Greenwashing หรือ การฟอกเขียว ซึ่งเป็นการแอบอ้างใช้ข้อมูลเท็จเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคม และ รักษ์โลกขององค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นการอ้างเท็จโดยองค์กรไม่ได้มีกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตามที่กล่าวอ้าง รวมทั้งการสร้างหลักฐานเท็จ และหรือ อ้างข้อมูลเกินจริงในรายงานด้านความยั่งยืนขององค์กร
รายงานด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมหัวข้อ Climate Change’s New Ally: Big Finance โดย Assoc. Prof. Madison Condon จาก Boston University School of Law รายงานว่า… มีบริษัทเอกชนจำนวนมากใช้การฟอกเขียว หรือ Greenwashing เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ และ สร้างการรับรู้ต่อสาธารณชนที่มีต่อแบรนด์ของตน โดยซ่อนพรางการตรวจสอบแทรกใส่โครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อน… ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้เป็นเพราะมีช่องโหว่ในกฏระเบียบ และ แนวปฏิบัติที่บังคับใช้เกี่ยวกับข้อมูลเท็จด้านสิ่งแวดล้อมนั้นด้อยประสิทธิภาพ แต่ก็โชคดีที่ผู้บริโภคได้ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ถึงขั้นกล้าตั้งคำถามถึงรายละเอียดการอ้างสิทธิ์ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของบรษัทเอกชน และ แบรนด์… ประกอบกับการตรวจสอบโดยคู่แข่ง และ ช่องทางการประจานทางโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นได้ง่าย… ทำให้กรณีการฟอกเขียวที่เหลืออยู่มีแต่องค์กรที่กล้าเล่นใหญ่ระดับ “ตบแต่งข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และ ปลอมแปลงหลักฐานอ้างอิงโดยเจตนา” อย่างเหลือเชื่อยิ่งกว่าเดิม
ปี 2007… ข้อมูลจากหน่วย TerraChoice ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับองค์กรธุรกิจของ UL Enterprise ได้ศึกษากรณีการฟอกเขียวของผลิตภัณฑ์ที่วางขายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ และ แบรนด์สินค้ากล่าวอ้างบนโฆษณาแต่ถูกบิดเบือน หรือแม้แต่ไม่ได้มีอยู่จริง… ซึ่ง TerraChoice พบการฟอกเขียวราว 7 รูปแบบหลักที่ถูกเรียกในเวลาต่อมาว่า… Seven Sins Of Greenwashing หรือ บาปทั้ง 7 เพื่อใช้ฟอกเขียว ประกอบด้วย…
- Sin of The Hidden Trade-off หรือ บิดเบือนด้วยการซุกซ่อนบาปที่แท้… เช่นการอ้างว่าใช้เยื่อกระดาษจากป่าปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่พูดถึงกระบวนการผลิตกระดาษที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการใช้สารเคมีเพื่อฟอกขาวเยื่อกระดาษอย่างจงใจ
- Sin of The No Proof หรือ กล่าวอ้างเลื่อนลอย… ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง และ โฆษณาได้
- Sin of The Vagueness หรือ ใช้ชุดข้อมูลที่คลุมเครือ… ซึ่งเป็นรูปแบบการบิดเบือนที่ใช้เล่ห์เหลี่ยม และ โวหารอธิบายไว้ให้เข้าใจยาก หรือ เจตนาให้สับสน
- Sin of The Worshiping False Labels หรือ ใช้ฉลากเท็จ… โดยปลอมแปลง หรือ เลียนแบบการถูกรับรองโดยบุคคลหรือสถาบันที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งการใช้ตรารับรอง และหรือ ปลอมตรารับรองต่างๆ โดยเจตนา
- Sin of The Irrelevance หรือ อ้างมั่ว… ซึ่งอ้างไปตามสำนวนการรับรองที่ได้รับการยอมรับ เช่น ขายอาหารแช่แข็งจากตู้เย็นปลอดสาร CFC หรือ Chlorofluorocarbons ซึ่งถูกห้ามใช้มานาน และ หาซื้อแทบไม่ได้แล้วในตลาด
- Sin of The Lesser of Two Evils หรือ บาปจากผีสองตน… โดยอ้างถึงคู่เปรียบเทียบที่เลวร้ายกว่าให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของตนดีกว่าของคู่แข่ง
- Sin of The Fibbing หรือ มดเท็จโดยเจตนา… ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลเท็จโดยไม่เกรงกลัว และ ละอาย
ประเด็นก็คือ… การฟอกเขียว หรือ Greenwashing กำลังจะเป็นปัญหาสามัญในระบบธุรกิจสมัยใหม่ที่คำนึงถึงข้อมูลสิ่งแวดล้อม ไม่ต่างจากกรณีการตบแต่งข้อมูลทางบัญชี… ซึ่งถ้าองค์กรธุรกิจใช้รูปแบบการฟอกเขียวที่แนบเนียน คู่กับ “การทุจริตในกระบวนการตรวจสอบ” เพื่อหลบเลี่ยงค่าใช้จ่ายจริงที่นักบริหารธุรกิจไม่อยากจะจ่าย… การฟอกเขียว หรือ Greenwashing ก็จะยังคงเกิดขึ้นให้เห็นอีกมากในอนาคต
References…