Servant Leadership… ภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้ #ExtremeLeadership

รูปแบบการจัดการทีมและองค์กรในฐานะผู้นำจะมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ โดยเฉพาะรูปแบบของตัวเองของผู้นำส่วนใหญ่ที่เลือกใช้ภาวะผู้นำอย่างสอดคล้องต่อบริบทและสถานการณ์ ซึ่งมักจะเป็นรูปแบบภาวะการนำแบบประสมที่เดาทางได้ยาก และ ผู้นำที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากก็มักจะใช้ภาวะผู้นำ และ รูปแบบการนำผสมกันหลายรูปแบบได้อย่างเรียบลื่นแบบที่เรียกว่า… ลูกล่อลูกชนแพรวพราวนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม รูปแบบภาวะผู้นำส่วนใหญ่ที่สามารถขับเคลื่อนทีม และ องค์กรได้ดีมีผลงานเป็นความสำเร็จนั้น ส่วนใหญ่จะยังเป็นรูปแบบภาวะผู้นำที่สามารถ “ถือครองปัจจัยความสำเร็จ” ไว้กับตัวผู้นำ และหรือ การตัดสินใจขั้นสุดท้ายโดยผู้นำเสมอ… เว้นแต่จะเป็นผู้นำแบบถือครองตำแหน่งแต่ไม่แบกความรับผิดชอบในการตัดสินใจ และ โยนการตัดสินใจไปให้คนอื่นๆ โดยเรียกการ “รู้หลบเป็นปีก–รู้หลีกเป็นหาง–เกียร์ว่างเป็นปกติ” ว่า… รู้จักมอบหมายกระจายงาน

แต่องค์กรในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทต่อความสำเร็จสูง และ สมาชิกทีมที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็มักจะสำเร็จการศึกษามาพร้อมทักษะเฉพาะทางที่ค่อนข้างเป็นเลิศ… ผู้นำส่วนหนึ่งในยุคนี้จึงเลือกที่จะ “มอบหมายการตัดสินใจ” ไปให้สมาชิกทีมได้มีส่วนร่วมในการจัดการปัจจัยความสำเร็จได้ง่ายกว่าเดิม ในขณะที่ตัวผู้นำเองจะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นโค้ช รวมทั้งการรับบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือทีมในแบบที่เรียกว่า Servant Leadership หรือ ภาวะผู้นำแบบผู้รับใช้

ในหนังสือ The Servant as Leader ของ Robert K. Greenleaf อธิบายคุณค่าของภาวะผู้นำแบบ Servant Leadership เอาไว้มากมาย ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากในออสเตรเลีย… เพราะ Servant Leadership จะเป็นภาวะผู้นำที่คอยดูแล “ความต้องการของทีม ที่กำลังขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของตนอยู่” โดย Robert K. Greenleaf ได้วางกรอบภาวะผู้นำเอาไว้ 10 ประการเป็นคุณลักษณ์ของ Servant Leadership 10 ประการ ได้แก่

  1. Listening หรือ เป็นผู้ฟัง
  2. Empathy หรือ รู้จักเอาใจใส่
  3. Healing หรือ เป็นผู้เยียวยาอุปสรรคของทีม
  4. Self-Awareness หรือ ตระหนักรู้ในตนอย่างดีทั้งความรู้ความสามารถ พฤติกรรม และ อารมณ์
  5. Persuasion หรือ มีความสามารถในการโน้มน้าวชักชวน
  6. Conceptualization หรือ เป็นผู้มีหลักการ มีกรอบแนวคิด และ มีวิธีการหรือกระบวนการความสำเร็จที่หลากหลาย ประยุกต์ได้และใช้เป็น
  7. Foresight หรือ มองกาลไกล
  8. Stewardship หรือ เป็นผู้ดูแล หรือ รู้จักการดูแลและให้ความสำคัญกับคนอื่น
  9. Commitment To The Growth Of People หรือ ให้และรักษาพันธะที่จะส่งเสริมการเติบโตในอาชีพการงานรายได้ของเพื่อนร่วมงานและสมาชิกทีม
  10. Building Community หรือ สร้างสังคมเพื่อนร่วมงานให้อบอุ่น พึ่งพาและวางใจกันได้ 

หนังสือ The Servant as Leader ของ Robert K. Greenleaf ถูกเผยแพร่ในออสเตรเลียครั้งแรกในปี 1970 ซึ่งเป็นยุคสงครามเย็นที่หันไปทางไหนก็มักจะมีแต่ผู้นำเลือดเย็น และ เจ้าชีวิตคนใต้บังคับบัญชาเป็นส่วนใหญ่… หนังสือเล่มนี้จึงเป็นตำราการจัดการรุ่นแรกๆ ที่พูดถึงทักษะผู้นำ และ ภาวะผู้นำที่เต็มไปด้วย Softskills ที่หาได้ไม่ง่ายในยุคนั้น… แต่ภาวะผู้นำและทักษะการนำแบบนี้กำลังเป็นรูปแบบหลักของการจัดการทีม และ องค์กรยุคปัจจุบันอย่างสำคัญ

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts