การสะท้อนคิด หรือ การทบทวนความคิดตัวเอง หรือ Self Reflection ถือเป็นคำที่กินความหมายใหญ่โตในทางปรัชญาที่เกี่ยวข้องถึงกระบวนการทางปัญญาญาณ หรือ Cognitive หนึ่ง… อารมณ์ความรู้สึก หรือ Emotional หนึ่ง และ พฤติกรรม หรือ Behavioural อีกหนึ่ง…โดยสติปัญญาของมนุษย์จะมีกระบวนการสะท้อนคิดอัตโนมัติทำหน้าที่ไตร่ตรองทั้งสิ่งที่รู้จากภายนอก และ สิ่งที่รู้จากภายในอยู่ตลอดเวลา… ทุกสิ่งที่ได้รู้–ได้เห็น–ได้รู้สึกจึงถูก “ไตร่ตรอง” จนกลายเป็นตัวตน หรือ Self ในที่สุดเสมอ
ในทางปฏิบัติ… ธรรมชาติของการสะท้อนคิดจะเป็นกระบวนการวิเคราะห์สถานการณ์ส่วนของตน โดยเป็นการประเมิน และ ตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อสะสมเป็นความรู้ ประสบการณ์ และ ความเชื่อ ซึ่งต่อมาอาจนำใช้เพื่อการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ด้วย
ด้วยรูปแบบของ Self Reflection หรือ การสะท้อนคิดที่เป็นรูปแบบและขั้นตอน “การทบทวน” อันเป็นกระบวนการสังเคราะห์องค์ความรู้ หรือ Knowledge ของสมอง… การสะท้อนคิดจึงเป็นปรัชญาทางการศึกษาแบบ Transformative Learning ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ด้วยการเปลี่ยนแปลงจากภายในหลังการสะท้อนคิด… ซึ่งคนปกติจะเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ดีขึ้น และ จดจำได้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี… รูปแบบการสะท้อนความคิดของคนส่วนใหญ่มักเริ่มต้นด้วย “การระบุปัญหา” ซึ่งในบางความเชื่อมองว่าเป็นการคิดลบ โดยเฉพาะการระบุปัญหาโดยไร้ “การไตร่ตรอง” หาทางออกจากปัญหา หรือ แก้ไขปัญหานั้นจนพบรูปแบบที่ตนพอใจ… ย้ำว่าเป็นรูปแบบที่ตนพอใจทั้งกลยุทธ์ และ กระบวนการ… การสะท้อนคิดเพื่อสังเคราะห์กลยุทธ์ และ กระบวนการที่ตนพอใจ จึงเป็นหลักคิดเพื่อพาตนเองไป “ยอมรับความจริง” ได้ดีกว่าเดิม… ซึ่งไกลจากนิยามของคำว่า “คิดลบ” มากมาย
ในทางเทคนิค… การสะท้อนคิดเป็นความพยายามทางปัญญาที่คนๆ หนึ่งพยายามทำความเข้าใจเหตุการณ์หนึ่งๆ ที่ผ่านมาด้วยมุมมองที่หลากหลายขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปจะปราศจาก “แรงกดดันต่อการตัดสินใจ” เพราะส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตไปแล้ว และ โดยทั่วไปก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่ส่งเสริมการตัดสินใจได้ดีขึ้นสำหรับตนเองในอนาคต
ประเด็นก็คือ… การย้อนคิด หรือ การสะท้อนคิดหลายกรณีไม่ได้สร้างสรรค์มากพอที่จะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ หรือ แม้แต่ข้อสรุปดีๆ มากพอที่จะเสริมสร้างอะไรให้ดีกว่าเดิมได้เท่าไหร่ โดยเฉพาะการย้อนคิดด้วยอารมณ์เศร้า–เหงา–กลัว อันเป็นภาวะทางใจที่ไม่ได้ต้องการทางออก หรือ อยากจะเข้าใจอะไรอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการ Recall มากกว่าจะเป็น Reflection ที่ต้องมี “การไตร่ตรอง และ ได้ข้อสรุป” ปรากฏขึ้นตามมาเสมอ
ในหนังสือ SELF-REFLECTION: The key to an Amazing Life ของ Sandra Christian อธิบายว่า… การสะท้อนคิดขั้นไตร่ตรองตนเอง เป็นกระบวนการของการสื่อสารภายในกับตัวเอง โดยใช้เวลาในการคิดเกี่ยวกับลักษณะนิสัย หรือ พฤติกรรมของตนเองและผู้อื่น ซึ่งจะวิเคราะห์จนเจอที่มา และ เหตุผลที่ทำให้เกิดพฤติกรรม เจอผล และ ความหมายของพฤติกรรมที่เกิดกับตนและคนที่เกี่ยวข้อง… ซึ่งคนๆ นั้นจะประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และ หาวิธีจัดการกับข้อมูล และหรือ ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องที่ได้ในระหว่าการสะท้อนคิด และ ทบทวนตนเอง โดยที่สุดก็จะนำไปใช้กับ “พฤติกรรมในอนาคต” ซึ่งกระตุ้นความเข้มแข็ง และ ความสุขได้ดีกว่าเดิม
ส่วนวิธีการ และ เทคนิคสะท้อนคิดนั้น… วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการสะท้อนแบบปกติสามัญยังแนะนำ “การเขียน” ซึ่งอาจจะเป็นการจดบันทึกทั่วไป หรือ การเขียนไดอารี่ก็ได้… ส่วนวิธีการสะท้อนคิดตามหลักปรัชญาโยคะ รวมทั้งการทำสมาธิแบบต่างๆ ที่เป็นการทบทวนตนเองแบบมีพิธีรีตองประกอบบริบทผสมความเชื่อทั้งหมด… ขอข้ามที่จะแนะนำ หรือ อ้างอิงถึงครับ
References….