When your day is long.
And the night, the night is yours alone.
When you’re sure you’ve had enough.
Of this life, well hang on.
Don’t let yourself go.
‘Cause everybody cries.
Everybody hurts sometimes.
เนื้อร้องบางส่วนจากเพลง Everybody Hurts ของ R.E.M. ซึ่งได้กลายเป็นเพลงอมตะที่ถูกใช้เพื่อปลุกปลอบใครสักคนในวันที่เจอเรื่องหนักหนา ตีบตัน คับข้อง มืดมน และ ไร้ทางออก… ซึ่งเป็นความเจ็บปวดในแบบที่ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือตัวเองยังไง หรือแม้แต่ไม่รู้ว่าความเจ็บช้ำโศกเศร้าที่ประสบอยู่จะจบลงยังไง… คนส่วนใหญ่มักจะสามารถผ่านช่วงเวลายากๆ ทำนองนี้ไปได้ ถึงแม้หลายคนจะต้องใช้หลายสิ่งอย่างเพื่อกู้คืน
มีข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์มากมายยืนยันว่า… คนที่คุ้นเคยและรู้วิธีเมตตาตน หรือ Self Compassion จะเป็นคนที่สามารถปรับแต่งอารมณ์ให้เป็นบวกได้ดีกว่าคนที่เอาแต่โทษตัวเอง และ ค้นหาที่ข้อบกพร่องของตน… แทนที่จะหาทาง “ไปต่อ” เพื่อให้ตนผ่านช่วงเวลาไร้ทางออกโดยเร็ว
ในหนังสือ Fierce Self-Compassion ของ Dr.Kristin Neff ซึ่งอธิบายจากข้อมูลการวิจัยเชิงจิตวิทยา โดยศึกษาประเด็นความเห็นอกเห็นใจตน หรือ ความเมตตาที่มีให้ตนสัมพันธ์กับแรงจูงใจส่วนตนอย่างไร ซึ่ง Dr.Kristin Neff ยืนยันว่า… ความเมตตาที่มีให้ตนเองจะจูงใจให้เราตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างมีสติ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่กระทบมาจากความผิดพลาด และหรือ ความล้มเหลวที่เจ้าตัวเชื่อว่าเป็นเพราะตน
แนวปฏิบัติในการฝึกเมตตาตนของ Dr.Kristin Neff จึงถูกประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในสาขา “จิตวิทยาการกีฬา” เพื่อช่วยให้นักกีฬารู้จักวิธีเมตตาตน และ มีปฏิกิริยาในทางสร้างสรรค์ต่อตนอย่างยืดหยุ่น โดยเฉพาะในยามที่ล้มเหลวแพ้พ่าย นักกีฬาที่แข้มแข็งจริงก็จะเมตตาตนมากพอที่จะไม่ผลักอารมณ์ความรู้สึกของตนเข้าหาทางตันที่มืดมนจนตัวเองถูกทำร้ายจากตนเอง
ข้อสรุปจากผลงานของ Dr.Kristin Neff ถูกยืนยันด้วยงานวิจัยในหัวข้อ Self-compassion and women athletes’ responses to emotionally difficult sport situations: An evaluation of a brief induction โดย Nathan A. Reis และคณะ จาก University of Saskatchewan ในแคนาดาได้ยืนยันว่า หลังจากผิดพลาดในการแข่งขัน และหรือ ฝึกซ้อม… นักกีฬาที่ฝึกความเห็นอกเห็นใจตนเอง หรือ ฝึกรู้จักเมตตาตนเองมาก่อน มีโอกาสน้อยที่จะปล่อยให้ตนเองย่อยยับ… โดยนักวิจัยพบว่าคนกลุ่มนี้เยือกเย็นกับความผิดพลาดที่ไม่ได้ดังหวัง แถมยังมีชีวิตชีวาที่จะทำให้ดีดั่งหวังกว่าเดิม รับผิดชอบดีขึ้น มีวินัยมากขึ้น และ เป็นมืออาชีพในท้ายที่สุด
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ… งานวิจัยของ Nathan A. Reis และคณะ ยังวิเคราะห์พบพลังของการรู้จักเมตตาตนที่ประกอบด้วย “ความปราถนาดี” ที่มีให้กับตน… ได้กลายเป็นแนวทางในการสร้าง และ ดูแลความสัมพันธ์ที่มีต่อคนรอบข้างที่เชื่อมโยงกันอย่างเหนียวแน่นผ่าน “ความรัก ความเมตตา และ ความปราถนาดี” ซึ่งเป็นปัจจัยความสุขที่ใครก็สามารถหาได้ไม่ยาก ถ้า… มีคนใกล้ตัวเต็มไปด้วยความรัก ความเมตตา และ ความปราถนาดีมอบให้
References…