การพิมพ์สามมิติแบบ Selective Laser Sintering หรือ SLS เป็นหนึ่งในการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ หรือ Additive Manufacturing หรือ AM ซึ่งจะใช้แสงเลเซอร์ในการเผาผนึกผงพลาสติกให้เป็นก้อนแข็งตามรูปแบบไฟล์สามมิติที่เขียนขึ้นมา…
SLS เป็นเทคนิคการขึ้นรูปวัสดุที่วิศวกรนิยมใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มานานนับสิบปีแล้ว เพราะเป็นขั้นตอนการขึ้นรูปวัสดุที่มีต้นทุนที่ต่ำ รวดเร็ว ผลิตได้มาก และ ยังสามารถใช้ผลิตต้นแบบชิ้นงานที่ใช้งานได้จริง ไปจนถึงการผลิตจำนวนน้อยๆ หรือ ผลิตสินค้าในช่วงรอยต่อก่อนการผลิตจำนวนมากได้ด้วย… เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติแบบ Selective Laser Sintering จึงถูกประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรมในฐานะขั้นตอนการเตรียมชิ้นส่วน และ ชิ้นงานต้นแบบ ตั้งแต่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ทั้งเครื่องมือแพทย์ และ อวัยวะเทียมไปจนถึงชิ้นส่วน และ เครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศ
ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ… การพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติแบบ Selective Laser Sintering มาผลิตสินค้าสำเร็จรูปในอุสาหกรรมแฟชั่น ทั้งรองเท้า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มทุกชนิด ทั้งสินค้าแฟชั่นแบบธรรมดา เหมือนที่ผลิตผ่านอุตสาหกรรมสิ่งทอแบบดั้งเดิม และ สินค้าแแฟชั่นอัจฉริยะที่เป็นมากกว่าเครื่องนุ่งห่ม หรือ ของใช้สำหรับประดับ และ ปกปิดร่างกาย ซึ่งถูกผลิตขึ้นให้มีฟังก์ชั่นการใช้สอยในฐานะอุปกรณ์ หรือ Devices ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นไปพร้อมๆ กับการเป็นเครื่องนุ่งห่ม และ แฟชั่น
งานตีพิมพ์ของ Shuangqing Wu และคณะ เรื่อง 3D Printing Technology for Smart Clothing: A Topic Review ได้รวบรวมแนวคิด กรณีศึกษา และ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และ แฟชั่นที่เกิดจากเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะการยกกรณีการวิจัย และ การประยุกต์ใช้การพิมพ์ 3 มิติ กับสินค้าแฟชั่นของแบรนด์ชุดกีฬาอย่าง Nike ซึ่งทำรองเท้าวิ่งให้กับ Allyson Felix โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ ทำให้การผลิตรองเท้าที่เคยใช้เวลาสามเดือน ลดลงเหลือไม่กี่ชั่วโมง และ ยังได้รองเท้าเฉพาะสำหรับเท้าของคนใส่อย่างแม่นยำยิ่งกว่าการสั่งตัดรองเท้าแบบดั้งเดิม… ด้านแบรนด์ Under Armour ได้เปิดตัว Sneaker ในซีรีย์ ArchiTech Futurist ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติออกวางตลาด… ส่วน Adidas ก็ไม่พลาดที่จะเปิดตัวรองเท้าจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติในซีรีย์ 3D Runner Pump… ในขณะเดียวกันก็มีรองเท้าจากเครื่องพิมพ์สามมิติของ Reebok อย่าง Reebok Liquid Speed ออกวางตลาดแบบจำกัดจำนวนด้วย
บนเวทีแฟชั่นโชว์ และ Catwalk ก็พบงานของ Iris van Herpen ซึ่งออกแบบแฟชั่น และ ชิ้นงานตกแต่งเสื้อผ้าจากเครื่องพิมพ์สามมิติมาแสดงบนเวทีแฟชั่นโชว์ในหลายฤดูกาล… ส่วน Marketplace บน Shapeways.com ยังมีบริการ 3D Printing On Demand สำหรับผลิตเครื่องประดับ และ จิวเวลรี่สารพัดดีไซน์ที่ลูกค้าสามารถปรับแต่งได้เองอีกด้วย
ในมิติทางเทคโนโลยี… สินค้าแฟชั่นที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิตินอกจากจะใช้เทคนิคการพิมพ์สามมิติแบบ Selective Laser Sintering หรือ SLS แล้ว… รายงานจากการทบทวนเอกสารของ Shuangqing Wu และคณะ ยังพบการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติแบบ Fused Deposition Modeling หรือ FDM ที่สามารถพิมพ์เส้นใยเรียงชั้นเหมือนเนื้อผ้าได้ด้วย
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… Clothing on Demand ซึ่งถูกพูดถึงในวงการ Fashion Technology หรือ FashionTech กำลังถูกยืนยันว่าเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ เครื่องนุ่งห่ม ที่จะเข้ามาทำลายเครื่องจักรทอผ้าที่พัฒนาใช้มานานตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19… ซึ่งภาพการเลือกซื้อเสื้อผ้าจากราวแขวนในร้าน และ บริการลองสวมก่อนซื้อจะค่อยๆ หายไป และ อาจจะเปลี่ยนเป็นตู้ขายเสื้อผ้าเครื่องประดับแบบ Clothing on Demand ทั้งผลิตในที่ และ ผลิตจากโรงงานส่งถึงบ้านใน 24 ชั่วโมงก็ได้
ข้อมูลคร่าวๆ ก่อนน๊ะครับ… รายละเอียดค่อยเจาะลึกการประยุกต์รายผลิตภัณฑ์ในโอกาสหน้า!
References…