาย ให้กลายเป็นนักศึกษาแพทย์ได้… 

กรณีการเรียนเสริมของนักเรียนมัธยมปลายที่อยากเป็นหมอ… ตามหาติวเตอร์ช่วยสร้างทักษะการทำโจทย์สอบหมอ โดยปรัชญาเบื้องหลังแล้วคือการสะสมประสบการณ์การแก้โจทย์ยากๆ ที่การคัดเลือกเข้าเรียนหมอ ต้องการคนที่มีประสบการณ์กับโจทย์ยากๆ ที่บอกหลายอย่างในผลการทดสอบและผลการเรียน… ในขณะที่นักเรียนมัธยมปลายที่อยากเป็นนายทหาร… ต้องการติวเตอร์ที่มีโปรแกรมออกกำลังกายอย่างหนัก คู่กับการแก้โจทย์ยากๆ เช่นกัน… ซึ่งความต้องการของนักเรียนมัธยมปลายทั้งหมด จึงมี Insight ที่หลากหลายด้วยเป้าหมายที่แตกต่างชัดเจน… ซึ่งการให้บริการการศึกษาที่เจอ Insight อันหลากหลายนี้เอง ที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาที่คิดโดยไม่สนใจ Insight ของผู้เรียน… จึงเหมือนการแจกยาแก้ไอมาจิบแก้คันเชื้อราในร่มผ้ายังไงยังงั้น!!!

ข้อเท็จจริงก็คือ… ผู้เรียนรู้ดีว่าอยากเรียนอะไร เพื่อไปทำอะไร… และอยากให้ผู้สอน ช่วยให้มีประสบการณ์และความรู้ในเรื่องที่อยากเรียน โดยหวังว่าจะได้ประสบการณ์และความรู้จากผู้สอนมาครบๆ ทุกแง่มุมที่ “ผู้เรียนไม่มีความรู้หรือทักษะมาก่อน” จึงมาเรียน… หลายกรณีไม่รู้ถึงขนาดครูสอนไม่หมดก็ไม่รู้เรื่องเลย

ข้อมูล Insight ของผู้เรียนจึงสำคัญมากในการจัดโครงสร้างทางการศึกษา ซึ่งผู้เรียนจะเลือกผู้สอนหรือสถาบันด้วย Insight ของตัวเองเป็นเงื่อนไขหลักในการตัดสินใจ ภายใต้ “บริบทการตัดสินใจ” ที่ต่างกันในแต่ละคน

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า… ผู้เรียนมีเป้าหมายของการทุ่มเททรัพยากรทั้งเวลาและทุนทรัพย์มาเรียนก็เพื่อ “ได้อะไรกลับไป” เหมือนเข้า 7-11 เพราะอยากได้ลูกอมก็แวะซื้อลูกอม

แต่การเรียนการสอนต่างจากหาซื้อลูกอมมาก… เพราะในโลกความจริง ความรู้หรือทักษะเรื่องเดียวแทบจะเอาไปทำอะไรไม่ได้… เหมือนแม่ครัวที่ทำกับข้าวแสนอร่อยยังต้องอ่านฉลากเครื่องปรุงออก และเด็กนักเรียนชั้น ป.2 จะทำการบ้านคณิตศาสตร์ไม่ได้ถ้าอ่านโจทย์ไม่ออกเช่นกัน

ถึงตรงนี้ผมจึงเสนอให้สนใจ Insight ของผู้เรียนให้มาก… เพื่อให้ได้ระบบการศึกษาที่ยืดยุ่นพอสำหรับทุก Insight ที่จะเข้าถึงทักษะและความรู้ที่มีอยู่มากมาย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนล้วนต้องเรียนรู้อะไรซักอย่างตลอดเวลา…

โดยเฉพาะการสอนหรือถ่ายทอดความรู้ระดับ “การสร้างประสบการณ์ตรง” แบบที่ Edgar Dale เรียกว่า ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม หรือที่นักการศึกษายุคหลังเรียกว่า Active Learning ซึ่งมีความหมายที่สำคัญระดับฐานรากของชีวิตคนๆ หนึ่ง ที่การศึกษาจะช่วยให้ชิวิตของเขา ต่อยอดขึ้นสูงได้อีกไม่รู้จบ

ในระดับหลักสูตร… ลองกางหลักสูตรที่ท่านรับผิดชอบสอนออกมาดู Situation กันหน่อยมั๊ยครับ… ศึกษา Complication ให้รอบด้าน… ตั้ง “คำถาม” กับทุกมิติที่เกี่ยวกับหลักสูตรของท่าน… หา “คำตอบ” ให้ทุกคำถาม จากทุกข้อโต้แย้ง ที่แม้จะต้องกลับไปทำวิจัยอีกเป็นปีเพื่อหา “หลักฐานเชิงประจักษ์” ก็รีบทำ… แล้วค่อยกลั่นทั้งหมดนั้น ออกมาเป็น “องค์ความรู้” ที่เข้าได้กับ Insight ของผู้เรียนให้ได้… ซึ่งทั้งหมด สามารถนำ SCQA Framwork มาใช้ได้เลย

ส่วนในระดับโครงสร้างทางการศึกษา… ขอให้ท่านที่เกี่ยวข้อง “คืนสิทธิ์” การเลือกระบบการเรียนกลับมาให้ “กลไกการตัดสินใจของผู้เรียน” และเอาเวลาไปเพิ่มทางเลือกให้หลากหลายและยืดยุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สนใจระบบการศึกษาว่าจะเก่าหรือใหม่… โบราณหรือไฮเทค… เท่าเทียมหรือแบ่งแยก… เหมือนโทรศัพท์มือถือกับโทรศัพท์พื้นฐานที่ให้สิทธิ์คนใช้โทรศัพท์ตัดสินใจเองว่าจะใช้โทรศัพท์แบบไหน… การเลือกสถานศึกษา เลือกเรียนในห้องหรือเรียนออนไลน์ เรียนกับครูคนไหน สอนหลักสูตรอะไร สอนวิชาอะไร… Insight ของผู้เรียนจะพาพวกเขา “ตัดสินใจ” เอง… ซึ่งผมคิดว่า นักการศึกษาหรือนักการเมืองไม่ควรคิดว่าจะหาอะไรมาแทนที่อะไรให้ผู้เรียน… แต่ท่านควรเพิ่มระบบพื้นฐานทางการศึกษาใหม่ๆ เติมโครงสร้างทางการศึกษาของชาติ ให้มีตั้งแต่คลาสสิคโบราณไปถึงล้ำสมัยไฮเทค… เหมือนโทรเลข โทรศัพท์และมือถือที่ยังอยู่ร่วมสมัยกันในช่วงเวลาหนึ่ง จนไม่มีคนต้องการโทรเลขแล้วจึงปิดไป

ชัดๆ ก็คือ… eLearning กับ Classic School ไม่ใช่ตัวเลือกที่ต้องมีอันใดอันหนึ่งในระบบการศึกษาที่คนทำนโยบายจะ “ช่วยเลือก” เพราะเชื่อว่าตัวเองตัดสินใจดีกว่า นั่นแปลว่าต้องบูรณะ Classic School เอาไว้… และเพิ่ม eLearning และความยืดยุ่นให้ทุกหนทางการสร้างเสริมความรู้ของคนในชาติ โดยเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่แปลว่า เอา Insight ของผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั่นเอง

และแก่นของการปฏิรูปการศึกษา คือการคืนสิทธิ์ให้ผู้เรียนเลือก… ทุกกรณี!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts