ด้านหนึ่งของการเป็นผู้นำอันหมายถึง การมีผู้ตามอีกหลายชีวิตรอการตัดสินใจ หรือ รอคำตัดสินที่ส่งผลกระทบทั้งดีและร้ายต่อพวกเขานั้น… โดยเนื้อแท้ผู้นำเองก็เป็นปุถุชนที่กลัวและหวั่นไหวไม่ต่างกัน เมื่อต้องตัดสินใจบนความเสี่ยงที่ยังเต็มไปด้วยข้อสงสัย ความคลุมเครือ สับสนและซับซ้อน จนภาพลักษณ์ของผู้นำส่วนใหญ่ จะเห็นเป็นคนมีความเครียดสะสม ควบคุมอารมณ์ได้ยาก และ เจ็บป่วยหลายโรคเสมอ
Rich Fernandez และ Steph Stern โค้ชระดับเชี่ยวชาญด้านทักษะผู้นำจาก Search Inside Yourself Leadership Institute ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรภายใต้การสนับสนุนจาก Google ได้เผยข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองพบ จากการได้เจอกับเหล่าผู้นำองค์กรและนักธุรกิจระดับนำมากมาย ซึ่งเข้ามารับคำชี้แนะที่จำเป็นต้องนำไปปรับปรุงตัวเอง เพื่อให้การนำและการจัดการราบรื่นกว่าเดิม โดยเฉพาะแง่มุมที่ยังบกพร่อง หรือ แง่มุมที่ต้องปรับปรุงเพราะผลงานทำไว้ยังชัดเจนว่าค่อนข้างแย่… ซึ่งหลายอย่างมีแต่เจ้าตัวเท่านั้นที่รู้ว่ามันแย่ หรือ รู้ว่ามันเกือบจะแย่อย่างไร
Rich Fernandez และ Steph Stern พบปัญหาร่วมของเหล่าผู้นำเกือบทั้งหมดที่เข้าคอร์สผู้นำกับพวกเขาหลายแง่มุม แต่แง่มุมที่น่าสนใจที่สุดก็คือ… ทักษะความเมตตาอาทรต่อตนเอง หรือ Self Compassion Skill ซึ่งจะอยู่ในรูปของความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลายๆ กรณี ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นเหตุแห่งพฤติกรรมที่บ่อนทำลายตนเองหลายอย่าง โดยท้ายที่สุดก็กระทบและทำลายไปถึงทุกๆ ส่วนภายใต้การนำเสมอ
Rich Fernandez และ Steph Stern อธิบายว่า… ความเมตตาอาทรต่อตนของผู้นำส่วนใหญ่จะเป็น “ความพยายามหลีกเลี่ยงการเห็นอกเห็นใจตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ” ซึ่งผู้นำเหล่านี้เชื่อว่าเป็นความเสียสละ และ ได้มอบความเห็นอกเห็นใจให้ผู้อื่นได้ทั้งหมด โดยการทุ่มเทหลายอย่างให้เป็นภาระตน เพื่อให้ได้ผลสำเร็จ… รวมทั้งการยอมรับในฐานะผู้นำแสนดี เก่ง ฉลาดและเสียสละมากมาย โดยลืมไปว่า… การไม่เห็นอกเห็นใจตัวเองจนกลายเป็นนิสัยขั้นไม่เหลือทางเลือกอื่นให้ตนเองนั้น ด้านหนึ่งได้กลายเป็นผู้นำที่ “ไม่เหลือความยืดยุ่น หรือ Resilience และ ความกล้า หรือ Courage” ให้ทางเลือกอื่นจนเป็นอุปสรรคในการ “พลิกแพลง และ สร้างสรรค์” ซึ่งเป็นขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายใหม่ในระดับคาดเดาได้ยาก
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ คนเราไม่ว่าจะสวมหมวกเป็นผู้นำ หรือ เป็นผู้ตาม หรือ เป็นใครก็ตาม… ธรรมชาติเรื่องการชอบตัดสินตัวเองโดยธรรมชาติ และ การวนเวียนอยู่กับประสบการณ์ทุกข์สุขในอดีต จนเกิดกลัวและกล้าซ่อนอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจต่อๆ มา จะมีเหมือนกันหมด… ในขณะที่ประสบการณ์เดิมหลายอย่าง อาจจะไม่ใช่ประสบการณ์ใหม่ที่ให้ผลลัพทธ์แบบเดิมก็ได้… ความสุขเดิมอาจจะกลายเป็นความทุกข์ใหม่ หรือ ความกลัวเดิมอาจจะเป็นโอกาสใหม่ก็ได้… ความยืดยุ่น และ กล้าหาญ โดยไม่พาตัวเองไปติดกับดัก “ตัดสินไปแล้ว” จึงสำคัญต่อโอกาสครั้งใหม่ และ ทั้งหมดสัมพันธ์กับความหมายที่เจ้าตัวรับรู้เกี่ยวกับตน หรือ Self Perception
ในคนทั่วไปนั้น… Self Perception หรือ การรับรู้ตนเองจะเกิดและพัฒนาจากประสบการณ์ส่วนตัว บวกกับ การรับรู้ปฏิสัมพันธ์ตอบกลับ หรือ Feedback จากสังคม… แต่คนทั่วไปภายใต้หมวกผู้นำมักจะรับรู้ตนเองเทียบกับ “ความคาดหวังส่วนตน” เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งประเด็น… ซึ่งความคาดหวังเป็นการประเมินที่ไม่มีมาตรฐานใดๆ ไม่ต่างจากเสียงนินทา หรือ คำวิจารณ์จากคนที่ไม่มีข้อมูล หรือ จากคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน… การประเมินความคาดหวังของตัวเองโดยตัวเองจึงไม่ใช่ปฏิสัมพันธ์ตอบกลับ หรือ Feedback ที่ควรใส่ใจนัก
ที่สำคัญก็คือ… คนทั่วไปมักจะติดกับดักความผิดพลาด หรือ กับดักความล้มเหลวของตัวเองโดยมีความกลัวคอยปลุกและเตือนต่อเนื่องเสมอ… ด่านแรกของความเมตตาอาทรต่อตนเอง หรือ Self Compassion จึงควรเริ่มต้นที่ “เข้าใจ” ความผิดพลาดล้มเหลวของตนเองก่อนอื่น… ซึ่งถ้าเข้าใจดีแล้วก็ไม่ยากที่จะหาทางทำผิดพลาดให้สำเร็จ และประสบการณ์ดีๆ อื่นๆ ก็จะมีตามมาอีกมาก… โดยจะเห็นเป็นความยืดยุ่นกล้าหาญที่จะพาตัวเองไปพบกับความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างมากมาย
หนังสือชื่อ Self-Compassion: The Proven Power of Being Kind to Yourself ของ Dr. Kristin Neff ซึ่งรวบรวมประเด็นมากมายจากงานวิจัยของเธอชี้ว่า… คนที่มีความเห็นอกเห็นใจในตนเอง สามารถทำผลงานได้ดีเยี่ยมไม่ต่างจากคนที่ทารุณตัวเองเอาผลงาน และ คนที่มีความเห็นอกเห็นใจตนเองมีโอกาสน้อยที่จะทำร้ายจิตใจตัวเองเกินควร ทำให้กลายเป็นคนล้มเหลวได้ เริ่มต้นใหม่ได้ และ ก้าวต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… ผู้นำที่เห็นอกเห็นใจตัวเองเป็น ก็จะเข้าอกเข้าใจผู้อื่นง่าย ซึ่งสะท้อนเป็นความฉลาดทางอารมณ์ หรือ Emotional Intelligence ที่มีในตัว และ เป็นแบบอย่างในการตัดสินใจที่ผู้ตามยอมรับได้ง่าย จนร่วมมือร่วมแรงได้ไม่ยาก… Professor Serena Chen ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก UC-Berkeley ระบุว่า การเห็นอกเห็นใจตนเอง และ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั้นเชื่อมโยงกัน ความเป็นคนจิตใจดีต่อตนเอง และ ไม่ตัดสินตนเองแย่ๆ จะเป็นแนวทางเมื่อต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วย
References…