นิยามของเกษตรกรรมยั่งยืน หรือ Sustainable Agriculture ตามคู่มือพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม โดย ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ซึ่งอาจารย์เป็นนักวิชาการอิสระ และ เลขาธิการสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย อธิบายว่า… เกษตรกรรมยั่งยืน คือ ระบบการเกษตรที่ครอบคลุมถึงวิถีชีวิตเกษตรกร กระบวนการผลิต และ การจัดการทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และ ระบบนิเวศซึ่งนําไปสู่การพึ่งตนเอง และ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และ ผู้บริโภค… เกษตรกรรมยั่งยืนครอบคลุมเกษตรธรรมชาติเกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน และ เกษตรทฤษฎีใหม่
ประเด็นก็คือ… หากเป็นกรณีของการทำการเกษตรยั่งยืนโดยเกษตรกรผลิตเพื่อขายจำนวนมาก และหรือ แปรรูปเป็นสินค้ากระจายผ่านห่วงโซ่อุปทานในระบบนิเวศการค้า และ ช่องทางค้าขายถึงปากท้องครัวเรือนผู้บริโภคที่อยู่ไกลออกไปถึงต่างตำบล ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ… การพัฒนามาตรฐานเพื่อรับรองผลผลิตก็จะมีความจําเป็นขึ้นมาทันที
ที่ผ่านมา… การรับรองมาตรฐานผลผลิตทางการเกษตรที่ประสบความสำเร็จมีเพียงระบบเกษตรอินทรีย์ โดยเกษตรกรสามารถเข้าขอสอบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่รับรองโดยกลไกรัฐ หรือ โดยกลไกเอกชน รวมทั้งการรับรองโดยกลไกบุคคลที่ 3… จนสามารถเข้าถึงการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล ซึ่งเชื่อมโยงตลาดปลายทางที่รองรับผลผลิตที่ผ่านการตรวจสอบ และ รับรองอย่างถูกต้อง… อันเป็นกลไกสากลมาตรฐานโลกไปแล้ว
ข่าวดีก็คือ… ประเทศไทยมีความชัดเจนในยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนจนกลายเป็นต้นแบบศึกษาดูงานระดับโลกมาตั้งแต่ต้น และถูกระบุในยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติและยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 อย่างโดดเด่น… แต่ในทางปฏิบัติ… การพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานต้องการโครงสร้างเชิงระบบที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนร่วมกันของทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย… นักวิชาการด้านการเกษตรแกนนำจึงนำใช้การพัฒนา “ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Guarantee System หรือ PGS” เพื่อสร้างกลไกการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ตามหลักยั่งยืน ทั้งในระดับจังหวัด และ ระดับประเทศ… ซึ่งเป็นที่มาของ “มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ Sustainable Development Goals Participatory Guarantee System หรือ SDGsPGS”
International Federation of Organic Agriculture Movements หรือ IFOAM ได้ให้คำนิยามคำว่า PGS หรือ ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมไว้ว่า… PGS คือ ระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่น ที่ให้การรับรองผู้ผลิตโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และ ตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อถือเครือข่ายทางสังคม และ การแลกเปลี่ยนความรู้… ซึ่งครอบคลุมประเด็นหลักๆ ดังนี้คือ
- Shared Vision หรือ ใช้วิสัยทัศน์ร่วม… ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต และ ผู้บริโภคในหลักการพื้นฐานของระบบชุมชนรับรอง ซึ่งการมีส่วนร่วมอาจแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการก็ได้
- Participatory หรือ การมีส่วนร่วม… ของผู้ที่สนใจในการบริโภคและการบริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากระบบนี้ หลักการและมาตรฐานการผลิตเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ระบบมีความน่าเชื่อถือ เพราะการมีส่วนร่วมนี้
- Transparency หรือ ความโปร่งใส… ที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงกลไกและกระบวนการในการตรวจรับรองทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจำเป็นต้องรู้รายละเอียดทุกอย่างเท่ากัน แลในขณะเดียวกันก็ต้องมีการปกป้องข้อมูลที่อาจะเป็นข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า
- Trust หรือ ความเชื่อมั่นต่อกัน… ระบบชุมชนรับรองจะตั้งอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า เราสามารถเชื่อถือเกษตรกรได้ และ การใช้กลไกควบคุมทางสังคม และ วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้
- Learning Process หรือ กระบวนการเรียนรู้… ระบบชุมชนรับรองไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงเพื่อให้การรับรองผลผลิต และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาชุมชนและเกษตรอินทรีย์
- Horizontality หรือ ความเชื่อมโยงในแนวราบ… ที่เป็นการแบ่งปันอำนาจและความรับผิดชอบของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนเพียง 2 – 3 คนเท่านั้น
รายละเอียดการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมสำหรับท่านที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มขนาด 81 หน้า ได้ที่นี่ครับ… หรือ ปรึกษานักวิชาการเกษตรประจำจังหวัดใกล้บ้านท่านโดยตรง
References…
- http://www.clinictech.ops.go.th
- https://tsata.or.th
- Featured Image: Photo by Engin Akyurt