Self Control… คุมตัวเองไม่ให้สูญเสียตนเอง #SelfInsight

การควบคุมตัวเอง หรือ Self Control… โดยทั่วไปจะเป็นความสามารถในการกำกับตนเอง หรือ กำกับการตัดสินใจของตัวเอง เพื่อยับยั้งการตอบสนองต่อทางเลือกที่ไม่พึงปราถนา และ ส่งผลกระทบเชิงลบทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ประเด็นก็คือ… มนุษย์มีวิธีการควบคุมตนเองในบริบทต่างๆ มากมาย เช่น ในบริบทของความอดทนอดกลั้น… ความมุ่งมั่นตั้งใจ… การมีวินัย หรือแม้แต่พฤติกรรมมุ่งเป้าด้วยความพยายาม… ซึ่งเป็นพฤติกรรมการควบคุมตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงทางเลือกที่จะนำตนเองไปสู่ปัญหา โดยมักจะเห็นการตัดสินใจโดยต้องควบคุมจิตใจ หรือ ควบคุมความต้องการที่ชักนำเข้าหาทางเลือกอันไม่พึงปราถนา… การควบคุมตัวเองในทางจิตวิทยาจึงเป็นประเด็นลึกซึ้งเรื่องหนึ่งที่มีแง่มุมสัมพันธ์กับบริบทอื่นๆ หลายแง่มุม

ปัญหาก็คือ… การควบคุมตนเองมีบริบทที่เป็นประโยชน์ และ มีบริบทที่เป็นโทษกับตัวเองด้วย เช่น กรณีอดทนอดกลั้นต่อการถูกข่มเหงเอาเปรียบซ้ำซาก ก็ไม่สมควรที่จะควบคุมตัวเองให้อดกลั้นอยู่ในภาวะเช่นนั้นโดยไม่จัดการอะไรมากกว่านั้น… ถึงแม้ว่าจะมีความกลัวซ่อนอยู่เบื้องหลัง “การตัดสินใจ” ที่จะอดทนอดกลั้นก็ตาม… ส่วนตัวอย่างกรณีการควบคุมตนเองโดยมุ่งเป้าการหาประโยชน์สูงสุด หรือ รักษาผลประโยชน์ตนเองโดยไม่ใส่ใจว่ากำลังก่อเรื่องเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นอยู่… ก็ย่อมเป็นการควบคุมตัวเองที่ไร้ประโยชน์กับตัวเองในอนาคต ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในการหาผลประโยชน์ได้มากกว่าที่ควรจะได้ในปัจจุบันก็ตาม

ธรรมชาติของการควบคุมตัวเองจึงมีปัจจัยเบื้องหลังซุกซ่อนเป็นอารมณ์และความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ โดยมีรัก–โลภ–โกรธ–กลัว รวมทั้งบริบทแวดล้อมอารมณ์และความต้องการพื้นฐานเหล่านี้เสมอ… การควบคุมตัวเองของทุกคนจึงมีข้อจำกัดที่ต้องระมัดระวังไม่ต่างจากการใช้ของมีคมหรืออาวุธติดตัว

นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมนิยมอย่าง Dr. Richard H. Thaler จาก Booth School of Business at the University of Chicago เจ้าของราวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2017 เชื่อว่า… มนุษย์มีเหตุผล หรือ Rationality ในการตัดสินใจบนผลประโยชน์สูงสุดที่ตนเองคาดว่าจะได้รับ แต่มนุษย์ก็มีข้อจํากัดในการใช้เหตุผล หรือ Limited Rationality หรือ Bounded Rationality ในด้านต่างๆ เช่น การขาดข้อมูล… การขาดการรับรู้เกี่ยวกับสมดุลย์ รวมทั้ง มีปัญหาในการควบคุมตนเอง… ซึ่งได้ก่อให้เกิดการตัดสินใจแบบไม่มีเหตุผล จนเห็นพฤติกรรมของมนุษย์แบบไม่มีเหตุผลเบี่ยงเบนไปจากพฤติกรรมแบบมีเหตุผลได้ ซึ่ง Dr. Richard H. Thaler ยืนยันว่า… พฤติกรรมเบี่ยงเบนนี้เป็นไปอย่างมีระบบ ไม่ได้เกิดเป็นพฤติกรรมแบบสุ่ม หรือ Randomly โดยเฉพาะพฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ที่มีผลประโยชน์ และ การแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง… โดยคำอธิบายของ Dr. Richard H. Thaler ได้โต้แย้งเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมจนนำไปสู่การประยุกต์ใช้เป็นหลักการทางการตลาด รัฐศาสตร์ และ กฎหมายอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

คำอธิบายเกี่ยวกับปัญหาการควบคุมตนเองผ่านมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ด้วยทฤษฎีข้อจํากัดในการใช้เหตุผล หรือ Limited Rationality จึงเป็นการอธิบาย “การตัดสินใจ” ด้วยปัจจัยเบื้องหลังซุกซ่อนเป็นอารมณ์และความต้องการที่ใหญ่กว่าเหตุและผลนั่นเอง… 

คำถามคือ… เมื่อคนเราควบคุมตนเองให้ตัดสินใจตามเหตุและผลไม่ได้เสมอไปดังว่า จะเกิดผลกระทบอย่างไรตามมาในภายหลังถ้าเกิด “การตัดสินใจผิด” เพราะข้อจํากัดในการใช้เหตุผล?

ทฤษฎี Ego Depletion หรือ ภาวะสูญอีโก้ หรือ ภาวะสูญเสียตัวตน ได้อธิบายถึงการหายไปของความสามารถในการควบคุมตนเอง เมื่อความพยายามในการใช้เหตุใช้ผลกับตัวเองแล้วเกิดเป็นความล้มเหลวจนหมดความเชื่อมั่น โดยมักจะเห็นคนที่หมดความเชื่อมั่นและสูญเสียตัวตน ได้แสดงพฤติกรรมแบบไม่มีเหตุผลออกมาได้มากมาย

ประเด็นสำคัญของการควบคุมตนเอง เพื่อให้ตนเองมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับเหตุผลให้มาก… ล้มเหลวแต่น้อย… ไม่สูญเสียความเชื่อมั่นส่วนตนเพราะพลั้งเผลอทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือ เรื่องไม่มีเหตุผลบ่อยๆ ซึ่งทั้งหมดต้องการ “รางวัล” ของการควบคุมตัวเองเพื่อป้องกัน Ego Depletion หรือ ภาวะสูญอีโก้ ให้จิตวิทยาส่วนตนพึงพอใจให้ได้มาก และ สม่ำเสมอที่สุดเท่าที่จะทำได้… ซึ่งโดยส่วนตัวผมเชื่อว่า การตัดสินใจบนความเท่าทันใน “ข้อจำกัดส่วนตัว” ถือว่าเป็นการควบคุมปัจจัยการตัดสินใจที่ดีพอ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts