Reflexivity Trap

Self Concept / Real Self / Ideal Self… สามตัวตนในคนเดียว

Carl Rogers หรือ คาร์ล รอเจอร์ส นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้พัฒนาวิธีการจิตบำบัด ที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและไม่ชี้นำ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ จิตวิทยามนุษยนิยม มีความเห็นว่า… ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสิ่งที่ดีและมีความสำคัญมาก โดยมีความพยายามที่จะพัฒนาร่างกายให้มีความเจริญเติบโตอย่างมีศักยภาพสูงสุด

Carl Rogers จึงพัฒนาทฤษฏีขึ้นจากการศึกษาปัญหาพฤติกรรมของคนไข้ในคลีนิคของตนเอง โดยให้ความสนใจเกี่ยวกับบุคลิกภาพที่เกิดจากสุขภาพเป็นอย่างมาก… ทฤษฏีของ Carl Rogers เน้นเกียรติของบุคคล และเชื่อว่าบุคคลมีความสามารถที่จะปรับปรุงชีวิตของตนเองเมื่อมีโอกาส… และเชื่อว่าบุคคลมิใช่จะเป็นเพียงแต่เหยื่อจากประสบการณ์ในวัยเด็ก หรือเป็นเหยื่อจากแรงขับของจิตใต้สำนึก… และเชื่อว่าบุคคลจะรู้จักการสังเกตสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ในแนวทางเฉพาะของบุคคล ซึ่งการรับรู้สภาพสิ่งแวดล้อมและปรับพฤติกรรมเข้าหาสภาพแวดล้อมนี้ จะเป็นโอกาสในการปรับปรุงชีวิตของตน

ความน่าสนใจของทฤษฎีของ Carl Rogers ก็คือการการแยกแยะตัวตนของคนให้เห็นอย่างชัดเจน ผ่านมุมมองเชิงพฤติกรรม โดย Carl Rogers เชื่อว่ามนุษย์มีตัวตนอยู่ 3 แบบในตัวทุกคนได้แก่

  1. Self Concept หรือ ตนที่ตนมองเห็น… ภาพที่ตนเห็นว่าตนเป็นอย่างไร มีความรู้ความสามารถ ลักษณะเพราะตนอย่างไร เช่น สวย รวย เก่ง ต่ำต้อย ขี้อาย ช่างพูด เก็บตัว เงียบ เป็นต้น การมองเห็นอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหรือภาพที่คนอื่นเห็น
  2. Real Self หรือ ตนตามที่เป็นจริง… ตัวตนตามข้อเท็จจริง แต่บ่อยครั้งที่ตนมองไม่เห็นข้อเท็จจริง เพราะอาจเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกเสียใจ ไม่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น เป็นต้น
  3. Ideal Self หรือ ตนตามอุดมคติ… ตัวตนที่อยากมีอยากเป็น แต่ยังไม่มีไม่เป็นในสภาวะปัจจุบัน เช่น ชอบเก็บตัว แต่อยากเก่งเข้าสังคม เป็นต้น

ซึ่ง Carl Rogers ระบุไว้ว่า… ถ้าตัวตนทั้ง 3 ลักษณะ ค่อนข้างตรงกันมาก จะทำให้มีบุคลิกภาพมั่นคง… แต่ถ้าแตกต่างกันสูง จะมีความสับสนและอ่อนแอด้านบุคลิกภาพ

หลักการขับเคลื่อนพฤติกรรมของ Carl Rogers จึงผลักดันผ่านความเชื่อที่ว่า… บุคคลถูกกระตุ้นผ่านความต้องการการยอมรับเชิงบวก ซึ่งประกอบด้วย… ความต้องการความรัก และต้องการได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่า… ซึ่งบุคคลจะเกิดมาพร้อมกับความต้องการทั้ง ความรักและการยอมรับนับถือเชิงบวก โดยอาศัยการศึกษาจากการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของบุคคลอื่น… 

ซึ่งตัวตน หรือ Self ที่บุคคลมองเห็นตน หรือ Self Concept นั้น จึงพัฒนาขึ้นจากค่านิยมที่ศึกษาจาก “บุคคลอื่น” ซึ่งเป็นธรรมชาติการเรียนรู้ตั้งแต่วัยแรกเริ่ม โดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ว่า… คนหรือบุคคลอยู่ใกล้สิ่งแวดล้อมแบบไหน ก็จะเป็นแบบนั้น เหมือนดั่งที่เราท่านเติบโตมากับแนวคิดอย่าง “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” ซึ่งยังเป็นจริง

ประเด็นก็คือ… มนุษย์ไม่ได้โชคดีทุกคนจนได้เกิดและเติบโตมากับ การดำเนินชีวิตด้านบวกของบุคคลรอบตัว ซึ่งจะเป็นต้นแบบ หรือ Role Model ด้านบวกได้ทุกคน… จนเกิดความขัดแย้งเหลื่อมล้ำของตัวตนทั้ง 3 ลักษณะ ตั้งแต่ Self Concept ที่เห็นภาพตนเองเป็นแบบหนึ่ง… ในขณะที่ Real Self ที่คนรอบข้างเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง… แถมยังมี Ideal Self หรือตัวตนที่อยากเป็น ถ่างกว้างห่างจาก Self Concept และ Real Self ลิบลับ

คนหรือบุคคลส่วนใหญ่จึงมีทั้ง “ฝันและอยาก” เห็นตนเองอยู่คู่กับ Ideal Self ในขณะที่ยังปล่อยชีวิตไหลไปกับแรงโน้มถ่วงของ Self Concept โดยไม่สนใจด้วยซ้ำว่า Real Self แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร?

ที่จริง Ideal Self มีอยู่ในตัวบุคคลถ้วนทั่วทุกคน และส่วนใหญ่ไม่มีทางจะเป็นเส้นซ้อนของ Self Concept และ Real Self กันแทบทุกคนเช่นกัน… เพียงแต่คนที่ใช้แรงโน้มถ่วงของ Ideal Self ดึงดูด Self Concept ผ่านพฤติกรรมที่ไต่เข้าหาพฤติกรรมในสถานะ Ideal Self เท่านั้นที่จะเข้าใกล้การเป็น “คนในฝัน หรือ คนในอุดมคติ” ตัวอย่างเช่น… อยากผอม แต่กินแบบไม่หมดไม่หยุดเช่นเดิม ก็คงผอมไม่ได้ ซึ่งการจะหยุดกินเมื่อสมควรหยุด อันเป็นพฤติกรรมของคนผอมหุ่นดี ก็ต้องควบคุมตนเอง หรือ Self Control ต้านแรงโน้มถ่วงความอยากอื่นๆ ที่ทำให้กินไม่หยุดให้ได้

การพาตัวเองไต่แรงโน้มถ่วงเข้าหา  Ideal Self… ส่วนใหญ่มักจะเป็นภาพฝันเชิงบวกนั้น จำเป็นจะต้องควบคุมตนเองอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นตัวตนให้ได้เท่านั้น… ซึ่งการควบคุมตนเองอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นตัวตน มีอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันทั่วไปว่า… วินัย!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts