Self Presentation Theory and Personal Branding… ทฤษฎีการนำเสนอตัวเองและการสร้างแบรนด์บุคคล #SaturdayStrategy

กลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีที่สุดตลอดกาลแนวทางหนึ่ง ซึ่งใช้ได้ผลกับเป้าหมายความสำเร็จหลายรูปแบบ และ ยังมีแนวทางและเทคนิคไม่ต่างกันในทุกชาติทุกภาษา และ ยุคสมัย… กลยุทธ์ทางการตลาดดังกล่าวมีชื่อว่า Personal Branding หรือ แบรนด์บุคคล หรือ การสร้างภาพลักษณ์แก่บุคคล ซึ่งในทางเทคนิคจะมีความหมายโดยนัยว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการรับรู้ และ เป็นมุมมองภาพลักษณ์บนความสนใจของคนอื่นๆ ในวงกว้าง

ประเด็นก็คือ… ภาพลักษณ์ หรือ ภาพอันเป็นที่รู้จักและจดจำในเชิงบวก… มักจะเป็นระดับความไว้วางใจที่นำไปสู่โอกาสมากน้อยที่คนอื่นๆ กล้าหยิบยื่นแบ่งปัน ตามการโน้มน้าวร้องขอของคนที่ภาพลักษณ์ตัวตนชัดเจน… โดยโอกาสที่ได้ ก็จะมีตั้งแต่การยอมรับ หรือ ความนับถือ ไปจนถึงการเอื้อเฟื้อแลกเปลี่ยนแบ่งปันเป็นการส่วนตัว และหรือ ความเอื้อเฟื้อทางธุรกิจในทุกๆ ระดับและมูลค่า… Personal Branding หรือ แบรนด์บุคคลในปัจจุบันจึงกลายเป็นกลยุทธ์พื้นฐานที่นักบริหารและนักกลยุทธ์ส่วนใหญ่ มักไม่พลาดที่จะวางแผน และ จัดการให้มี และ โดดเด่นขึ้นอย่างเป็นระบบ

ในปัจจุบัน… ถ้าเรามองผ่านการสื่อสารและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ขององค์กรธุรกิจ… หลายองค์กรเลือกที่จะขับเคลื่อนกลยุทธ์แบรนด์บุคคลคู่ไปกับแบรนด์สินค้า และหรือ แบรนด์องค์กรอย่างจงใจภายใต้กลยุทธ์เพื่อความสำเร็จ หรือ Strategies For Success… โดยตัวอย่างในกรณีกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จผ่านแบรนด์บุคคลที่เด่นชัดที่สุดในบ้านเรา ก็คือกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจเมืองไทยประกันภัยโดยคุณแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ หรือ มาดามแป้งของแฟนบอลชาวไทย ซึ่งภาพลักษณ์ และ ตัวตน กับ ธุรกิจ และ กิจกรรมทุกอย่างในมือของมาดามแป้ง ล้วนได้รับความความน่าเชื่อถืออย่างสำคัญและโดดเด่น… หรือกรณีของแบรนด์ศรีจันทร์ และ อาณาจักร Mission To The Moon โดยคุณรวิศ หาญอุตสาหะซึ่งเป็นกรณีศึกษาแบรนด์บุคคลที่โดดเด่นและเกื้อหนุนแบรนด์ธุรกิจในมือคุณรวิศทุกอย่าง… รวมทั้งกรณีของรองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์เจ้าของสถิติ 1.3 ล้านเสียงเลือกชัชชาติเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งท่านทำแบรนด์บุคคลมานานตั้งแต่เข้าสู่สนามการเมือง

ในทางจิตวิทยา… การทำแบรนด์บุคคลถือว่าเป็นการ “นำเสนอตัวเอง หรือ Self Presentation” ซึ่งโดยพื้นฐานจิตวิทยาส่วนบุคคลจะถือว่าเป็นธรรมชาติของคนเราที่ต้องการมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนกับคนอื่นๆ แต่ในกรณีการทำแบรนด์ที่พูดถึงในทางกลยุทธ์ แม้จะเป็นการนำเสนอตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นการนำเสนอที่มีรายละเอียดที่เต็มไปด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน และ แผนการเพื่อความสำเร็จที่ชัดเจนมากกว่าระดับจิตวิทยาพื้นฐานมาก

Dr.Erving Goffman นักจิตวิทยาสังคมจาก University of California, Berkeley และเจ้าของแนวคิด  Self-Presentation Theory ได้พูดถึงการนำเสนอตัวเองเพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ตามที่ต้องการว่าเป็น “Dramaturgy หรือ การละคร” เพื่ออธิบายตัวตนและบุคลิกภาพของตนต่อผู้พบเห็น ซึ่งเป็นเทคนิคการ “กำกับความคิดของผู้พบเห็นที่มีต่อตัวเอง” โดยเฉพาะเป้าหมายการสร้างแบรนด์บุคคลที่ต้องการ Inpact หรือ แรงกระทบถึงเป้าหมายความสำเร็จที่มากและเป็นวงกว้าง… ก็จะยิ่งจำเป็นจะต้องแสดงด้วยภาพที่มีผลต่อความคิดของคนจำนวนมากให้ได้ด้วย

สิ่งสำคัญในการทำแบรนด์บุคคลจึงมีว่า… แบรนด์บุคคลที่ถูกสร้างจากละครที่แต่งขึ้นขัดแย้งจากข้อเท็จจริงส่วนบุคคล ซึ่งมี “หน้าฉาก กับ หลังฉาก” ที่ขัดแย้งกันมักจะล้มเหลวและสูญเปล่า… การสร้างภาพลักษณ์แบบตัวจริงก็อย่างหนึ่ง หน้าฉากที่คนอื่นเห็นก็อย่างหนึ่งจึงเป็นข้อห้ามสำคัญข้อเดียวของการทำแบรนด์บุคคลที่ต้องหลีกเลี่ยงในการทำ Self Presentation แบบคนละทิศละทางกับข้อเท็จจริง และ Self-Presentation Theory ของ Dr.Erving Goffman ก็ให้ความสำคัญกับ “หน้าฉาก กับ หลังฉาก” ของบุคคลก่อนอื่นเช่นกัน

ส่วนเทคนิคการโฆษณา และ เทคนิคการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างแบรนด์บุคคลซึ่งเป็นคำแนะนำปลีกย่อยที่หาได้เกร่ออินเตอร์เน็ตเป็นเคล็ดลับ 10 อย่าง 20 อย่างที่คสรทำไม่ควรทำนั้น… ผมคิดว่าในยุคโซเชี่ยลมีเดียอย่างในปัจจุบัน… ถ้าท่านทุ่มเทพอ ใส่ใจพอ และ วางแผนมาดีพอที่จะ “ล้มเหลวได้มากครั้ง” จนประสบความสำเร็จ… ที่เหลือไม่ได้มีอะไรยากหรอกครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts