แนวคิด และ จิตวิทยาส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กวัยก่อนเรียนซึ่งครอบคลุมถึงเด็กวัยก่อนอนุบาลที่เด็กๆ เริ่มมีความสนใจของตัวเองปรากฏให้เห็นนั้น… พฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นของเด็กเล็กเหล่านี้จะชัดเจนว่าสนใจแทบทุกอย่างที่ได้เห็น ที่ได้ยิน และยังมีการใช้อารมณ์ กับ ความคิดที่อยู่ในรูปของความสนใจใคร่รู้… ขับเคลื่อนพฤติกรรมเพื่อสะสมประสบการณ์ตามธรรมชาติของพัฒนาการวัยเด็กเหมือนกันหมด
แนวคิด และ จิตวิทยาส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กวัยก่อนเรียนยุคใหม่จึงแนะนำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการที่สอดคล้องกับ “พฤติกรรมตามพัฒนาการ” ของเด็กแต่ละคน ซึ่งถึงแม้จะมีรูปแบบเหมือนๆ กัน แต่ก็มีพฤติกรรมสนใจใคร่รู้ และ อารมณ์ความรู้สึกที่สะท้อนออกมาต่างช่วงเวลากันเสมอ
ประเด็นก็คือ… กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมตามพัฒนาการนี่เองที่ทำให้นักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กยุคใหม่ เห็นพ้องที่จะแนะนำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการตามหลัก EF หรือ Executive Function หรือ ความสามารถในการจัดการ อันเป็นกิจกรรมฝึกประสบการณ์การทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ช่วยให้ “เด็ก และ พวกเรา” สามารถควบคุมความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อให้ได้ “ผลลัพท์อันพึงประสงค์ หรือ ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย” อย่างที่ต้องการ…
คำถามมากมายถึงการออกแบบกิจกรรมส่งเสริม EF ในเด็กจึงมีคำตอบอยู่ที่ “เป้าหมาย” เพราะการจะประสบความสำเร็จให้ได้ตามเป้าหมาย จำเป็นจะต้องมีเป้าหมายเสียก่อน… และ งานวิจัยด้าน EF ในเด็กวัยก่อนเรียนมากมายก็ยืนยันตรงกันหมดว่า… เด็กทุกคนมีศักยภาพในการทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายได้ดีที่สุดเสมอถ้าเป็นกิจกรรมเพื่อเป้าหมายที่ตัวเด็กเองได้เป็นคนกำหนด
งานวิจัยเรื่อง Less-Structured Time In Children’s Daily Lives Predicts Self-Directed Executive Functioning โดย Jane E. Barker และคณะ ยืนยันว่า… เมื่อเด็กเป็นผู้กำหนดเป้าหมายด้วยตนเองว่าจะทำอะไร หรือ สนใจอะไร… เด็กจะใช้เวลาในการทำกิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นได้ดี และ ต่อเนื่อง รวมทั้งเข้าใจลำดับการทำงานที่ออกแบบเองทั้งหมด… ตัวอย่างการมอบหมายให้เด็กเลือกหนังสือที่สนใจมาอ่านเรื่องราวกับครู แล้วให้วาดรูปตามจินตนาการเอากลับไปเล่าเรื่องประกอบรูปวาดให้พ่อแม่ฟัง… กับเด็กที่ทำใบงานตามที่ครูเตรียมให้ หลังจากครูอ่านหนังสือที่เลือกไว้ให้กับเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งเด็กไม่ต้องคิด และ จินตนาการอะไร เพียงแต่ทำตาม หรือ ไม่ทำตามที่ครูให้ทำตามกระบวนการของครูเท่านั้น… การทดสอบเด็กทั้งสองกลุ่มในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาของนักวิจัยพบว่า… เด็กในกลุ่มทดลองที่ได้เลือกกิจกรรมเองได้คะแนนคำศัพท์ กับ คะแนนการอ่านสูงขึ้นกว่าเด็กกลุ่มควบคุมที่ครูเตรียมทุกอย่างไว้ให้อย่างชัดเจน
นักวิจัยจึงได้ข้อสรุปว่า… กิจกรรมที่ถูกผู้ใหญ่กำหนดให้ทุกอย่างนั้น จะทำให้พัฒนาการในการกำกับสั่งการ ซึ่งพัฒนามาจากทักษะการคิดของตนเองจะช้าลง… นักจิตวิทยาส่งเสริมพัฒนาการ และ นักการศึกษาจึงอ้างงานวิจัยชิ้นนี้เพื่อนำเสนอกิจกรรม “การเล่นอิสระ หรือ Free Play” ในเด็กวัยก่อนเรียน และ เด็กอนุบาลมากขึ้น… ซึ่งก็ท้าทายกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการในแนวทางสอนสั่งให้ได้ความรู้ให้ได้มากๆ โดยเร็ว ซึ่งมีชุดความเชื่อในการฝังวิชาการหนักแน่นให้เด็กที่เป็นเหมือนผ้าขาวสะสมใส่สมองเอาไว้ใช้วันหน้า… ซึ่งก็คงถกเถียงกันอีกนาน
สุดท้าย… ท่านที่สนใจงานวิจัยชิ้นนี้กรุณาอ่าน Less-Structured Time In Children’s Daily Lives Predicts Self-Directed Executive Functioning โดย Jane E. Barker และคณะ ฉบับเต็มที่นี่ครับ และ ขออภัยที่สรุปข้อมูลจากงานวิจัยโดยเล่าผ่านตัวอย่างโดยไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงตรงตามต้นฉบับ…
References…