การขยายตัวและเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนสูงอายุทั่วโลก จะทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็น Generation ที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจภายใน 10 ปีนับจากนี้… พร้อมกับนิยามเดิมๆ ของผู้สูงวัย จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
ถ้าท่านติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริงก็จะบอกได้ว่า… ในทุกๆ สังคมชาติจะมีผู้สูงวัย โลดแล่นเป็นกลุ่มคนที่ควบคุมศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอยู่ทุกที่ ส่วนที่เหลือก็เป็นกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่มีทรัพย์สินและกำลังซื้อ ทั้งที่มาจากการทำมาหากินสะสมมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว หรือแม้แต่กำลังซื้อจากลูกหลาน Generation ถัดมา ที่คนรุ่นนี้ฟูมฟักเติบโตตามมา

นับจากนี้ไป… เราท่านจะได้ยินคำว่า เศรษฐกิจสูงวัย หรือ Silver Economy และ เศรษฐกิจอายุวัฒน์ หรือ Longevity Economy มากขึ้นเรื่อยๆ ที่หลายอย่างในโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและจุลภาค จะต้องปรับให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้คนในสังคม
รายงานวิจัยหัวข้อ Getting Older – Our Aging World จาก Ipsos บริษัทสำรวจและวิจัยทางการตลาดจากฝรั่งเศส เสนอข้อมูลคาดการณ์ว่า ระหว่างปี 1980 – 2050 ผู้สูงวัยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยหนึ่งเท่าตัว โดยในปี 2050 โลกจะมีจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 2.1 พันล้านคน นั่นแปลว่า… 30 ปีต่อจากนี้ เราจะมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่าคนหนุ่มสาวเป็นครั้งแรก โดย 1 ใน 5 ของประชากรโลกในปี 2050 จะเป็นผู้สูงวัย และนับว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้สูงอายุจะครองเมืองในทุกพื้นที่ของโลก
ประเด็นก็คือ… แม้จำนวนผู้สูงวัยสะสมจะเพิ่มสูงขึ้น แต่นิยามและไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก… ต่อไปนี้เป็นข้อมูลจากงานวิจัยที่สัมภาษณ์จากผู้สูงวัยยุค Disruption โดยตรง
เริ่มกันที่ทัศนคติว่าด้วยคำว่า “แก่” ก่อนเลย… เกณฑ์อายุที่ถือว่าแก่ จะไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ… ซึ่งการใช้อายุเป็นเกณฑ์ อาจจะทำให้ความเข้าใจต่อผู้สูงวัยคลาดเคลื่อน เป็นผลมาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่กำหนดอายุคนทำงานไว้ที่ 60 ปีคือแก่และต้องหยุดทำงาน… ชาวสเปนมองว่าผู้สูงวัยเริ่มต้นที่อายุ 70 ในขณะที่คนซาอุดิอาระเบียระบุว่า อายุ 49 ปีก็แก่แล้ว… และคนไทยในประเทศไทยมองว่า อายุ 60 ปีถือว่าเริ่มต้นเป็นผู้สูงวัย… ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 66 ปีถึงสิบเปอร์เซ็นต์
ประเด็นก็คือ… อย่าใช้อายุชี้วัดตัวตน แต่ให้ใช้ “ไลฟ์สไตล์” และ “ความต้องการที่แท้จริง” ซึ่งการกำหนดผู้สูงวัยจากตัวเลขอายุและภาพจำเดิมๆ ที่ว่า… ผู้สูงวัยไม่สนใจเทคโนโลยี ไม่ชอบเรียนรู้ และไม่ชอบสิ่งใหม่ๆ ถือว่าเข้าใจผู้สูงอายุผิดหมดทั้งโลกทีเดียว
ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ชัดว่า… ผู้สูงอายุใช้อินเทอร์เน็ตและเป็นนักช้อปออนไลน์ตัวยง แถมยังใช้เทคโนโลยีไม่น้อยไปกว่าคน Millennials
ข้อมูล Insights ของผู้สูงอายุวัย 65 ปีในประเทศฝรั่งเศสชี้ว่า มีผู้สูงอายุถึง 70% ชอบลองอะไรใหม่ และมี 60% รู้สึกว่าตัวเองเด็กกว่าอายุ ซึ่งการรู้สึกว่าตัวเองเด็กกว่าอายุจริง เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุทั่วโลก รวมทั้งไทย
ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ… ผู้สูงวัยมีอำนาจทางการเงิน และเป็นโอกาสใหม่ที่ต้องรีบ…อันเนื่องมาจากความต้องการของผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน ตลาดผู้สูงวัยได้เพิ่มความซับซ้อนละมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว…
ในประเทศอังกฤษเม็ดเงิน 320,000 ล้านปอนด์คิดเป็น 47% ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด มาจากกลุ่มผู้สูงอายุ… ในฝรั่งเศสผู้สูงวัยมีเงินที่เตรียมไว้ใช้ท่องเที่ยวถึง 22,000 ล้านยูโร… ส่วนในญี่ปุ่นเองผู้สูงอายุยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินถึง 1.439 พันล้านล้านเยน ซึ่งนับเป็น 80% ของตลาดการเงินการลงทุนทั้งหมด
ผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกา… เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ กลุ่มที่เรียกว่า Entrepreneurial Longevity มากขึ้นตามรายงาน… ซึ่งในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว มีผู้สูงวัยเริ่มต้นเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น 23% ในปี 2012 และการใช้จ่ายของผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา ใช้จ่ายไปกับการศึกษามากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าคนสูงวัย ยังคงต้องการเรียนรู้เสมอ
ส่วนไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้สูงวัยชาวไทยที่น่าสนใจจากการสำรวจวิจัยพบว่า
- 56% ออกกำลังกายทั้งในสวนสาธารณะและฟิตเนสเซ็นเตอร์
- 49% เดินทางท่องเที่ยว
- 34% เพาะปลูก
- 27% เยี่ยมญาติและมิตรสหาย (การเดินทาง)
- 22% ร่วมกิจกรรมในชุมชน
- 20% ช้อปปิ้ง
- 12% เรียนรู้สิ่งใหม่
- 10% เป็นอาสาสมัคร
- 7% ใช้ Social Media
- 7% เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ
- 5% เลี้ยงสัตว์
- 5% เรียนคอร์สออนไลน์
ส่วนความต้องการผู้สูงวัยไทย… ได้แก่
- 41% ต้องการความสงบ
- 31% ต้องการใช้เวลาไปกับงานอดิเรกและพักผ่อน
- 30% ต้องการใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัว
- 24% ต้องการหาประสบการณ์ใหม่ๆ
- 24% ต้องการใช้เวลาท่องเที่ยว
- 22% ต้องการดูแลบ้านและทำสวน
- 20% ต้องการใช้ชีวิตแบบ Slow life
- 16% ต้องการมีความมั่นคงทางการเงิน
- 15% ต้องการลดความกดดันในชีวิต
- 15% อยากมีความจำดี
- 14% ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น
- 11% อยากมีเวลามากขึ้นกับชุมชนท้องถิ่น
และความต้องการของผู้สูงอายุทั่วโลก… ได้แก่
- 36% ต้องการใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัว
- 32% ต้องการเวลาทำงานอดิเรก
- 26% ต้องการท่องเที่ยวหรือพักผ่อน
- 26% ต้องการเลิกทำงาน
- 20% ต้องการมีความมั่นคงทางการเงิน
- 20% ใช้ชีวิตแบบ Slow life
- 17% ต้องการลดความกดดันในชีวิต
- 14% ต้องการฉลาดขึ้น
- 13% ต้องการความสงบในชีวิต
- 11% มีเวลาดูแลบ้านและทำสวน
ประเด็นเรื่องวิตกกังวลมากสุด… สิ่งที่ผู้สูงอายุทั่วโลกวิตกกังวลมากที่สุด คือ เรื่องเงินและสุขภาพ และสิ่งที่ผู้สูงอายุชาวไทยมีความกังวลใจซึ่งก็มีความใกล้เคียงกัน… สามารถแยกรายละเอียดได้ว่า…
- 30% กลัวมีเงินไม่พอต่อการดำรงชีวิต
- 25% กลัวมีปัญหาการเคลื่อนไหวทางร่างกาย
- 24% กลัวสูญเสียความทรงจำ
- 22% กลัวจะไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้
- 20% กลัวการจากไปของคนในครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูง
- 20% กลัวความเจ็บป่วย
- 19% กลัวถูกทิ้งให้เหงา เศร้า
- 18% กลัวไม่มีอิสระ
- 16% กลัวตาย
- 13% กลัวหูตึงและมองไม่เห็น
ที่จริงข้อมูลจากงานวิจัยมีค่อนข้างละเอียด แต่ผมคัดมาหยาบๆ เพียงไม่กี่ประเด็นพอให้เห็นว่า… ภาพเกี่ยวกับผู้สูงอายุนับจากนี้จะเปลี่ยนไปมากกว่าแต่ก่อน… โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เข้ามาเติมช่องว่าง และทำลายข้อจำกัดและความกังวลของคนแก่อีกมาก… ซึ่งผมคิดว่า น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรที่ความเชื่อเดิมๆ จะใช้ไม่ได้อีก
ส่วนอีกด้านหนึ่ง… เราน่าจะมี GAP สำหรับค้นหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ท้าทายอยู่มากทีเดียวครับ
อ้างอิง
- https://www.ipsos.com/sites/default/files/ct/news/documents/2019-02/thinks_theperennials.pdf