จากงานวิจัยทางการศึกษาในหัวข้อ Situated Cognition and the Culture of Learning ของ John Seely Brown… Paul Duguid และ Allan Collins ซึ่งวิพากษ์องค์ความรู้และแนวปฏิบัติทางการศึกษา ด้วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบบริบทการจัดการเรียนรู้ผ่านแนวคิดหลากหลาย ทั้งแนวคิดเชิงสังคมวิทยา หรือ Sociology… แนวคิดเชิงจิตวิทยา หรือ Psychology… แนวคิดอิงวิทยาการพุทธิปัญญา หรือ Cognitive Science และ แนวคิดเชิงมานุษยวิทยา หรือ Anthropology… นักวิจัยทั้งสามไม่เห็นด้วยกับวิธีจัดการเรียนการสอนที่พบเห็นทั่วไปในโรงเรียน ซึ่งเห็นการแยกส่วนองค์ความรู้ และ จำกัดรูปแบบเนื้อหาการเรียนโดยข้าม “บริบท หรือ Context” ทั้งในขั้นการเรียนรู้ และ ขั้นการนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้งาน
ปัญหาเรื่องหลักสูตรการศึกษา และ เนื้อหาบทเรียนที่ออกแบบเป็น “เส้นทางการเรียน หรือ Learning Journey” ที่ออกแบบเฉพาะรายวิชากับวัตถุประสงค์ย่อย โดยไม่สอดคล้องกับ “บริบทในชีวิตจริง หรือ Real Life Context” ซึ่งคนทุกวัย ต่างเรียนรู้ฝึกฝนก็เพื่อเอาความรู้ที่มี กับ ทักษะที่พัฒนาไว้… ไปใช้ในชีวิตจริง ตั้งแต่การแก้ปัญหาเล็กน้อยทั่วไป จนถึงใช้ประกอบอาชีพ รวมทั้งต่อเติมองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่อีกด้วย
ความจริง… นักทฤษฎีทางการศึกษาอย่าง Jean Lave… Lev Vygotsky… John Dewey และ Étienne Wenger ต่างก็เสนอแนวคิดที่เชื่อมั่นต่อแนวทางการศึกษาแบบ “Knowing and Doing หรือ รู้ให้ดีและทำให้ได้” ซึ่งนักการศึกษาเหล่านี้ได้เสนอแนวทางมากมายเพื่อการถ่ายทอดความรู้ “ให้สอดคล้องต่อสภาวการณ์ที่ความรู้ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ รวมทั้งสภาพการณ์ที่ความรู้ถูกท้าทายให้ต้องเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนเห็นประโยชน์จนมีความพยายามที่จะมีความรู้ และหรือ มีทักษะสำหรับบริบทที่จะใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์”
แนวทางหลักในทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Situated Learning จึงหาทางเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้และทักษะ กับบริบทและสภาวการณ์ที่แท้จริงของผู้เรียน
ประเด็นก็คือ… ข้อชี้แนะเรื่อง Situated Learning หรือ การเรียนรู้ตามสภาพการณ์ ซึ่งมองผ่าน “ประสบการณ์ของผู้เรียน” ที่ควรมีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝนตนเอง ด้วยความอยากรู้อยากเห็นอันท้าทายตนเอง โดยมีครูอาจารย์เป็นเหมือนโค้ชผู้มีเครื่องมือและข้อมูลสนับสนุนให้ผู้เรียน… ได้เข้าถึง “ผู้เชี่ยวชาญ หรือ Expert” ซึ่งเป็นผู้เข้าใจถึงขั้นใช้องค์ความรู้นั้นในบริบทการใช้จริง… เป็นผู้ให้ความรู้ และ นำฝึกทักษะที่ต้องรู้และต้องมีโดยตรง
ปัญหาก็คือ… หลักสูตรการศึกษาที่เรียนกันอยู่และสอนกันมาแต่ก่อน จะเป็นการเรียนหนังสือ หรือ เรียนจากหนังสือ หรือ Lessons From Books อันเนื่องมาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือ ครูภูมิปัญญาตัวจริงซึ่งมีอยู่น้อย… ในขณะที่ข้อเท็จจริงของการ “สำเนาองค์ความรู้ใส่หนังสือแจกจ่าย” ก็ไม่ได้ตอบสนองการสื่อสารตรงระหว่างผู้เรียนกับผู้รู้ หรือ ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ทำให้องค์ความรู้ที่ผู้เรียนได้รับ ขาดความครบถ้วนขององค์ความรู้ระดับภูมิปัญญา และ ประสบการณ์ที่แท้… เหลือไว้มากสุดเพียง “สาร หรือ Message” ที่บอกเล่าเกี่ยวกับองค์ความรู้และภูมิปัญญาโดยมักจะขาดหายส่วนที่สร้างประสบการณ์บนบริบทที่แท้จริงไป
ข่าวดีก็คือ… ในบริบทของการจัดการศึกษายุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต และ เครือข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงตั้งแต่ 5G ขึ้นไป… สามารถใช้เป็นพื้นฐานและช่องทางการสื่อสารทางการศึกษา และ เปิดโอกาสให้ “การถ่ายทอดประสบการณ์” เกิดขึ้นได้จริง รวมทั้งเกิดขึ้นได้ภายใต้คำแนะนำใกล้ชิดของผู้เชี่ยวชาญโดยตรง… ซึ่งจะทำให้โอกาสทางการศึกษาไม่เป็นระบบนิเวศที่มีเพียง “ครู นักเรียน กับ ตำรา” เพียงเท่านั้นก็จบๆ กันไป
ข่าวร้ายก็คือ… ข้อมูลในมือผมขณะนี้ที่ว่าด้วย “การทำแพลตฟอร์มทางการศึกษา” ซึ่งถูกวางโครงสร้างให้เทคโนโลยีทางการศึกษา ช่วยให้ระบบนิเวศที่มีเพียง “ครู นักเรียน กับ ตำรา” เกิดขึ้นในโลกออนไลน์เท่านั้น…
ที่จะบอกก็คือ… การพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษายุคดิจิทัล ซึ่งเริ่มต้นกันที่ eLearning และ EdTech หรือ Education Technology ควรคิดไกลกว่าการเปลี่ยนจากสอนหน้าชั้นมาสอนหน้ากล้อง และ เปลี่ยนจากการประเมินความรู้แบบสอบในห้อง มาเก็บคะแนนผ่านการมอบหมายงานเพียงเท่านั้น… เพราะความรู้ที่แท้จริงเกิดจากประสบการณ์ที่แท้จริง จากที่ๆ องค์ความรู้ถูกใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
สุดท้าย… บทความนี้อ้างอิงทฤษฎีทางการศึกษาโดยไม่มีเจตนาลบหลู่หรือบิดเบือนหลักการและแนวคิดใดๆ เพียงแต่ทฤษฎีทางการศึกษาที่ยกมาอ้างอิงมีแนวทางให้ทำลายข้อจำกัดที่ผมเชื่อว่า EdTech สามารถสร้างคนได้มากกว่าความรู้ และ เทคโนโลยีสามารถสร้างและเชื่อมโยง “ผู้รู้ หรือ Experts” ถึงผู้เรียนในขั้นส่งเสริมประสบการณ์ได้… ครับ!
References…