งานวิจัยของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชื่อ Beulah Amsterdam จาก University of North Carolina ในหัวข้อ Mirror Self-Image Reactions Before Age Two หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ Mirror Self Recognition Test หรือ MSR โดยการสังเกตพฤติกรรมทารกที่มีอายุระหว่าง 3 ถึง 24 เดือน ขณะมองตัวเองในกระจก และ มีรอยแต้มด้วยเครื่องสำอางเป็นจุดสีแดงบนจมูก ซึ่งนักวิจัยต้องการศึกษาแนวคิดต่อตนเอง และ การจดจำภาพตัวเองของทารกจำนวน 88 คน
ประเด็นที่นักวิจัยค้นพบในการทดลองนี้มีอยู่ว่า… ทารกอายุประมาณ 12 เดือนมีปฏิกิริยากับเงาของตัวเองในกระจกเหมือนมีทารกอีกคนหนึ่ง ในขณะที่ทารกอายุ 20 เดือนก็ไม่ได้แสดงพฤติกรรมเฉพาะที่ชัดเจนว่าเงาของตนเองในกระจกเป็นตัวเองหรือเป็นทารกอีกคนหนึ่ง… แต่ทารกอายุ 24 เดือน หรือ 2 ขวบปีมีพฤติกรรมชัดเจนว่าจำตนเองในกระจกได้ โดยมีการแตะมือที่จุดแดงบนจมูกตนเองในขณะมองกระจกอย่างชัดเจน… งานวิจัยนี้ยืนยันว่าการตระหนักรู้ในตนเอง และ จดจำอัตลักษณ์ส่วนตนเริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่เป็นทารกอายุ 24 เดือนแล้ว
การมองตัวเองในกระจก จึงมีอะไรมากกว่าภาพที่เห็นตัวเองในกระจกมากมาย… โดยมี “ภาพจำ หรือ Mental Picture” โผล่เข้ามาเปรียบเทียบภาพที่เห็นในกระจกเสมอ ซึ่งแม้แต่ทารกอายุสองขวบที่จำตัวเองได้แล้วยังรู้ว่า ภาพตนเองก่อนหน้านั้นไม่ได้มีจุดสีแดงตรงจมูกจนต้องขอรู้หน่อยว่ามันคืออะไร… และเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ “ภาพจำของตัวเอง” ในความนึกคิดจะถูกดึงออกมาเปรียบเทียบกับภาพล่าสุดที่เห็นตัวเองในกระจกอีกครั้งและอีกครั้ง… และยังถูกเปรียบเทียบกับภาพที่สะท้อนจากผู้อื่น ทั้งภาพสะท้อนทางกายภาพ บุคลิกภาพ และ พฤติกรรมยิ่งกว่าที่เห็นตัวเองในกระจกอีกมาก
ประเด็นก็คือ… เราทุกคนไม่ได้อยากเห็นภาพตัวเองเปลี่ยนไปจากที่ตนเองเคยจำตัวเองไว้ โดยเฉพาะภาพที่ทำให้ตัวเองภาคภูมิเชื่อมั่นจนเป็นชุดความทรงจำที่ภาคภูมิในตน หรือ Self Esteem ขั้นจดจำอย่างติดตาตรึงใจมายาวนานจนเป็นความเชื่อ เป็นประสบการณ์ และ กลายเป็นอัตลักษณ์ของตน และ ภาพลักษณ์ตนที่รับรู้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตนจดจำตนเองไว้ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นโครงสร้างชัดเจนให้จดจำแบบที่นักจิตวิทยาสังคมเรียกว่า Self Schema
การรับรู้เกี่ยวกับตนที่เปลี่ยนไป ทั้งที่เห็นตัวเองในกระจก หรือ เห็นตนเองด้วยการรับรู้จากทุกช่องทาง รวมทั้งที่รับรู้จากคนอื่นๆ ที่เกี่ยวกับตน… จึงเป็นเรื่องวิตกกังวลพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ติดกับดักภาพลักษณ์ตัวเอง ซึ่งวนเวียนอยู่กับการหาคำตอบให้คำถามเกี่ยวกับ “ภาพตนเอง” เกือบตลอดเวลา และ ทั้งหมดนำมาซึ่งการปรับปรุงตัวเองทางกายภาพตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผมที่มองเห็นตนเอง และ อยากให้คนอื่นเห็นแบบเดียวกัน ไปจนถึงการวางตัว การสร้างบุคลิกภาพตัวคน ซึ่งคนส่วนใหญ่ปรุงแต่งขึ้นเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้ตนเอง เพื่อให้มั่นใจได้สูงสุดกับตัวเองเสมอ
ปัญหาก็คือ… ไม่มีใครเป็นได้เหมือนเดิมจนมีภาพเหมือนเดิม ซึ่งหนีการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติทุกทางที่เกิดกับตน และ เกิดรอบตัวไม่ได้… ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ตน และ อัตลักษณ์ตัวเองที่จัดการไม่ได้ โดยมักจะเห็นหรือรับรู้เป็นภาพตัวเองย่ำแย่ หรือ Poor Self Image จึงไร้สาระ และ ถ่วงรั้งความสุขในชีวิตมากมายอีกเหตุหนึ่ง
ส่วนข้อเท็จจริงทางจิตวิทยาเกี่ยว “การดูแลภาพลักษณ์ตัวเอง” ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีพฤติกรรมเกี่ยวกับภาพลักษณ์ตนเองสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ใกล้ตัวเสมอ และ ต่างก็เป็นกระจกสะท้อนภาพให้กันด้วยแนวโน้มที่จะ “ตัดสิน หรือ Judgment” คนอื่น และ ตัวเองเพื่อฟื้นฟู หรือ Update การรับรู้เกี่ยวกับภาพลักษณ์ตนเองให้ภาคภูมิได้ดั่งเดิม… ซึ่งบ่อยครั้งจะเห็น “การประเมินภาพผู้อื่นในเชิงลบ” เพื่อดูแลความรู้สึกภาคภูมิให้ตัวเอง หรือ ไม่ก็ประเมินผู้อื่นในเชิงเปรียบเทียบเพื่อจัดการความรู้สึกตัวเองบางอย่างของตน ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่พฤติกรรมการดูแลตนเองทั้งทางกายและทางใจที่สุดเสี่ยงต่อความลำเอียงจากอคติที่มีต่อตนเอง และ คนอื่นๆ ซึ่งได้กลายเป็นการคุกคามภาพลักษณ์ จนเป็นปฐมเหตุของความขัดแย้งมากมายระหว่างบุคคล และ ระหว่างกลุ่มคน
งานวิจัยในหัวข้อ The Effects of Self-Image Threat on the Judgment of Out-Group Targets ของ Arnd Florack และ คณะ พบพฤติกรรมการฟื้นความภาคภูมิในตน หรือ Restore Self Esteem ผ่านภาพลักษณ์ส่วนตน และ ภาพลักษณ์กลุ่มของตนด้วยการ “ย่ำยีคุกคาม” ภาพลักษณ์ของผู้อื่น หรือ กลุ่มอื่นทั้งที่เป็นข้อเท็จจริง และ เป็นมายาคติอย่างมีนัยยะสำคัญ
อย่างไรก็ตาม… ธรรมชาติของการดูแลรักษาภาพลักษณ์ตน หรือ Self-Image Maintenance จะเป็นประเด็นก่อความขัดแย้งได้ แต่ก็ถือว่าเป็นธรรมชาติที่มีมากับทุกคนอย่างชัดเจนตั้งแต่เป็นทารก ซึ่งก็คงไม่ต้องพยายามไปแก้ไขอะไรเกี่ยวกับภาพลักษณ์ หรือ อัตลักษณ์ของตนเองทั้งที่อยู่ในสายตาและการรับรู้ของตนเอง และ ที่อยู่ในสายตาและภาพเห็นของผู้อื่น… เพียงตระหนักรู้ให้เท่าทัน และ นำ “ภาพเชิงลบ” มาปรับปรุงตัวเองภายใต้ข้อจำกัดของตนให้ออกมาดีที่สุด… ก็พอ!
References…